กรุงเทพฯ-ปริมณฑลระบาดหนัก เล็งดึง 'หมอใช้ทุน-พยาบาลต่างจังหวัด' ช่วยผู้ป่วยสีแดง

กรุงเทพฯ-ปริมณฑลระบาดหนัก เล็งดึง 'หมอใช้ทุน-พยาบาลต่างจังหวัด' ช่วยผู้ป่วยสีแดง

อธิบดีกรมการแพทย์ เผยแนวการบริหารเตียง เล็งสีเขียวลดวันรักษาจาก 14 วันเป็น 10 วัน ขณะที่สีแดง ดึง "หมอใช้ทุน-พยาบาลต่างจังหวัด" ช่วย หลังกรุงเทพฯ-ปริมณฑลระบาดหนัก

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียง รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า ปัจจุบันจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิดสีแดงของภาครัฐเหลือ 23 เตียง ถ้าแนวโน้มผู้ป่วยยังคงเป็นแบบนี้ต้องบอกว่าสถานการณ์ค่อนข้างหนัก

ซึ่งตอนนี้พยามปรับตามสถานการณ์ โดยการแก้ไขวิธีการทำงานหลายๆ อย่าง ทั้งการพยามปรับให้จำนวนเตียงผู้ป่วยในระดับสีเขียง สีเหลืองเพิ่มขึ้น และก็มีการวางแนวทางการรักษาใหม่ที่ไม่ได้ปรับเฉพาะเรื่องของยา อาจจะปรับระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล

"เดิมอยู่รักษาตัว 14 วันหลังพบเชื้อ ซึ่งอาจจะปรับเป็น 10 วัน หลังจากกลับบ้านให้แยกกักตัวอย่างเคร่งครัด เพราะ 4 วัน จะทำให้ได้เตียงเพิ่ม 40% ซึ่งมาตรการนี้จะใช้กับผู้ป่วยสีเขียวก่อน เนื่องจากผู้ป่วยสีเขียวรับเข้ามาได้เร็ว การดูแลได้มาตรฐาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกำลังหารือกันอยู่ และจะได้แนวทางใหม่ออกมาวันนี้ เพื่อเป็นการบริหารเตียงให้ดียิ่งขึ้น

การลดเวลาการรักษา จะใช้แก้ปัญหาเตียงสีเขียว เนื่องจากสถานการณ์ผู้ป่วยครองเตียงสีเขียวค่อนข้างตึงในส่วนของภาครัฐ ในส่วนของเอกชนมีเหลือพันกว่าเตียง ซึ่งตอนนี้เราเจอปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ติดปัญหาค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สามารถเข้ารักการรักษาจากเอกชน และส่วนใหญ่ปัญหาเหล่านี้เป็นสีเขียว ที่ควบคุมยากในตอนนี้คือแรงงานต่างด้าว ฉะนั้นเมื่อเกิดการติดเชื้อเราต้องการเอาเข้าสถานพยาบาลในเร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่เชื้อ" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

162450551610

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเตียงสีแดง มีการพูดคุยกันพอสมควร เดิมมีการเตรียมความพร้อมในโรงเรียนแพทย์บางแห่ง ซึ่งจะมีเพิ่มราว 40-50 เตียง แต่ต้องหาคนทำงานเพิ่ม ซึ่งอาจจะต้องมีการระดมแพทย์อายุรกรรมที่เรียนจบว่ายังไม่ต้องไปใช้ทุนต่างจังหวัด ให้มาช่วยด้านนี้ก่อน และระดมพยาบาล ICU ต่างจังหวัดให้มาช่วยโรงเรียนแพทย์ที่เตรียมไว้

ในส่วนความกังวลที่หลายคนคิดว่าอาจจะเกิดช่องว่างของการแพร่เชื้อระหว่างรอเตียง นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีศูนย์นิมิบุตรเป็นศูนย์แรกรับและส่งต่อ ซึ่งถ้าผู้ติดเชื้อท่านใดที่ปัญหา ติดต่ออะไรไม่ได้ให้ไปที่ศูนย์แรกรับนิมิบุตร ซึ่งจะมีเตียงสำรอง 200 เตียง ให้นอนชั่วคราวรอเตียง ซึ่งศูนย์นิมิบุตรมีผู้ป่วยครองเตียงอยู่ 160 เตียง ซึ่งยังเหลือจำนวนหนึ่ง

"ปัจจุบันมีผู้ป่วยรอเตียงหลักร้อย สูงสุดอาจจะถึง 200-300 ราย ยังไม่มากว่านี้ ข้อมูลที่เฉพาะที่โทร. 1668 ที่กรมการแพทย์ดูแลอยู่" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์การระบาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล นพ.สมศักดิ์ ยอมรับว่า ค่อนข้างหนัก ทำให้บางโรงพยาบาลงดตรวจเชื้อ ซึ่งตอนนี้ กทม. ตั้งจุดตรวจคัดกรองวันละ 10 จุดทั่วกรุงเทพฯ ที่ประชาชนสามารถตรวจได้ และในส่วนของโรงงานให้ตรวจคัดกรองกับแล็บที่ได้มาตรฐาน ส่วนเรื่องเตียงเราจะบริหารจัดการให้