'จุรินทร์' แจงรัฐสภา เหตุ 'ตัดอำนาจส.ว.'โหวตนายกฯ ไม่ใช่กีดกัน ให้เป็น 'นายกรัฐมนตรี' ต่อ

'จุรินทร์' แจงรัฐสภา เหตุ 'ตัดอำนาจส.ว.'โหวตนายกฯ ไม่ใช่กีดกัน ให้เป็น 'นายกรัฐมนตรี' ต่อ

"จุรินทร์" ประกาศตัดอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ ไม่ใช่กีดกัน "ใคร" เป็นนายกฯ ต่อ ย้ำหวังเพื่อตัดความขัดแย้งทางการเมือง

       ผู้สื่อข่าวรายงานถึงที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาเรื่องด่วน การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รวม 13 ฉบับ ซึ่งเสนอโดย 4 กลุ่มการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ เสนอโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมคณะ จำนวน 1 ฉบับ,กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมคณะ จำนวน 4 ฉบับ, พรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จำนวน 2 ฉบับ และ กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะ จำนวน 6 ฉบับ 
       โดยนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ชี้แจงญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทยจำนวน 3ฉบับ ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคภูมิใจไทยเสนอประกอบด้วย1.เพิ่มมาตรา 55/1 การเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนมักได้สิทธิเสรีภาพในลักษณะที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม จึงเสนอแก้ไขมาตรา55 ให้รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง โดยประชาชนไม่ต้องเรียกร้อง ให้เป็นหน้าที่รัฐจัดให้ประชาชนมีรายได้ถ้วนหน้า ขณะนี้ประชาชนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ2,763บาทต่อคนต่อเดือน แม้จะแจกบัตรคนจน แต่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันความมั่นคงในระยะยาว เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ พรรคภูมิใจไทยเห็นว่า การให้เงินสดแก่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน  น่าจะแก้ปัญหาความยากจนได้แท้จริง  ส่วนอีกร่างที่เสนอแก้ไขคือ มาตรา65 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ 20ปี เห็นว่า ไม่เหมาะสม ควรแก้ไขเป็นปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติตามความจำเป็นให้สอดคล้องสถานการณ์ วันนี้เราอยู่ในยุคความผันผวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การกำหนด 20ปี เนิ่นนานไป และร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่สาม เสนอเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์คือ การยกเลิก มาตรา 272  การให้อำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี

       ขณะที่นายจุรินทร์ ชี้แจงหลักการของญัตติ ตอนหนึ่งถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขอแก้ไขกลุ่มมาตราว่าด้วยระบบเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพเลือกผู้แทนและพรรคการเมืองที่ชอบ  เพราะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแยกเลือกคนและพรรคการเมือง ไม่ถูกบังคับเหมือนระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว อีกทั้งทำให้ประชาธิปไตยในรัฐสภาเข้มแข็ง เพราะพรรคการเมืองเข้มแข็ง การเมืองมีเสถียรภาพ คะแนนไม่เป็นเบี้ยหัวแตก ส่วน การแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มองว่า วุฒิสภาจำเป็นและประเทศไทยควรเป็นระบบรัฐสภาแบบสองสภา แต่เมื่อส.ว.ไม่มาจากการเลือกตั้งควรมีอำนาจจำกัด เฉพาะกลั่นกรองกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ควรมีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน  คือ ส.ส.
       “การแก้ไขมาตร 272 คือ การย่นระยะเวลา 5 ปีที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้สั้นลงเท่านั้นเพื่อกลับเข้าสู่หลักประชาธิปไตยให้เร็วขึ้น ไม่มีผลกีดกันบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปในอนาคต เพราะหากบุคคลนั้นประสงค์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป สามารถนำชื่อไปใส่ในบัญชีที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือลงเลือกตั้ง ก็ได้ และหลังเลือกตั้งบุคคลนั้นสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ย่อมมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเดียวกัน นอกจากนั้นการปลดล็อคมาตรา 272 จะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองและให้การเมืองมีเสถียรภาพแก้ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบันได้ราบรื่น” นายจุรินทร์ ชี้แจง

       นายจุรินทร์ ชี้แจงด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีมติสนับสนุนญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 ฉบับเพราะมีหลักการที่ใกล้เคียงกัน ส่วนร่างของพรรคพลังประชารัฐที่มีปัญหาต่อมาตรา 144 และมาตรา 185 สามารถ แปรญัตติแก้ไขให้เหมาะสมในวาระสอง ทั้งนี้การลงมติสนับสนุนไม่ใช่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แต่คือการแสวงหาความร่วมมือที่ไม่ขัดจุดยืนเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรลุผลสำเร็จ เพราะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน รวมถึงใช้เสียง 20% ของฝ่ายค้านและเสียง ส.ว. 1 ใน 3 สนับสนุนด้วย.