กลยุทธ์'มิกซ์แอนด์แมทช์'ฉีดวัคซีนต่างชนิดป้องโควิด

กลยุทธ์'มิกซ์แอนด์แมทช์'ฉีดวัคซีนต่างชนิดป้องโควิด

กลยุทธ์'มิกซ์แอนด์แมทช์'ฉีดวัคซีนต่างชนิดป้องโควิด โดยใช้วัคซีนต่างยี่ห้อระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 รวมไปถึงเข็ม 3 ที่ตอนนี้หลายประเทศกำลังศึกษาประสิทธิภาพของการสลับวัคซีน

ท่ามกลางสถานการณ์ขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผสมโรงกับข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย ทำให้โครงการฉีดวัคซีนหลายประเทศล่าช้า จนต้องพิจารณากลยุทธ์ “มิกซ์แอนด์แมทช์” ใช้วัคซีนต่างยี่ห้อระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 รวมไปถึงเข็ม 3 ที่ตอนนี้หลายประเทศกำลังศึกษาประสิทธิภาพของการสลับวัคซีน

สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมประเทศที่กำลังพิจารณาหรือตัดสินใจใช้วิธีมิกซ์แอนด์แมทช์ไปแล้ว เช่น

บาห์เรน

บาห์เรนประกาศเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติต้องฉีดวัคซีนไม่ว่าฉีดวัคซีนตัวใดไปแล้วสามารถฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค หรือซิโนฟาร์มได้

แคนาดา

คณะกรรมการที่ปรึกษาการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติแคนาดา แถลงเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ว่า คนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก เข็มที่ 2 ควรฉีดตัวอื่น ไม่กี่วันก่อนหน้านั้นคณะกรรมการชุดนี้เคยแนะนำว่า คนที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก อาจเลือกฉีดวัคซีนตัวอื่นเป็นเข็มสองก็ได้

ทั้งนี้ แคนาดาเปิดให้ใช้วัคซีนต่างชนิดเพราะความกังวลเรื่องลิ่มเลือดอุดตันเกี่ยวข้องกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า

อิตาลี

สำนักงานยาอิตาลี (เอไอเอฟเอ) ประกาศเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ว่า ประชาชนอายุต่ำกว่า 60 ปีที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือที่รู้จักกันในนาม Vaxzevria เป็นเข็มแรก สามารถฉีดวัคซีนตัวอื่นเป็นเข็มที่ 2 ได้

รัสเซีย

กองทุนความมั่งคั่งแห่งรัฐ (อาร์ดีไอเอฟ) ประกาศเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ว่า รัสเซียอาจเริ่มทดลองใช้วัคซีนสปุตนิกวีสลับกับวัคซีนจีนหลายตัวที่ใช้ในประเทศอาหรับ หลังจากเคยทดลองทางคลินิกใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าร่วมกับสปุตนิกวีมาแล้ว ไม่เกิดผลข้างเคียงในทางลบ

เกาหลีใต้

เกาหลีใต้ประกาศเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ว่า ประชาชนราว 760,000 คน ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก จะได้รับไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 เนื่องจากการส่งมอบวัคซีนตามโครงการโคแวกซ์ล่าช้า

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากโคแวกซ์ราว 835,000 โดสมีกำหนดมาถึงเกาหลีใต้ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. ซึ่งเกาหลีใต้วางแผนใช้เป็นวัคซีนหลักฉีดเข็มที่ 2 ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรด่านหน้าราว 760,000 คน ที่ฉีดเข็มแรกไปเมื่อเดือน เม.ย.

แต่การขนส่งล่าช้าไปถึงเดือน ก.ค.หรือช้ากว่านั้น ขณะเดียวกันวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีก็ร่อยหรอ เพราะประชาชนออกมาฉีดวัคซีนกันมากเกินคาด ทำให้เกาหลีใต้บรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนครึ่งแรกได้ก่อนกำหนด

สเปน

แคโรไลนา ดาริแอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแถลงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ว่า สเปนจะอนุญาตให้คนอายุต่ำกว่า 60 ปีที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก จะฉีดเข็มสองเป็นวัคซีนตัวเดิมหรือไฟเซอร์ก็ได้

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งในสเปนชี้ว่า การฉีดไฟเซอร์ให้กับคนที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ใช้วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค เป็นตัวกระตุ้นสำหรับคนที่ฉีดซิโนฟาร์มไปก่อน

ตัวแทนของ “มูบาดาลา เฮลธ์” ส่วนหนึ่งของกองทุนแห่งรัฐมูบาดาลา กล่าวว่า ประชาชนสามารถรับวัคซีนกระตุ้นเป็นคนละตัวกับที่ฉีดไปก่อนหน้าได้แล้วแต่จะตัดสินใจ แต่ไม่ใช่คำแนะนำของแพทย์

สำหรับยูเออีและบาห์เรนเริ่มต้นฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับพลเมืองและผู้มีถิ่นพำนัก แต่ต่อมาเปลี่ยนมาใช้วัคซีนตัวอื่น

ยูเออีใช้ซิโนฟาร์มฉีดให้ประชาชนทั่วไปในเดือน ธ.ค.63 แล้วเริ่มใช้ไฟเซอร์/ไบออนเทคในเดือน เม.ย. และเพิ่งเปิดให้ฉีดซิโนฟาร์มเข็ม 3 ตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นอย่างน้อย หลังพบว่าบางคนฉีดซิโนฟาร์มไปแล้วไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ

ในกรุงอาบีดาบู ตัวแทนมูบาดาลาเฮลธ์เผยว่า วัคซีนกระตุ้นจะมีให้ภายใน 6 เดือน หลังฉีดเข็มที่ 2 แล้ว

สหราชอาณาจักร

โนวาแวกซ์ แถลงเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ว่าจะร่วมทดลอง “มิกซ์แอนด์แมทช์” วัคซีน เริ่มต้นในสหราชอาณาจักร (ยูเค) เดือนมิ.ย.นี้ เพื่อทดสอบการใช้วัคซีนผลิตจากต่างบริษัทฉีดเป็นตัวกระตุ้น

สหรัฐ

สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นไอเอช) ประกาศเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ว่า เริ่มทดลองทางคลินิกกับผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว เพื่อประเมินความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อใช้วัคซีนที่แตกต่างออกไปฉีดเป็นตัวกระตุ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่พบครั้งแรกในอินเดีย มีส่วนทำให้นานาประเทศต้องคิดถึงการใช้วัคซีนต่างชนิดเพื่อเร่งฉีดให้ประชาชน ก่อนที่สายพันธุ์เดลต้าจะระบาดมากขึ้นไปอีก

ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริการโครงการสุขภาพฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) แถลงเมื่อวันจันทร์ (21 มิ.ย.) ตามเวลาเจนีวาว่า สายพันธุ์เดลต้ามีโอกาส “ท่ี่จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตมากขึ้นเพราะติดต่อระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า จึงค่อยๆ ติดประชากรกลุ่มเสี่ยงทำให้ป่วยหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาล และอาจเสียชีวิตได้”

ไรอันกล่าวด้วยว่า ผู้นำโลกและหน่วยงานสาธารณสุขสามารถช่วยป้องกันประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดได้ด้วยการบริจาคและกระจายวัคซีน

พอล ออฟฟิต ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาวัคซีน โรงพยาบาลเด็กฟิลาเดลเฟีย ให้สัมภาษณ์ล่าสุด ระบุ สายพันธุ์เดลต้าตอนนี้มาแทนที่สายพันธุ์อัลฟ่าที่เคยระบาดหนักทั่วยุโรปและสหรัฐไปแล้ว

ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า เดลต้าติดเชื้อได้ง่ายกว่าอัลฟ่าราว 60% ซึ่งอัลฟ่าก็ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนเมื่อปลายปี 2562

“เราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเดี๋ยวนี้ ฉีดวัคซีนให้ทุกคนเดี๋ยวนี้”ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐยืนยัน

มาเรีย แวน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคโควิดของดับเบิลยูเอชโอ แถลงในเวทีเดียวกับไรอันว่า ขณะนี้โควิดสายพันธุ์เดลต้ากระจายไป 92 ประเทศ ข้อมูลจากศุนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) ระบุว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกรายในสหรัฐติดสายพันธุ์เดลต้าอย่างน้อย 10% และกำลังจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศ

ในยูเคเมื่อเร็วๆ นี้สายพันธุ์เดลค้าก็กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักแทนสายพันธุ์ดั้งเดิมไปแล้ว ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของยูเคติดสายพันธุ์เดลต้ากว่า 60%

ดับเบิลยูเอชโอกล่าวว่า มีรายงานหลายชิ้นระบุว่าสายพันธุ์เดลต้าเป็นเหตุให้มีอาการรุนแรงด้วย แต่จำเป็นต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อสรุปดังกล่าว กระนั้น มีหลายสัญญาณบ่งบอกว่า สายพันธุ์เดลต้าทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกันกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

ดับเบิลยูเอชโอกล่าวด้วยว่า ไม่มีสายพันธุ์ใดที่ทำให้ทั้งติดง่ายและเสียชีวิตสูง แต่เดลต้า “มีความสามารถ เร็ว และพร้อมที่สุดในบรรดาไวรัสเหล่านั้น” ไรอันกล่าวและว่า ยิ่งคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น