ขึ้นทะเบียน 4 สายพันธุ์ 'กัญชาไทย' ชิงตลาด 2.1 หมื่นล้าน

ขึ้นทะเบียน 4 สายพันธุ์ 'กัญชาไทย' ชิงตลาด 2.1 หมื่นล้าน

หลังจากที่ปรเทศไทย มีการปลดล็อค 'กัญชา' โดยอนุญาตให้ใช้ 'กัญชาทางการแพทย' แล้ว ยังส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนที่ต้องการ 'ปลูกกัญชา' ร่วมกับภาครัฐในการปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ พร้อมพัฒนา 'กัญชาสายพันธุ์ไทย' เตรียมขึ้นทะเบียน ส.ค. นี้

ภายใต้วิกฤติโควิด-19 แต่ในอีกมุมหนึ่งยังคงมีการขับเคลื่อน 'กัญชา' เพื่อใช้ทางการแพทย์และผลักดันสู่พืชเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ตลาด'กัญชา' ถูกกฎหมายมีมูลค่ากว่า 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5 แสนล้านบาท โตกว่า 17% โดย'กัญชา'ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพสร้างรายได้สูงกว่า 70% ของมูลค่าทั้งหมด 

รายงานของ The Global Cannabis Report โดย Prohibition Partners คาดการณ์ว่ามูลค่า'ตลาดกัญชา'ทั่วโลกในปี 2567 จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น 'ตลาดกัญชา'เพื่อการแพทย์ 60% และอีก 40% เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ

คาดการณ์ว่า 'ตลาดกัญชา' ประเทศไทยจะเติบโตเป็น 661 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมและผลักดันให้ 'กัญชา'และกัญชง เป็น Product Champion ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

  • ผลักดัน 'กัญชาเพื่อการแพทย์'

ในอดีตการใช้'กัญชา'ทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โดยตำรับยาดั้งเดิมที่มี'กัญชา'เป็นส่วนผสมมีกว่า 60 ตำรับ จนเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม โดยคำแนะนำของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสภาการแพทย์แผนไทย ได้เป็นตำรับยาอนุญาตภายใต้โครงการศึกษาวิจัยที่ได้รับ อนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งสิ้น 16 ตำรับ ส่วนใหญ่ใช้รักษาเรื่องลม การนอนหลับ แก้ปวด รับประทานอาหารได้ เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

  • 5 สูตร 'กัญชา' เจ้าพระยาอภัยภูเบศร

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะหน่วยงานที่ศึกษาเรื่อง'กัญชาทางการแพทย์' ได้รับอนุญาตให้ปลูก และผลิตยาจาก'กัญชา' ทั้งยาแผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ซึ่งมีตำรับยา ได้แก่ น้ำมัน'กัญชา'หยอดใต้ลิ้น น้ำมัน'กัญชา'หยอดใต้ลิ้น ศุขไสยาศน์ (แคปซูล) 'กัญชา' 76.92 มิลลิกรัม ในผงยา 500 มิลลิกรัม น้ำมัน'กัญชา'ทั้ง 5 (สูตรรับประทาน) อภัยภูเบศร 5 ml และ ยาน้ำมัน'กัญชา'หยอดใต้ลิ้น รวมถึงเปิด โครงการ มาชิมกัญ หรือ อาหารจากใบ'กัญชา'

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • น้ำมัน 'กัญชา' องค์การเภสัชกรรม

องค์การเภสัชกรรม มีการผลิต น้ำมันกัญชา ซึ่งถือเป็นยากัญชาตัวแรกที่ผ่านการผลิตภายใต้หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาและมีการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอน ซึ่งมีทั้งหมด 3 สูตร ได้แก่ สูตรที่มีสารทีเอชซี (THC) เด่น กล่องสีแดง ซึ่งอาจมีฤทธิ์มึนเมาและเสพติดได้ สูตรที่มีสารซีบีดี (CBD) เด่น กล่องสีเขียว มีฤทธิ์มึนเมาต่ำ สูตรที่มีอัตราส่วนสารซีบีดี และทีเอชซีเท่ากัน (THC : CBD 1:1) กล่องสีเหลือง เป็นกัญชาสายพันธุ์ผสม มีฤทธิ์มึนเมาปานกลาง

โดยสาร THC (Tetrahydrocannabinol) มีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน กระตุ้นให้อยากอาหารและช่วยลดอาการปวด ขณะที่สาร CBD (Cannabidiol) มีฤทธิ์ลดอาการบวมอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง ช่วยให้ผ่อนคลายและอาจยับยั้งเซลล์เนื้องอกหลายชนิดได้ (ในหลอดทดลอง)

  • คลินิก 'กัญชาทางการแพทย์'

ข้อมูลจากกองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ณ วันที่ 4 พ.ย. 63 พบว่า กัญชาการแพทย์เสรี ทำให้มี “คลินิกกัญชาการแพทย์” แผนปัจจุบัน ให้บริการทั้งสิ้น 339 แห่ง และแผนไทย 419 แห่งทั่วประเทศ โดยผลการรักษาดีขึ้นกว่า 74%

  • ข้อกำหนด การใช้สารสกัด 'กัญชา'

อย่างไรก็ตาม 'กัญชาทางการแพทย์' ยังมีข้อกำหนดสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับการรักษาด้วยสารสกัด 'กัญชา' ได้แก่ กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร มีประวัติแพ้สารสกัดกัญชา โรคหัวใจและหลอดเลือด​/โรคตับ/โรคไต​ ที่รุนแรง รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด โรคจิตเภท/โรคจิตจากสารเสพติด/โรคซึมเศร้า/โรคอารมณ์สองขั้ว และมีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตนเอง 

ปัจจุบันกฎหมายเปิดให้กลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร โดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อขออนุญาต 'ปลูกกัญชา' ได้ ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2564 มีวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับอนุญาต'ปลูกกัญชา' ในประเทศไทย ราว 116 แห่ง

  • เตรียมขึ้นทะเบียน 4 สายพันธุ์ 'กัญชาสายพันธุ์ไทย'

ล่าสุดวานนี้ (21 มิ.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐม นตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำกัญชา มาวิจัยพัฒนาทดลองปลูกในโรงเรือนให้ได้กัญชามีคุณภาพ และสารสำคัญที่สูงและจดทะเบียนรับรองสายพันธุ์ว่า 'กัญชาสายพันธุ์ไทย' มีคุณภาพดี ปัจจุบันมี 4 สายพันธุ์ ที่มีประโยชน์และคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปหากพัฒนาอย่างจริงจังจะสามารถต่อยอด ขยายการผลิตไปเป็นผลิตภันฑ์ได้จำนวนมาก

"การพัฒนา 'กัญชาสายพันธุ์ไทย' ของกรมวิทยฯ จะนำพันธุ์ที่ได้ไปขยายให้กับเครือข่ายวิจัยร่วมกัน ได้แก่ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สกลนคร เพื่อเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกร นำไปใช้ต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ พัฒนาส่งเสริมเกษตรกรให้มีศักยภาพในการพัฒนา 'กัญชาสายพันธุ์ไทย' แข่งขันในตลาดโลก ลดการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อขึ้นทะเบียนของ 'กัญชาสายพันธุ์ไทย' ทั้ง 4 พันธุ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ส.ค. นี้ เพื่อให้เกิดเป็นมรดกของชาติ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สร้างประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์” นายอนุทิน กล่าว

162428874114

 

  • ราก 'กัญชา' อาจช่วยรักษาเนื้อเยื่อปอด

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังมีการสกัด ราก'กัญชา' ซึ่งอาจจะพบว่ามีผลในการช่วยรักษาเนื้อเยื่อของปอด ตรงกับเวลาพอดี ผู้ที่ป่วยเป็นโควิด แม้หายโควิดแล้วก็อาจจะสูญเสียเนื้อเยื่อปอดที่ถูกทำลายไปขณะที่ติดเชื้อ ถ้าสามารถพัฒนาวิจัยศึกษาว่าส่วนใดของ'กัญชา'สามารถไปรักษาความเสียหายหรือฟื้นฟู ชิ้นส่วนหรืออวัยวะต่างๆของมนุษย์ได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์มหาศาลในวงการแพทย์ ย้ำให้กรมได้ทำการทดลองวิจัยตัวราก'กัญชา'ให้จริงจังและเร็วที่สุด

ทั้งนี้ 'กัญชา' น่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ช่วยประชาชนมีทางเลือกในการเสริมสร้างรายได้ ในช่วงเผชิญผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจชุมชนที่มีการ 'ปลูกกัญชา' ตอนนี้ ในส่วนของราก ใบ ลำต้น เอาไปทำรายได้ แต่ช่อดอกต้องเอาให้ทางราชการเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนจากการได้ปลูก เพื่อใช้ประโยชน์จากใบ ต้น ราก แต่ได้ให้แนวทางนโยบายกับสำนักงานคณะกรรมกามรอาหารและยา(อย.) และกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ในการหาวิธีที่สามารถมีผลตอบแทน อาจจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือสารสกัดเพื่อให้นำไปต่อยอดต่อไป จะทำให้เพิ่มช่องทางในการเสริมสร้างรายได้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ โดยดำเนินการตั้งแต่การปลูก การสกัด การวิเคราะห์และการวิจัย ซึ่งการวิจัยเพื่อจำแนกสายพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่ร่วมกับทีมวิจัยพัฒนา 4 สายพันธุ์ไทยดั้งเดิม ได้แก่ หางกระรอก หางเสือ ตะนาวศรีก้านขาว ตะนาวศรีก้านแดง โดยศึกษาทางพันธุศาสตร์ พันธุกรรมและด้านเคมีของกัญชาแต่ละพันธุ์ 

  • 4 อัตลักษณ์ 'กัญชาสายพันธุ์ไทย'     

จากการศึกษาพบว่า 'กัญชาสายพันธุ์ไทย' นั้น มีลักษณะเด่น 3 แบบ คือ แบบที่ 1 กัญชาที่ให้สารที่ให้สารทีเอชซี(THC) สูง ได้แก่ พันธุ์หางเสือสกลนครทีที1 พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1 แบบที่2 ให้สารทีเอชซีและซีบีดี(CBD)ในสัดส่วนที่เท่ากัน ได้แก่ พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1 และแบบที่ 3 ใหัสารซีบีดีสูง ได้แก่ พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 ทั้งนี้ กัญชาแต่ละสายพันธุ์ให้สารสำคัญในสัดส่วนที่ต่างกัน ก็จะมีการบ่งใช้เหมาะกับการักษาโรคที่ต่างกันด้วย ในขณะนี้ได้ทำการศึกษาเทคนิคการปลูกกัญชาให้มีคุณภาพดีและสารสำคัญสูงในโรงเรือนแบบกรีนเฮาส์และอยู่ระหว่างการจดททะเบียนรับรองสายพันธฺุ์เพื่อเป็นสายพันธุ์ไทยอ้างอิงของประเทศไทย

"กัญชาไทยแต่ละพันธุ์มีลักษณะของต้น ใบ ช่อดอกและกลิ่นต่างกัน นอกจากนี้ การถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง พบว่าทั้ง 4 สายพันธุ์ พบได้เฉพาะถิ่นเท่านั้นไม่ได้พบได้ทั่วไป จึงเป็นพันธุ์ที่หายาก ซึ่งกัญชาพันธุ์ไทยมีสารสำคัญในสัดส่วนที่ต่างกัน จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์ข้อบ่งชี้ของโรคที่ต่างกัน รวมถึงการได้สารสำคัญคงที่ในการปลูก ทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย” นพ.ศุภกิจกล่าว

ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังเดินหน้าผลักดันนโยบาย 'กัญชาทางการแพทย์' โดยเฉพาะ โครงการกัญชา 6 ต้น ที่ถือเป็นความหวังของประชาชนที่จะมีรายได้จากการปลูกกัญชา ด้วยต้นทุนที่ไม่แพง ซึ่งมีการเปิดโครงการกัญชา 6 ต้นแห่งแรกที่โนนมาลัย จ.บุรีรัมย์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พร้อมตั้งเป้าให้ประชาชนในพื้นที่กว่า 5,000 ครัวเรือน ได้ปลูกกัญชา 6 ต้นภายในปี 2564