'ซูซูกิ สวิฟท์' อีโคคาร์ อารมณ์สปอร์ต แรงได้ ประหยัดน่าพอใจ 

'ซูซูกิ สวิฟท์' อีโคคาร์ อารมณ์สปอร์ต  แรงได้ ประหยัดน่าพอใจ 

เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจในกลุ่มอีโค คาร์ สำหรับ "ซูซูกิ สวิฟท์" รถที่มีค่าตัวไม่แรง แต่ตอบสนองการใช้งานได้ดี

ซูซูกิ สวิฟท์ ทำตลาดในเมืองไทยเมื่อปี 2553 ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร นำเข้าจากอินโดนีเซีย ก่อนจะเริ่มต้นผลิตในไทยในเจเนอเรชัน พร้อมเข้าโครงการอีโค คาร์ ในปี 2555 ด้วยเครื่องยนต์  1.25 ลิตร ก่อนที่เจเนอเรชัน 3 จะเปิดตัวในปี 2561 และล่าสุดเป็นการปรับโฉมเพิ่มความสดใหม่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

สวิฟท์ เป็นรถที่ในกลุ่มอีโค คาร์ ที่ราคาไม่แรง ซึ่งเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจในยุคที่หลายคนหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อความปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่าย 

โดยซูซูกิ ก็ไม่ทำให้ต้องปวดหัวในการเลือกมากนัก เพราะมีแค่ 2 รุ่นย่อย คือ  GL ราคาเริ่มต้น 5.57 แสนบาท และ รุ่น GLX ราคาเริ่มต้น 6.29 แสนบาท

นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าตัวรถแล้ว ผมว่าจุดขายอีกอย่าง คือ ค่าใช้จ่ายในการใช้งานที่ไม่สูง เช่น เรื่องของค่าบำรุงรักษาตามระยะทาง ช่วง 1 หมื่น-1 แสน กม. ซึ่งก็เฉลี่ยประมาณ 4-5 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น แล้วแต่การใช้งานของแต่ละคน โดยซูซูกิ มีข้อมูลให้ลูกค้าว่าอยู่ที่ประมาณ 2.52 หมื่นบาท ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งหลายๆ รุ่นในตลาด 

ส่วนความประหยัดรายวัน ก็น่าสนใจ นั่นคือเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ผมว่าโดดเด่นเลยทีเดียว อย่างการลองขับ ซูซูกิ สวิฟท์ ของผมครั้งนี้ เบ็ดเสร็จรวมระยะทาง 540 กม. อัตราสิ้่นเปลืองอยู่ที่กว่า 20 กม./ลิตร ใกล้เคียงกับอัตราสิ้นเปลืองตามเงื่อนไขอีโค คาร์ เฟส 2 ที่ระบุว่า 4.3 ลิตร/ 100 กม. หรือประมาณ 23.3 กม./ลิตร 

162424737052

แต่นี่เป็นการใช้งานจริง ซึ่งมีการขับขี่หลายรูปแบบ ทั้งรถคล่องตัว รถติดในเมือง ติดตามสัญญาณไฟ การใช้ความเร็วที่ค่อนข้างสูง รวมถึงเส้นทางที่ต้องปีนไต่เนิน เพราะเส้นทางที่ผมลองขับ เริ่มจากกรุงเทพฯ ไปทางราชพฤกษ์ ออกสาย 9 เข้าพหลโยธิน มุ่งหน้าสระบุรี เข้ามิตรภาพ ปีนเนินแถวทับกวาง ไปปากช่อง กลับรถมาเข้าเส้นมวกเหล็ก-ธนรัชต์ ไปออกมิตรภาพอีกครั้ง กลับมา กทม.

เป็นการขับขี่ในรูปแบบปกติ (ของผม) ซึ่งมีการเรียกกำลังจากรถหลายครั้ง เพื่อเร่งแซง และทำความเร็ว ไม่ได้ขับแบบพยายามทำตัวเลขสวยๆ แต่อย่างใด ซึ่งทำให้ประหลาดใจไม่น้อยกับอัตราสิ้นเปลืองที่ได้มา

ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับแพลตฟอร์ม HEARTECT ที่เป็นเทคโนโลยีเฉพาะของซูซูกิ ที่มีน้ำหนักเบา และแน่นอนว่ามีผลโดยตรงกับความประหยัด 

แต่ซูซูกิ ยืนยันว่าการลดน้ำหนักรถ ไม่มีผลกับความแข็งแรงของรถ แต่กลับกันออกแบบให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป เช่น การลดส่วนโค้งงอเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ปรับตำแหน่งการวางเครื่องยนต์ หรือว่าเกียร์ เพื่อกระจายน้ำหนักให้เมาะสม รวมถึงออกแบบจุดเชื่อมต่อใหม่เพื่อให้ตัวถังมีความมั่นคงมากขึ้น 

 

 

 

สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนมาให้จับความรู้สึกได้ในการใช้งานครับ ง่ายๆ ก็เช่นการทรงตัวของรถ อารมณ์ในการขับขี่ควบคุม โดยเฉพาะเมื่อต้องขับในเส้นทางที่ต้องเปลี่ยนทิศทางไปมา มีแรงเหวี่ยง แรงจี เกิดขึ้น อย่างเส้นบนเขา

ซึ่งพบว่าการทรงตัวของ สวิฟท์ ทำได้ดี การโยนตัวให้ตัวของตัวถังน้อยมาก เมื่อบวกกับส่วนอื่นๆ เช่น ช่วงล่างซึ่งด้านหน้าเป็นแมคเฟอร์สัน สตรัท พร้อมคอยล์สปริง ด้านหลัง ทอร์ชั่นบีม และระบบช่วยเหือการขับขี่อื่นๆ ก็ทำให้มันเป็นรถที่มีความคล่องตัวสูงในเส้นทางแบบนี้ ควบคุมง่าย และขับได้สนุก 

ระบบช่วยเหลือที่ว่าก็เช่น ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP) หรือว่า ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (TCS) เป็นต้น 

ส่วนเครื่องยนต์ เบนซิน รหัส K12M 4 สูบ 1.2 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 83 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 108 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบ/นาที มาพร้อมเทคโนโลยีหัวฉีดคู่หรือ DUALJET ซึ่งเป็นการออกแบบที่ทำให้การเผาไหม้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยการฉีดน้ำมันเข้าไปที่กระบอกสูบพร้อมกันทั้ง 2 หัวฉีด ทำให้น้ำมันมีละอองที่ละเอียดขึ้น และแม่นยำยิ่งขึ้น

1624247370100

ในเชิงเทคนิคอีกอย่างที่น่าสนใจก็คือ ซูซูกิ บอกว่าด้วยการออกแบบการทำงานเช่นนี้ช่วยให้ลดอุณหภูมิในกระบอกสูบขณะทำงาน ซึ่งนั่นหมายถึงเป็นการช่วยถนอมชิ้นส่วนต่างๆ ภายใน ยืดอายุการใช้งานออกไป

มาดูทางด้านโครงสร้างตัวรถกันบ้าง สวิฟท์ แม้จะเป็นรถขนาดกะทัดรัด ความยาวไม่ถึง 4 เมตร และหากเทียบกับน้องใหม่ไฟแรงในตลาดอย่าง ฮอนด้า ซิตี้ แฮทช์แบ็ค สวิฟท์นั้นสั้นกว่าถึง 50 ซม. เลยทีเดียว แต่ว่าในแง่การใช้งาน ถือว่าเป็นรถที่นั่งได้สบายครับ มีความกว้างพอตัว เบาะนั่งออกแบบมาได้เหมาะกับสรีระ พื้นที่เหนือศีรษะก็กว้างพอ ช่วยให้ไม่รู้สึกอึดอัด ยกเว้นถ้าเบาะหลังจะนั่ง 3 คน ก็อาจจะเบียดกันไหล่ชนไหล่ไปบ้าง

162424737032

รูปทรงโดยรวมกะทัดรัด ออกแบบเน้นให้มีอารมณ์สปอร์ต ดุดัน รวมถึงภายในที่ใช้รูปแบบวงกลมเป็นตัวเติมอารมณ์ ทั้งช่องแอร์ หรือว่ามาตรวัด และปุ่มปรับต่างๆ ยกเว้นพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น ที่หนีวงกลม ด้วยการทำให้เป็นรูปแบบท้ายตัด นอกจากเพิ่มความสปอร์ตแล้ว ก็เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน เมื่อเข้า-ออกจากรถ โดยเฉพาะพวกขาใหญ่ทั้งหลาย และตัว GLX สามารถปรับได้ 4 ทิศทาง คือ ขึ้น-ลง เข้า-ออก ขณะที่ GL ทำได้แค่ขึ้น-ลง

ตำแหน่งการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ของผู้ขับขี่ทำได้ง่าย ไม่ว่าจะด้วยมือหรือเท้าก็ตาม

162424737119

เป็นรถราคาไม่แรงเมื่อเทียบกับตลาดเดียวกัน แต่ให้ออปชั่นมาเยอะทีเดียว เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

ซึ่งออปชั่นสำคัญๆ เช่น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ กุญแจรีโมท ระบบเปิด-ปิด ประตูโดยไม่ต้องใช้กุญแจ (keyless entry) พุชสตาร์ท ระบบปรับอากาศอัตโนมัติจอแสดงผลแอลซีดี แสดงอัตราสิ้นเปลืองปัจจุบัน/เฉลี่ย ความเร็วเฉลี่ย ตำแหน่งเกียร์ แสดงอุณหภูมิภายนอก สัญญาณเตือนเมื่อลืมกุญแจ

ไฟหน้า แอลอีดี โปรเจคเตอร์ ไฟขับขี่กลางวันแอลอีดี ไฟตัดหมอกคู่หน้า ไฟท้ายแอลอีดีปุ่มเปิดประตูท้ายแบบไฟฟ้า

162424736955

ถุงลม 6 ตำแหน่ง คู่หน้า ด้านข้าง และม่านถุงลม ระบบเบรก เอบีเอส ระบบกระจายแรงเบรก อีบีดี และเป็นดิสค์เบรก 4 ล้อ ซึ่งเป็นจุดที่ให้มามากกว่าคู่แข่งอีหลายรุ่น ที่ด้านหลังเป็นดรัมเบรก

ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (TCS) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน ระบบสตาร์ท/สต็อป เครื่องยนต์

ส่วนช่วงล่าง ด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท พร้อมคอยล์สปริง ด้านหลัง ทอร์ชั่น บีม พร้อมคอยล์สปริง

162424737096

โดยรวมแล้วการเซ็ทช่วงล่างทำได้ดี อารมณ์สปอร์ต บวกกับประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ที่ผมว่าเหมาะสมกับการใช้งาน การเรียกกำลังมาได้เร็ว โดยเฉพาะเมื่อใช้งานในเมือง ช่วยเพิ่มความคล่องตัวได้มาก ส่วนการขับทางไกล ก็ใช้ความเร็วได้ และเร่งแซงได้ไม่มีปัญหา แม้ช่วงความเร็วเริ่มต้นอาจจะต้องเค้นสักหน่อย แต่จากนั้นก็ติดลมบน กดคันเร่งได้สนุก จนลืมว่ามันเป็นอีโคคาร์ไปเลย