ศบค.เปิดแผนจัดสรร'วัคซีนโควิด'เดือนก.ค.

ศบค.เปิดแผนจัดสรร'วัคซีนโควิด'เดือนก.ค.

ศบค.เปิดแผนจัดสรรวัคซีนโควิดเดือน ก.ค. เฉพาะกทม.รับ 2.5 ล้านโดส ย้ำให้คนแก่-โรคเรื้อรังก่อน รับมอบ'วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า'อีก 1 ล้านโดส กระจายฉีดทันที ส่วน ซิโนแวค เข้า อีก 2 ล้าน 24 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มอีก 1 ล้านโดส มีการตรวจสอบ คัดแยก เรียบร้อย และกระจายไปยังทั่วประเทศภายในบ่ายวันที่ 18 มิ.ย.ไม่เกินวันที่ 19 มิ.ย. ทั้งนี้ย้ำว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ยังไม่มีอะไรที่ไม่เป็นไปตามแผน ที่กรมควบคุมโรคได้ไปหารือร่วมกับทางบริษัท ซึ่งสัปดาห์หน้าวัคซีนของแอสตร้าฯ ก็จะส่งมอบอีก 1 ล็อต และส่งให้ทุกสัปดาห์ ส่วนซิโนแวค จะเข้ามาอีก 2 ล้านโดส ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้

ผู้สื่ข่าวถามว่า เมื่อดูทิศทางการส่งวัคซีนแอสตร้าฯ 2 ล็อต ที่ผ่านมาประมาณ 2 ล้านโดส และอีกกว่า 1.6 ล้านโดสนี้แปลว่ามีสัญญาณที่จะส่งมาสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านโดส และในเดือน มิ.ย.อาจจะถึง 6 ล้านโดสหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็เป็นข้อตกลงระหว่างแอสตร้าฯ กับกรมควบคุมโรค รมว.เป็นเพียงผู้สนับสนุน และการกระจายก็เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรค ตามแผน ศบค. แต่ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ไม่น้อยไปกว่าเดิม เมื่อถามย้ำว่า สัปดาห์หน้าจะเข้ามาถึง 5 แสนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า “หากเข้ามามากกว่านี้ นักข่าวจะเลี้ยงข้าวผมหรือไม่”

“เดือนนี้โอเค เดือนหน้าก็โอเค วัคซีนไม่ขาด วัคซีนฉีดได้ตามเป้าของประชากรไทย วันนี้ศบค.รับทราบแล้วว่ามีวัคซีน 105 ล้านโดส และสธ. กรมควบคุมโรค ก็ขอ ศบค.ในการจัดซื้อเพิ่มอีก ให้ครบ 150 ล้านโดส สำหรับปีหน้าด้วย” นายอนุทิน กล่าว

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวถึงการจัดสรรและจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า ที่ประชุม ศบค.พิจารณาแผนการจัดสรรและจัดหาวัคซีนโควิด-19ในแต่ละจังหวัดตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เสนอ โดยเริ่มจากการจัดสรรวัคซีนเดือนก.ค. 2564 เป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดส โดยพิจารณาจัดสรรวัคซีนดังกล่าวให้แก่ผู้ที่จองฉีดวัคซีนล่วงหน้าในระบบ “หมอพร้อม” คือ กลุ่มผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ต้องได้รับก่อน 

"การจัดสรร จะเน้นจังหวัดที่มีการระบาดโควิดสูง คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี และบวกอีก 1 จังหวัด คือ ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแผนเปิดการท่องเที่ยว ดังนั้น 5 จังหวัดจะได้รับก่อน
ส่วนพื้นที่สีส้ม มี 23 จังหวัด จะได้รับวัคซีนลดหลั่นลงมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี(อ.เกาะสมย) พังงา และกระบี่ ส่วนจังหวัดที่เหลือ 49 จังหวัดจะได้อีกระดับหนึ่ง

162402026446

เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัด ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิ.ย. 2564 จากเป้าหมายวัคซีน 10 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคม 2564 ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 เป็นจังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับควบคุมสูงสุด เข้มงวด และจังหวัดเศรษฐกิจท่องเที่ยว 5 จังหวัด ได้วัคซีนร้อยละ 30 แยกย่อยดังนี้
-กรุงเทพมหานคร(รวมทปอ. และประกันสังคม) จำนวน 2.5 ล้านโดส
-นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำนวน 6 แสนโดส
-ภูเก็ต จำนวน 2 แสนโดส
กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรีรยมความพร้อมรอง รับสถานการณ์ภายหลังการระบาดจำนวน 23 จังหวัด ได้ร้อยละ 25 รวม 2.5 ล้านโดส(เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แสนโดส)
กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย 49 จังหวัด ร้อยละ 35 จำนวน 3.5 ล้านโดส (เฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส)
กลุ่มที่ 4 อื่นๆ ได้แก่หน่วยฉีดส่วนกลาง องค์กรภาครัฐ และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด ร้อยละ 10 จำนวน 1 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม การจัดสรรวัคซีนขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตส่งมอบ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์การระบาดของโรคด้วยเช่นกัน

ส่วนการจัดหาวัคซีนโควิด จำเป็นต้องมีการขอจัดสรรเพิ่มเป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565 โดยต้องครอบคลุมและเพิ่มกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของโรค หรือกรณีอื่นใดที่ต้องมีการใช้วัคซีนเพิ่มเติม ขณะนี้มีการจัดหาและเจรจาจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส

“ ประเทศไทยต้องเตรียมงบประมาณจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบ 150 ล้านโดส โดยภาครัฐจัดหาวัคซีน ดังนี้ วัคซีนซิโนแวค ประมาณ 28 ล้านโดส และวัคซีนโควิด19 อื่นๆ อีกประมาณ 22 ล้านโดส รวมเป็น 50 ล้านโดส ทั้งนี้ ขึ้นกับผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน และสถานการณ์ของเชื้อกลายพันธุ์ เพราะอาจต้องมีเข็ม 3 หรือเข็ม 1 และ 2 สลับกัน ซึ่งตอนนี้นักวิจัยกำลังคิดค้น เพื่อความมั่นคงก็ต้องเตรียมพร้อมและขยายเพดานมากขึ้น” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว