'ตลาดวัคซีน' โตรับวิกฤต 'โควิด-19'

'ตลาดวัคซีน' โตรับวิกฤต 'โควิด-19'

การระบาดของ 'โควิด-19 ทำให้มีการคาดการณ์ว่า 'ตลาดวัคซีน' ทั่วโลกและในไทยเติบโตก้าวกระโดด จากการพัฒนา 'วัคซีนโควิด-19' โดยเฉพาะชนิด 'mRNA' ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ นอกจากใช้ป้องกันโควิด-19 แล้ว ยังสามารถต่อยอดไปสู่การรักษาโรคอื่นๆ ได้

'วัคซีนโควิด-19' เรียกได้ว่ามีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ออกนอกกรอบเทคโนโลยีผลิตวัคซีนเดิมๆ อย่างเชื้อตาย เชื้อเป็นอ่อนกำลัง มีเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ 'mRNA' ที่อาจนำไปต่อยอดสู่การรักษาโรคอื่นๆ ได้ในอนาคต ท่ามกลางความต้องการในสภาวะการระบาดขณะนี้ มีการคาดการณ์ว่า 'ตลาดวัคซีน' ทั่วโลกอาจมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท 

ปัจจุบัน เริ่มมีผลวิจัยประเทศที่มีความสำเร็จในการป้องกันอันเกิดจากวัคซีน เช่น อิสราเอล ซึ่งใช้ไฟเซอร์เป็นหลัก ภาพรวมค่อนข้างดี ธุรกิจกลับมาเปิดได้ และ สหรัฐ ก็เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเป็นเจ้าของไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งสัดส่วน 2 ตัวแรก แทบจะเรียกว่า 90% ของที่ประเทศใช้ และขณะนี้เริ่มผ่อนคลายมาตรการ

  • 'ตลาดวัคซีน' ทั่วโลก โตหลายแสนล้าน

“ภก.ดร.นรภัทร ปีสิริกานต์” รักษาการผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม อธิบายว่า แม้ 'ตลาดวัคซีน' เทียบกับตลาดยาไม่ได้ เพราะวัคซีนมีไม่กี่ตัวที่ราคาแพงและโดดขึ้นมา เช่น วัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากแบคทีเรีย ของไฟเซอร์ เป็นตัวที่มีมูลค่าแพงที่สุดหลายพันล้านบาทต่อปี แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดยา แต่พอมี 'โควิด-19' มา ทำให้ 'ตลาดวัคซีน' ทั่วโลก มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทเพราะใช้กันทั่วโลก สัดส่วน'ตลาดวัคซีน'สูงขึ้นมาอย่างน่าตกใจ

  • คาด 'ตลาดวัคซีน' ไทย โต 30,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน ตลาดยาในประเทศไทยมูลค่าราว 1.7 แสนล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้ เป็น 'ตลาดวัคซีน' ราว 5,000 ล้านบาทในช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่ปัจจุบัน คาดการณ์ว่าจะสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี โดยคำนวณมูลค่าวัคซีนที่รัฐต้องจ่ายในการป้องกันประเทศทั้งปี เพราะฉะนั้น 'ตลาดวัคซีน' จะหอมหวลทันทีหลังจากมีการระบาดของ 'โควิด-19' ครั้งนี้ ภาพรวมทั่วโลกคนที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนทั้งหมดจะกลายเป็นเศรษฐีใหม่ในพริบตา

หากดูเฉพาะ “ไฟเซอร์ ไบออนเท็ค” เว็บไซต์เดอะ การ์เดียน สำรวจรายได้จากการจำหน่ายวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ข้อมูลเดือน พ.ค. 64 พบว่า รัฐบาลหลายประเทศสั่งซื้อไฟเซอร์ราว 780 ล้านโดส รวมถึงสหรัฐ 200 ล้านโดสในราคา 3,900 ล้านดอลลาร์ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อีซี) 300 ล้านโดส ส่วนอีก 40 ล้านโดสจะส่งไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำผ่านโครงการโคแว็กซ์ คาดการณ์ยอดขายในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 15,000-30,000 ล้านดอลลาร์ ด้าน ‘คาร์เตอร์ โกลด์’ นักวิเครกำไาะห์จากบาร์เคลย์ คาดว่าไฟเซอร์ ไบออนเทค น่าจะมียอดขายอยู่ที่ 21,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 ส่วนปี 2565 อยู่ที่ 8,600 ล้านดอลลาร์และ 1,950 ล้านดอลลาร์ในปี 2566

162385800714

  • 'วัคซีนโควิด-19' Top 3

ภก.ดร.นรภัทร กล่าวต่อไปว่า การแข่งขัน'ตลาดวัคซีน' สูง ทุกคนเอาวัคซีนตัวเองที่ดีที่สุดเข้ามา เพราะมีผู้เล่นหลักๆ เยอะ ขณะเดียวกัน แต่ละแพลตฟอร์มก็จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยหลักๆ WHO มีการนำข้อมูลวัคซีนที่มีจำหน่ายทั่วโลกไม่ว่าจะสหรัฐ จีน ยุโรป รัสเซีย มาเทียบกัน พบว่า วัคซีนที่ให้ประสิทธิผลดีที่สุด 3 ตัว คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา โนวาแวค ซึ่งตัวสุดท้ายหากดูค่าพยากรณ์แล้วน่าจะเป็นตัวที่มาแรงอีกตัวหนึ่ง ถือเป็น Top 3 ของวัคซีนที่ดีที่สุดในแง่ของการป้องกันโรค

“แม้จะพบผลข้างเคียงของวัคซีนชนิด 'mRNA' ที่ใช้ในไฟเซอร์ และโมเดอร์นา โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นเพศชาย 16-24 ปี ซึ่งมีการพบ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเยอะกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) มองว่าสุดท้ายเมื่อดูประโยชน์เทียบกับโทษ ยังแนะนำให้ใช้วัคซีนต่อไป ซึ่งจากผลการใช้ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ในสหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้สหรัฐ สถานการณ์ดีขึ้นมาก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  • ไวรัสกลายพันธุ์ ความท้าทาย 'วัคซีนโควิด-19'

สำหรับความท้าทายในอนาคต ภก.ดร.นรภัทร มองว่าตอนนี้ทุกคนเอา เจนเนอเรชั่นแรก มาแข่งกัน ความท้าทายคือการรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ เพราะเวลาผ่านไป ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ก็โผล่ออกมา อย่างสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เกิดขึ้น 1-2 เดือน ขณะที่วัคซีนมีการพัฒนาตั้งแต่ปีที่แล้ว ดังนั้น ความท้าทายหลักๆ คือ วัคซีนที่ถืออยู่มีความสามารถในการรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ได้หรือไม่ และเราไม่รู้ว่าหลังจากไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) จะมีสายพันธุ์อะไรต่อมิอะไร โผล่ออกมาจนหลบหลีกการทำลายตัววัคซีนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้ามันหลีกมาก โอกาสวัคซีนจะเฟลก็มีมาก

“มีการเกิดมาแล้ว ในกรณีของแอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาดำเนินมาด้วยดี แต่ในการทดสอบทางคลินิก 4 แห่งทั่วโลกหลัก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ แอฟริกาใต้ พบว่า มีการระบาดของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ความสามารถของแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เรียกว่าการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์แอฟริกาใต้น่าวิตก เพราะทำให้ประสิทธิผลของวัคซีน ลดลงมาจาก 70% เหลือ 10% ซึ่งต่ำจนน่ากลัว ทำให้ต้องเร่งเจนเนอเรชั่น 2 ออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อการรับมือ”

แต่โชคดี คือ แม้สายพันธุ์แอฟริกาใต้จะร้ายแรง แต่การกระจายเกิดเป็นหย่อมๆ ไม่ได้แพร่รวดเร็วเหมือนสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ส่วนประเทศไทยเจอที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แต่ควบคุมได้ แม้ไวรัสรุนแรงแต่กระจายไม่ดี ทำให้การคุมทำได้ง่าย แต่ถ้าเกิดร้ายแรง รุนแรง กระจายดี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว 

“เพราะฉะนั้น โจทย์ก็ คือ สิ่งที่ผู้วิจัยวัคซีนทั้งหมดกังวลที่สุด คือ วัคซีนที่ตัวเองถืออยู่ในมือ มีความสามารถในการกำจัดตัวไวรัสกลายพันธุ์ในปัจจุบันและอนาคตมากน้อยแค่ไหน แต่ละประเทศจึงมีแล็บใช้มอนิเตอร์ โดยมีเลือดของอาสาสมัครที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่ประเทศนั้นๆ เทียบกับสายพันธุ์ต่างๆ ว่าป้องกันได้จริงหรือไม่ รวมถึงประเทศไทยด้วย”

  • 'โควิด-19' พัฒนาวงการวัคซีน

จะเห็นว่า 'โควิด-19' มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาวงการแพทย์โดยเฉพาะวัคซีน ภก.ดร.นรภัทร ระบุว่า หากไม่มี 'โควิด-19' วัคซีนที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน จะเหลือแค่วัคซีนแพลตฟอร์มที่เคยใช้มาก่อน คือ วัคซีนเชื้อตาย วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนกำลัง วัคซีนโปรตีนซับยูนิต ส่วนวัคซีนตัวอื่นๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนบนโลกนี้หรือมีน้อยมาก คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับรหัสพันธุกรรม เป็นกลุ่มที่ไม่เคยมีวัคซีนสำเร็จมาก่อน เช่น 'mRNA' เริ่มใช้ในโควิด-19 เป็นครั้งแรก เหมือนการเปิดตัวเทคโนโลยีแพลตฟอร์มชนิดใหม่ และหลายคนมองว่าเทคโนโลยีชนิดนี้จะทำให้การรักษาโรคแปลกๆ ที่ไม่เคยรักษาได้เกิดขึ้น ได้ประโยชน์กับแพลตฟอร์มนี้ในอนาคตอันใกล้

“รวมทั้ง เกิดการพัฒนาในวัคซีนที่เคยมีอยู่ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หากเปลี่ยนเป็น 'mRNA' เชื่อว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะดีกว่าที่ใช้ในตลาด และโรคอื่นๆ ซึ่งอาจจจะต้องใช้ 'mRNA' ในการรักษา จะเป็นอีกตัวที่ได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะมะเร็งต่างๆ 'mRNA' จะเข้ามาทำให้การรักษาโรคที่ไม่เคยหายมาก่อน สามารถรักษาได้ นำไปสู่การรักษาด้วยยีนส์บำบัด วงการวัคซีนจะขยับไปสู่การรักษาโรคทางพันธุกรรม และโรคติดเชื้อแปลกๆ ได้ในอนาคต” ภก.ดร.นรภัทร กล่าว

162385803790

 

  • คาดการณ์รายได้ 'วัคซีนโควิด-19'

เว็บไซต์เดอะ การ์เดียน สำรวจรายได้จากการจำหน่ายวัคซีนต้านโรค 'โควิด-19' ข้อมูลเดือน พ.ค. 64 พบว่า “ไฟเซอร์ ไบออนเท็ค” ผลิตวัคซีน 'mRNA' รัฐบาลหลายประเทศสั่งซื้อราว 780 ล้านโดส รวมถึงสหรัฐ 200 ล้านโดสในราคา 3,900 ล้านดอลลาร์ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อีซี) 300 ล้านโดส ส่วนอีก 40 ล้านโดสจะส่งไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำผ่านโครงการโคแว็กซ์ คาดการณ์ยอดขายในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 15,000-30,000 ล้านดอลลาร์ ด้าน ‘คาร์เตอร์ โกลด์’ นักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ คาดว่าไฟเซอร์ ไบออนเทค น่าจะมียอดขายอยู่ที่ 21,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 ส่วนปี 2565 อยู่ที่ 8,600 ล้านดอลลาร์และ 1,950 ล้านดอลลาร์ในปี 2566

 

“โมเดอร์นา” ซึ่งผลิตวัคซีนที่ใช้เทคนิค 'mRNA' ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรสั่งซื้อ 17 ล้านโดส สหภาพยุโรป (อียู) สั่งซื้อ 310 ล้านโดส พร้อมเงื่อนไขให้ซื้อเพิ่มได้อีก 150 ล้านโดสในปี 2565 ขณะที่รัฐบาลสหรัฐสั่งซื้อ 300 ล้านโดส ญี่ปุ่นสั่งซื้อ 50 ล้านโดส ส่วนต้นทุนการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาสองโดสในสหรัฐ อยู่ที่ 30 ดอลลาร์ส่วนในอียูอยู่ที่ 36 ยูโร คาดการณ์กันว่าโมเดอร์นาจะมียอดขายในปี2564 อยู่ที่ 18,000-20,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ “จีนา หวัง” นักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ ประเมินยอดขายของโมเดอร์นาไว้ที่ 19,600 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และ 12,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 ส่วนปี 2566 คาดการณ์กันว่ายอดขายของบริษัทนี้จะอยู่ที่่ 11,400 ล้านดอลลาร์

 

“จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” ซึ่งผลิตวัคซีนอะดีโนไวรัส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ฉีดเพียงโดสเดียวตัวแรกของโลก สหรัฐ สหราชอาณาจักร มีการสั่งซื้อไปกว่า 30 ล้านโดส และสั่งซื้อเพิ่มได้อีก 22 ล้านโดส อียูซึ่งสั่งซื้อได้สูงสุด 400 ล้านโดส และประเทศสมาชิกโครงการโคแว็กซ์ 500 ล้านโดส ตลอดทั้งปี 2565 คาดว่ายอดขายของปี 2564 จะสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์

“แอสตร้าเซนเนก้า” ผลิตวัคซีนอะดีโนไวรัส เวกเตอร์ มีการสั่งซื้อวัคซีนนี้จำนวนมากจากสหราชอาณาจักร 100 ล้านโดส อียู 400 ล้านโดส สหรัฐ 300 ล้านโดส และญี่ปุ่น 120 ล้านโดส คาดการณ์ว่ายอดขายของปี 2564 จะอยู่ที่่ 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์จากเอสวีบี เลียร์อิงค์ คาดว่ายอดขายจะอยู่ที่ 1,900 ล้านดอลลาร์ในปีนี้และ 3,000 ล้านดอลลาร์ในปี2565

“ซิโนแวค” ทำข้อตกลงกับบราซิล ชิลี สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนที่จะส่งมอบวัคซีน 10 ล้านโดสให้แก่ประเทศสมาชิกในโครงการโคแว็กซ์ คาดการณ์ว่ายอดขายปี 2564 จะมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจนออกมา

“สปุตนิก วี.” แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของอียู แต่มีการสั่งซื้อวัคซีนตัวนี้ของรัสเซีย โดยรวมแล้วกว่า 50 ประเทศ รวมถึงอิหร่าน แอลจีเรียและเม็กซิโก  โดยยอดขายในปี 2564 ยังไม่ชัดเจน แต่น่าจะมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

“โนวาแวกซ์” ผลิตวัคซีนรีคอมบิแนนท์ โปรตีน โดยบริษัทตกลงส่งมอบวัคซีนรวมทั้งสิ้น 300 ล้านโดส ให้สหราชอาณาจักร 60 ล้านโดส ที่เหลือเป็นของอียู แคนาดาและออสเตรเลีย คาดการณ์ว่ายอดขายปี 2564 จะมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

สุดท้าย “เคียวร์แวค” ใช้เทคนิค 'mRNA' โดยบริษัทหวังว่าจะได้รับการอนุมัติจากอียูในเดือนมิ.ย.นี้ อียูสั่งซื้อล่วงหน้า 225 ล้านโดส พร้อมซื้อเพิ่มได้อีก 180 ล้านโดส ส่วนยอดขายในปี 2564 ยังไม่มีความชัดเจน เพราะยังไม่มีการเปิดเผยราคา แต่เป็นราคาที่ทำกำไรให้บริษัทได้

'วัคซีนโควิด-19' คือหนึ่งในกุญแจสำคัญนำพาโลก ฝ่าวิกฤต 'โควิด-19' ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน “สมรภูมิวัคซีนโควิด-19” (Vaccine War) เขียนโดย ภก.ดร.นรภัทร ปีสิริกานต์ และ ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล 

1623858007100