'สภาองค์กรผู้บริโภค' ตัวจริง พึ่งได้? ของ 'ผู้บริโภค' ยุคดิจิทัล

'สภาองค์กรผู้บริโภค' ตัวจริง พึ่งได้? ของ 'ผู้บริโภค' ยุคดิจิทัล

การรับมือกับปัญหาสิทธิ 'ผู้บริโภค' ในประเทศไทยยังคงปรากฏให้เห็นตลอด ทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง สินค้าผิดกฎหมาย รถโดยสารไม่ได้มาตรฐาน หรือแม้แต่การร้องเรียนด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข ที่เกิดทั้งในชีวิตจริงและในชุมชนออนไลน์

ข้อมูลจากเวทีสัมมนาออนไลน์ การพัฒนาสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์การดำเนินงานคุ้มครองสิทธิของประชาชน จัดโดย สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการสำรวจพบสถานการณ์งานคุ้มครอง ผู้บริโภค” ที่มีปัญหาหลายประเด็น

เริ่มที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่ายุคนี้ผู้บริโภคถูกแวดล้อมด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ โลกใหม่คือโลกผ่านแพลตฟอร์ม ไม่ได้ขายสินค้าหรือบริการแบบเดิม แต่ขายการจับคู่ และมีผลต่อการคุ้มครองผู้บริโภค แม้แพลตฟอร์มจำนวนมากไม่คิดค่าบริการลูกค้า แต่ใช้เราเป็นวัตถุดิบ ราคาอาจต่ำกว่าต้นทุนหรือฟรี สภาพคล่องมากได้เปรียบ ความประหลาดของแพลตฟอร์ม คนใช้ยิ่งมาก คนยิ่งอยากใช้มาก

ประธานทีดีอาร์ไอยังเสริมว่าการที่มีแอปพลิเคชันยิ่งมาก ยิ่งส่งเสริมให้คนอยากสร้างแอปพลิเคชันมาก เช่น แอปพลิเคชันจับคู่นำมาสู่แอปพลิเคชันแผนที่ มีการต่อยอดพึ่งพากัน เกิดเครือข่ายผนึกแน่น ปรากฏการณ์เหล่านี้เสี่ยงต่อ ผู้บริโภค ซึ่งจะพบว่า 6 ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้จะมีด้านบวกคือธุรกิจออนไลน์เพิ่มโอกาสใหม่ๆ แต่ก็ล้วนเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เกิดการผูกขาด สัญญาไม่เป็นธรรม สินค้าและบริการมีปัญหา การหลอกลวงทำได้กว้างขวางขึ้น  และขาดความปลอดภัยในโลกไซเบอร์

162381279872

ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทชด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่าแม้ข้อดีของ ผู้บริโภค ในยุคสังคมดิจิทัลคือการซื้อขายในตลาดกว้างขวางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และมีตลาดย่อยทุกอย่างหาซื้อได้ แต่ข้อเสียคือคนเข้าถึงตลาดมืดได้ง่ายขึ้น ทั้งยาเสพติด ของผิดกฎหมาย สินค้าลามกอนาจาร รัฐต้องเข้ามาแทรกแซงมากขึ้น

วิธีที่ชุมชนทำได้ คือ ตั้งชุมชนดิจิทัล รีวิวให้เรทติ้ง แชร์ประสบการณ์และแจ้งเตือนเพื่อตอบรับตลาดดิจิทัลกรรมการ กสทช.เสนอแนวทาง

นอกจากนี้ อีกกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคสังคมดิจิทัล คือการมีองค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยตรง อย่างการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคหน่วยงานอิสระระดับชาติ

1623813015100

อย่างไรก็ดีการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคปัจจุบัน อยู่ในระยะเริ่มต้น โดยคณะรัฐมนตรีเพิ่งสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.ภญ. ยุพดี ศิริสินสุข ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงทิศทางงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาฯ ว่า

เราจะขับเคลื่อนปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพ  เป้าหมายคือสร้างวัฒนธรรมใหม่ สร้างธุรกิจที่เติบโตไปด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค สภาฯ ต้องใช้ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนงานอย่างมืออาชีพ  โดยสภาฯ มีการวางโครงสร้างการทำงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามใหม่ เพราะดิจิทัลเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินชีวิตทุกมิติ โดยไม่ละเลยการใช้พลังเครือข่ายผู้บริโภคช่วยเติมเต็มงานคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดประโยชน์

162381309340

ในทัศนะของ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อมีกลไกสภาองค์กรผู้บริโภค คาดหวังว่าให้มองไปข้างหน้าเพราะความเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลจะเร็วมาก อินเตอร์เน็ทคือทุกสิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องธุรกรรมการเงินต่างๆ ขณะนี้มีปัญหาผูกขาด องค์กรผู้บริโภคต้องเท่าทันทั้ง 2 ด้าน คือ โอกาสและภัยคุกคาม สิ่งที่ต้องบูรณาการ คือ สร้างความฉลาดของพลเมืองยุคดิจิทัล สิทธิผู้บริโภคเข้าถึงราคาที่เป็นธรรมราคาถูก ธุรกรรมออนไลน์ที่ปลอดภัย

162381327678

ด้าน ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสสกล่าวว่า 5 ประเด็นที่ สสส.เสนอพัฒนาสภาฯ ให้ยั่งยืน คือ

1.ส่งเสริมงานวิชาการใช้ข้อเท็จจริงสื่อสารกับผู้บริโภคและผลักดันเชิงนโยบาย องค์กรผู้บริโภคต้องเร่งกระบวนการนี้

2.เพิ่มภาคีเครือข่ายจัดการประเด็นที่กระทบผู้บริโภคโดยสภาฯ เป็นขุมพลังรวมภาคประชาชนต่อสู้ทุกประเด็น

3.พัฒนาศักยภาพจุดจัดการเฉพาะพื้นที่เพื่อเป็นจุดรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ

4.การขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีทิศทาง

5. การสื่อสารกับสังคมที่ชัดเจนส่งความรู้สู่ผู้บริโภค เพื่อสร้างเกราะคุ้มครองผู้บริโภค

เชื่อว่าทุกคนเป็นกลไกขับเคลื่อนพื้นฐานคุ้มครองผู้บริโภค แต่สภาองค์กรผู้บริโภค จะไปเติมพลังให้คนเหล่านี้อย่างไร นี่คือโอกาสผลักดันทิศทางงานคุ้มครอง ผู้บริโภค สสส.จะจับมือกับสภาฯ ทำงานเพื่อให้งานคุ้มครองผู้บริโภคไทยเติบโตขึ้น

  162381340584