ภารกิจใหญ่ 'การบินไทย' ลุยหาเงินกู้ เผยมีเงินสดใช้ถึงสิ้นปี

ภารกิจใหญ่ 'การบินไทย' ลุยหาเงินกู้ เผยมีเงินสดใช้ถึงสิ้นปี

ศาลล้มละลายอนุมัติแผนฟื้นฟูการบินไทย ตั้ง 5 ผู้บริหารแผนลุยฟื้นธุรกิจ “ชาญศิลป์” รับโจทย์ใหญ่เร่งหาเงินทุนตามแผน 5 หมื่นล้านบาท เผยกระแสเงินสดมีใช้ถึงสิ้นปี เดินหน้าสร้างรายได้ธุรกิจครัวการบิน ช่าง คาร์โก้

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่ง วันที่ 15 มิ.ย.2564 เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2564 ซึ่งมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารบริษัทและดำเนินการตามแผนฟื้นฟู 5 คน คือ

1.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ 2.นายพรชัย ฐีระเวช 3.นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ 4.นายไกรสร บารมีอวยชัย 5.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

หลังศาลมีคำสั่งดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า “ขอแสดงความยินดีด้วย จะเป็นการเดินหน้าฟื้นฟูการบินไทยให้สำเร็จต่อไป”

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทย กล่าวว่า คณะกรรมการการบินไทยได้ประชุม วานนี้ (15 มิ.ย.) เพื่อรับทราบคำสั่งศาล รวมทั้งพิจารณาบทบาทหน้าที่ของรักษาการผู้บริหารแผนรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ที่ควบตำแหน่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 

“ผมไม่ได้ยื่นลาออกจากรักษาการซีอีโอการบินไทย บอร์ดจะพิจารณาว่าต้องตั้งรักษาการซีอีโอคนใหม่แทนผมหรือไม่ เพื่อให้แบ่งงานกันทำและให้ผมทำหน้าที่ผู้บริหารแผนได้เต็มที่เพื่อให้แผนฟื้นฟูบรรลุเป้าหมาย ซึ่งต้องรอการตัดสินใจของบอร์ด” นายชาญศิลป์ กล่าว

สำหรับประเด็นท้าทายต่อไปของการบินไทย คือ กระแสเงินสดในมือที่ลดลง และอาจอยู่ได้ถึงสิ้นปี 2564 ฉะนั้นต้องนำทรัพย์สินลำดับรองออกมาหารายได้ รวมทั้งเจรจากับเจ้าหนี้ ธนาคาร หรือผู้ที่สนใจเพื่อหาเงินทุนใหม่ เช่น เจ้าหนี้รายใหญ่ สหกรณ์ เจ้าหนี้ภาครัฐ ซึ่งมีรายละเอียดในแผนฟื้นฟูกิจการที่จะต้องดำเนินการทั้งหมดและหลังภายใน 3-6 เดือน จะชี้แจ้งความคืบหน้า

ส่วนเงินทุนใหม่ 50,000 ล้านบาท ได้หารือสถาบันการเงินเอกชนและรัฐบาล แต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด ส่วนจำนวนเงินที่ต้องการใช้ก็จะเป็นไปตามแผนเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ 25,000 ล้านบาท และจากเอกชน 25,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงินเอกชน ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่แต่ยังไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ 

“เงินส่วนนี้จะเสริมสภาพคล่องเป็นเงินทุนหมุนเวียน และบางส่วนชำระหรือชดเชยให้พนักงานที่ออกตามโครงการลดจำนวนพนักงาน โดยต้องหาเงินกู้หรือกระแสเงินสดเข้ามา ซึ่งความเป็นไปได้ คือ การกู้จากสถาบันการเงิน แต่ต้องมีทรัพย์สินที่มีเป็นหลักค้ำประกัน ดังนั้น หากรายได้ไม่เข้ามาก็ต้องหาเงินกู้จากทรัพย์ที่มีอยู่ รวมถึงขายทรัพย์สินรองบางตัว”นายชาญศิลป์ กล่าว

นอกจากนี้ แผนการลดต้นทุนอีก 15% นั้น เป็นการจัดทำแผนฟื้นฟูภายใต้คาดการณ์ดีมานด์ ไปข้างหน้าและลดโครงสร้างคนที่อยู่ได้อีก 3-5 ปี ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการไว้หมดแล้ว ลดต้นทุนได้ประมาณ 50% แล้ว เน้นการทำงานเป็นทีม สร้างรายได้ใหม่ๆ ทำให้มั่นใจได้ว่า ใน3-5 ปีข้างหน้าการบินไทยจะมีความสามารถการแข่งขัน

สำหรับยอดจองเที่ยวบินปัจจุบัน เที่ยวบินแรกที่ออกจากเมืองแฟรงเฟิร์ต เยอรมัน วันที่ 2 มิ.ย.2564 มาถึงไทย 3 มิ.ย.2564 เข้าภูเก็ตแล้ว อยู่ที่กว่า 100 คน เป็นตัวเลขดีพอสมควร คาดว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้ เริ่มบินเข้าภูเก็ต จำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่หลัก 1,000 คน ถือเป็นแนวโน้มที่ดีในสำหรับเริ่มทำการหารายได้

ขณะที่การลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงเพื่อเตรียมความพร้อมเที่ยวบินตามแผนการบิน ฝ่ายช่างได้จัดเตรียมเครื่องบินให้ตอบสนองต่อแผนงาน ขอให้มั่นใจได้ว่าตัวฝูงบินใหม่ที่เลือกไว้จะมีประสิทธิภาพ และการซ่อมบำรุงก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และมีความปลอดภัย

นอกจากนี้ ธุรกิจฝ่ายช่างการบินไทยเป็นอีกหน่วยงานที่ทำรายได้ ซึ่งก่อนเกิดโควิด-19 ได้ซ่อมบำรุงให้สายการบินอื่น เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีเครื่องบินนานาชาติที่ลดจอดถือเป็นตลาดใหญ่ และฝ่ายช่างในภาวะปกติทำรายได้ 1,000 ล้านบาท จากการให้บริการซ่อมบำรุงแบบวงรอบสั้น 

รวมถึงได้ซ่อมบำรุงในสนามบินอื่นด้วย เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ก็ใช้บริการสายการบินต่างชาติที่เข้ามาและทำรายได้ ส่วนต่างประเทศ เช่น เมืองเสียมเรียบ เมืองย่างกุ้ง และเมืองกาฐมาณฑุ ก็ให้บริการซ่อมบำรุงที่ประเทศเหล่านั้นทำรายได้ภาวะปกติ 200-300 ล้านบาทต่อปี นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยหลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูจะขยายธุรกิจนี้เพิ่มสร้างรายได้

สำหรับธุรกิจครัวการบินที่เกี่ยวข้องกับ 3 หน่วยงาน คือ ฝ่ายครัวการบิน ฝ่ายบริการภาคพื้น และฝ่ายคลังสินค้าที่ผ่านมาช่วงโควิด-19 ก็ดำเนินการทุกหน่วยธุรกิจ และตามแผนฟื้นฟูที่กำหนดให้ใน 5 ปีข้างหน้าต้องหารายได้เพิ่มก็ได้วางแผนตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ขึ้น ซึ่งต้องเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มีศักยภาพและมีขนาดตลาด เช่น ครัวการบินไทยเปิดภัตตาคารอร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบินก็ฟินได้ และล่าสุดปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เปิดสาขาใหม่ที่ภูเก็ต เพื่อรองรับภูเก็ต แซนด์บอกซ์ 

นอกจากนี้ การพัฒนาภาคพื้นก็ดูเรื่องของสปาและเล้าจ์ ว่าจะขยายไปพื้นที่ใดทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมหาผู้ร่วมทุนต่อยอดธุรกิจ รวมถึงคาร์โก้ไม่มองแค่คลังสินค้า แต่จะพัฒนาสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรทั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งอยู่ขั้นตอนการศึกษา

นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ การบินไทย กล่าวว่า การบินไทยจะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจตามกลยุทธ์ด้านรายได้ 4 ด้าน คือ 1.เร่งปรับรูปแบบอัตราค่าโดยสารและทีมขายใหม่ให้ยืดหยุ่น 2.เร่งหารายได้เสริมด้านที่นั่ง กระเป๋าสัมภาระ 3.ทำการขายและการตลาดผ่านระบบดิจิทัล ผ่านแอพพลิเคชั่นมากขึ้น ทั้งการจองตั๋ว จ่ายเงิน เปลี่ยนวันเดินทางและการขอคืนเงิน 4.นำระบบดิจิทัลมาใช้ในบริการขนส่งสินค้า (คาร์โก้)