ชง 'กพช.' ปลายมิ.ย.นี้ เคาะกรอบ 'แผนพลังงานแห่งชาติ'

ชง 'กพช.' ปลายมิ.ย.นี้ เคาะกรอบ 'แผนพลังงานแห่งชาติ'

“พลังงาน” เตรียมเสนอ กพช.ปลายเดือน มิ.ย.นี้ หรือ ต้น ก.ค.นี้ เคาะกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ ตั้งเป้าลดปล่อยคาร์บอนไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ลุ้นเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในแผนพีดีพี 2022 แตะ 45-50% ยันไม่เพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) คาดว่า จะนำกรอบนโยบาย เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาอนุมัติได้ ภายในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ หรือ ต้นเดือน ก.ค.นี้ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศ และนำมาจัดทำรายละเอียดในแผนปฏิบัติการ 5 แผนฯ ต่อไป โดยคาดว่า จะประกาศใช้แผนพลังงานแห่งชาติได้ในช่วงเดือน ก.ย.นี้

สำหรับรายละเอียดในแผนพลังงานแห่งชาติ เบื้องต้น จะมีการกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ให้สอดรับกับทิศทางประเทศมหาอำนาจต่างๆที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน เช่น จีน ประกาศลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ปี ค.ศ. 2060 สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ประกาศลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ปี ค.ศ.2050 อีกทั้งยุโรป และสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะนำเรื่องการใช้พลังงานสะอาดมาตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยุโรปและสหรัฐจะต้องมาจากพลังงานสะอาด ทำให้ในอนาคตการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจะมีความสำคัญมากขึ้นด้วย

โดยนโยบายด้านไฟฟ้า กำหนดให้โรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างใหม่จากนี้ไป จะต้องไม่เป็นเชื้อเพลิงถ่านหิน ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ(ทดแทน) ขนาดกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 650 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ

ซึ่งโรงไฟฟ้าที่จะรับซื้อเข้าระบบจากนี้ไป จะต้องเป็นเชื้อเพลิงสะอาดเท่านั้น หรือ อย่างน้อยถ้าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็ต้องสะอาด เช่น ก๊าซธรรมชาติ ที่ปัจจุบัน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ก็กำหนดสัดส่วนสูงอยู่ที่ 55% และถ่านหิน อยู่ที่ 18% ซึ่งในอนาคตถ่านหินก็จะมีสัดส่วนลดลงไป และต้องปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบเร็วขึ้น

162366480496

รวมถึงมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ โซลาร์ฟาร์ม ขยะ และการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว เป็นต้น อีกทั้งจะต้องนำเรื่องของการผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชน(Prosumer) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Independent Power Supply: IPS) เข้ามาคำนวนในระบบไฟฟ้าหลักด้วย และต้องพัฒนาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) และระบบสมาร์ทกริด ไมโครกริดเข้ามาเสริมศักยภาพของระบบไฟฟ้า ตลอดจนมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง และคำนึงถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และแบตเตอรี่ ที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามแผนของภาครัฐ เป็นต้น

“ก็ต้องมาดูว่า ตั้งเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในช่วง 5ปี 10 ปี และ15ปี จะเป็นอย่างไร ปริมาณจะเหลือเท่าไหร่และเป็นศูนย์ในปีใด พลังงานหมุนเวียนในแผนพีดีพี ฉบับปัจจุบัน ไม่ถึง 30% ก็ต้องไปดูว่าจะเพิ่มเป็น 45-50% ได้อย่างไร

ส่วนด้านก๊าซธรรมชาติ จะต้องบริหารจัดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จากต่างประเทศ ที่จะมีการนำเข้าหลังเปิดเสรีก๊าซฯระยะที่ 2 มากขึ้น โดยราคาจะต้องไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และอาจพิจารณาการเก็บสำรองLNG เพื่อบริหารความเสี่ยงในช่วงที่ LNG ตลาดโลกมีราคาแพงในฤดูหนาวด้วย

162366472482

ขณะที่ด้านน้ำมัน จะต้องดูเรื่องของไฮโดรเจน ที่เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นหลังเกิดโควิด-19 เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี ไบโอไฮโดรจีเนทดีเซล (Bio - Hydrogenated Diesel ) หรือ BHD เพื่อผลิตแทนดีเซล หรือ น้ำมันเครื่องบิน เป็นต้น รวมถึง เมื่อโรงกลั่นฯพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานยูโร 5 แล้ว จะไปต่ออย่างไร ก็คงจะต้องวางแผนร่วมกันต่อไป

และด้านพลังงานหมุนเวียน จะต้องยกระดับไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ ไบโออีโคโนมี และ 3 การไฟฟ้า จะต้องลงทุนร่วมกันในการพัฒนาดาต้าแพลตฟอร์มจัดทำฐานข้อมูลพลังงานหมุนเวียนของประเทศ ขณะที่แผนอนุรักษ์พลังงาน ก็จะต้องมุ่งเรื่องของการประหยัดพลังงานในภาคอาคารต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการส่งเสริมให้อาคารติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น เป็นต้น

“ผมเชื่อว่าปี 2573 ราคาพลังงานหมุนเวียนจะถูกลงมาก แบตเตอรี่ก็เช่นกัน ก็จะส่งผลให้โครงสร้างค่าไฟในอนาคตถูกลง รวมถึงการนำเข้า LNG Spot ที่เป็นราคาแข่งขัน ก็จะส่งผลดีต่อค่าไฟด้วย”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) ซึ่งจะต้องคำนึงถึงดีมานด์การใช้ไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นด้วย ทั้งจากกลุ่ม IPS ,การใช้ไฟฟ้าในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงรถไฟฟ้า สายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ตอลดจนตัวเลขประมาณการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ที่มีแนวโน้มเติบโตลดลง หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็จะต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน