'วัคซีน' ชี้ชะตาธุรกิจ เอกชนหวั่น 'ภูมิคุ้มกันหมู่' ล่าช้า

'วัคซีน' ชี้ชะตาธุรกิจ  เอกชนหวั่น 'ภูมิคุ้มกันหมู่' ล่าช้า

การปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 ในขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีน รวมถึงจุดฉีดของให้กับผู้ประกันตน ม.33 ที่เลื่อนเช่นกันทำให้มีความกังวลถึงแผนการฉีดวัคซีน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วัคซีนชิโนฟาร์ม ที่ ส.อ.ท.ประสานผ่านทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในล็อตแรกจะได้วัคซันฉีดให้กับแรงงาน 300,000 คน จะเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป ซึ่งจะทยอยฉีดกับโรงพยาบาลที่ประสานความร่วมมือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งเบาภาระการฉีดวัคซีนให้กับรัฐบาล

สำหรับการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศที่รัฐบาลเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 ภาคเอกชนกำลังติดตามผลการของกระจายและการฉีดวัคซีนจะมีความคืบหน้ามากน้อนแค่ไหน โดยขณะนี้ยังไม่ได้สร้างความมั่นใจถึงขั้นที่ภาคเอกชนจะต้องปรับแผนธุรกิจในทันที เพราะอัตราการติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าวันละ 2,000 คน 

ทั้งนี้ การระดมปูพรมฉีดวัคซีนยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ซึ่งกำลังทำแผนจัดสรรวัคซีนที่ชัดเจน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับกระทรวงแรงงานเร่งเข้ามาระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่นและในนิคมอุตสาหกรรมก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคการผลิตของประเทศ

“เอกชนกำลังรอให้การฉีดวัคซีนกระจายอย่างทั่วถึงเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และต้องการรอให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมาอยู่ในหลักร้อยหรือหลักสิบจึงจะขยับทำอะไรได้เต็มที่ หรือเริ่มปรับแผนกลับมาเดินหน้ารองรับการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศได้"

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า หลังการระบาดรอบที่ 2 ในเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว โดยการบริโภคในประเทศและการส่งออกขยายตัว ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวต่มีอัตราเข้าพักดีขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ใหม่ แต่เมื่อเกิดการระบาดรอบ 3 ที่ติดเชื้อจำนวนมากและระยะเวลาในการระบาดเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาระบาดเกือบ 3 เดือนแล้ว จึงทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่งหมด

นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนเพื่อชะลอการระบาดของโรคโควิด-19 ควรดำเนินควบคู่กับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 

ทั้งนี้ ส.อ.ท.มองว่าควรจะนำเงินกู้ก้อนใหม่มาช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบ 3 อย่างเร่งด่วนก่อน เนื่องจากผลสำรวจของ ส.อ.ท. พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนให ญ่ล้วนแต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยรัฐควรเร่งจัดสรรเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งหากจะปล่อยเงินผ่านระบบธนาคารก็ควรจะตั้งเป้าหมายเป็นรายเอสเอ็มอี อย่าตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนเงิน เพราะจะไปกระจุกกับผู้ประกอบการไม่กี่ราย

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทเชื่อมั่นแผนการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนไทย ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ครอบคลุม 70%ของคนไทยภายในปีนี้ โดยจะเห็นว่าปัจจุบันรัฐบาลได้เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงการฉีดวัคซีนได้มากขึ้นทั้งจากเปิดรับลงทะเบียนในหลายช่องทาง และประชาชนยังสามารถไปเลือกจองวัคซีนกับแต่ละโรงพยาบาลได้ด้วย

ขณะที่ในส่วนของหน่วยงานต่างๆก็มีสามารถประสานงานกับจุดฉีดวัคซีนต่างๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้พนักงานเข้าถึงวัคซีนได้สะดวกอีกช่องทางทำให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่าจะได้ฉีดวัคซีนแน่นอน เพียงแต่จะได้คิวช้าหรือเร็ว อีกทั้งเท่าที่ติดตามข้อมูลพบว่าประชาชนในกรุงเทพฯ ที่เสี่ยงการเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อก็ได้รับการเร่งจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงมากขึ้น

“ถ้ารัฐบาลเร่งฉีดต่อเนื่องตามที่ดำเนินการอยู่วันละประมาณ 3-4 แสน ก็น่าจะฉีดได้ครบตามแผน เพียงแต่ยังต้องดูแลเรื่องบริหารจัดการวัคซีนให้เข้าถึงประชาชนได้ต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ ในส่วนของ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ปรับตัวรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในปีนี้ โควิด-19 ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันบริษัทยังเดินหน้าขยายโอกาสการลงทุนต่อเนื่องหลังจากประสบความสำเร็จการเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจนในสหรัฐเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา 2-3 โครงการ คาดว่าจะชัดเจนทยอยประกาศออกมาต่อเนื่อง

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เชื่อมั่นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเจรจาจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนทุกคนที่สมัครใจ มีเป้าหมายจัดหาวัคซีนจำนวน 150 ล้านโดส แบ่งเป็น 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 เพื่อหยุดยั้งการระบาดให้ได้โดยเร็วและเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ประชาชนที่อยู่ในประเทศต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70%และจะจัดหาเพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดส ให้ได้ภายในต้นปี 2565

ทั้งนี้หากรัฐบาลดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ก็จะเป็นผลดีกับประเทศและหลายภาคส่วน ซึ่งบริษัท ฯ เองแม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานบ้าง เนื่องจากต้องกักตัวคนงานหรือในบางช่วงก่อนเข้าไซต์งาน แต่พร้อมปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเคร่งครัด และยังเดินหน้าแผนงานได้ตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เดินหน้าแผนการลงทุนต่อเนื่องและทยอยเข้าร่วมประมูลงานในโครงการต่าง ซึ่งช่วง 4-5 เดือนแรงของปีนี้ ได้ร่วมประมูลงานมูลค่า 10,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ได้งานมา 10%แล้ว โดยครึ่งหลังปีนี้ ก็มีแผนจะเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่เพิ่มอีกกว่า 20,000 ล้านบาท คาดได้งานไม่ต่ำกว่า 15-20% สนับสนุนผลงานปีนี้โตตามเป้าหมาย 20%