'ฟินเทคอินเดีย'เตรียมยึดหัวหาดอาเซียน

'ฟินเทคอินเดีย'เตรียมยึดหัวหาดอาเซียน

“ไพน์ แล็บส์” สตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเงินที่มีมูลค่ามากที่สุดของอินเดียเริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดกระแสการแข่งขันระลอกใหม่เพื่อชิงรายได้จากกลุ่มนักช็อปวัยหนุ่มสาวในช่วงที่การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่บรรเทา

ไพน์ แล็บส์ สตาร์ทอัพ ซึ่งให้บริการตั้งแต่ระบบขายหน้าร้านไปจนถึงค้าปลีก เปิดเผยว่าบริษัทมีมูลค่าจากการระดมทุนเมื่อเดือนที่แล้ว 3,000 ล้านดอลลาร์และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทเริ่มเสนอการบริการในรูปแบบที่เรียกว่า“ซื้อก่อน,จ่ายทีหลัง”แก่บรรดาบริษัทค้าปลีกในมาเลเซีย พร้อมทั้งให้ลูกค้าผ่อนชำระค่าสินค้าและบริการโดยไม่คิดดอกเบี้ยหากใช้บัตรเครดิตของธนาคารที่บริษัททำข้อตกลงทางธุรกิจด้วย

“ผมมองว่าตลาดอาเซียนสำหรับบริษัทฟินเทคอินเดียเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยโอกาส และมีแนวโน้มที่การทำธุรกรรมการเงินอย่างการจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการรูปแบบต่างๆจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”อัมริช ราอู ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ไพน์ แล็บส์ ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย

เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ไพน์ แล็บส์ได้เข้าครอบครองกิจการเฟฟ (Fave)สตาร์ทอัพมาเลเซียที่เสนอโปรโมชั่นสำหรับการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ ทำให้บริษัทขยายเครือข่ายการให้บริการให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยบริษัทมีแผนที่จะเปิดบริการซื้อก่อน,จ่ายทีหลังในประเทศอื่นๆของอาเซียน อย่างไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ผ่านการเป็นหุ้นส่วนกับบรรดาธนาคารในท้องถิ่น

ซีอีโอไพน์ แล็บส์คาดการณ์ว่าการล็อกดาวน์เมื่อไม่นานมานี้ในมาเลเซียอาจจะทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินปรับตัวร่วงลงไปบ้างแต่เขาก็มองแง่ดีว่าในระยะยาว บรรดาผู้บริโภคจะถามหาการบริการจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น

ส่วนซีต้า เซอร์วิสเซส ซึ่งเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่ธนาคารและบริษัทต่างๆ มีมูลค่าทางตลาด 1,450 ล้านดอลลาร์ในการระดมทุน250 ล้านดอลลาร์โดยวิชัน ฟันด์ 2 ของซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป โดยซีต้าวางแผนที่จะใช้เงินจากการระดมทุนได้ในสัดส่วน 70% กับการเพิ่มยอดขาย ทำแผนการตลาดและพัฒนาธุรกิจ รวมถึง ตั้งทีมงานในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งภาวิน ทูระเคีย ซีอีโอซีต้า บอกว่าก่อนจะขยายธุรกิจเข้ามาในตลาดอาเซียน บริษัทมีทีมงานและมีลูกค้าจำนวนหนึ่งในตลาดสหรัฐแล้ว

ขณะที่เรเซอร์เพย์ ซึ่งให้บริการจ่ายเงินสำหรับการบริการทางออนไลน์รูปแบบต่างๆเช่น การส่งอาหารและอีคอมเมิร์ซ ก็กำลังขยายธุรกิจเข้ามาในตลาดอาเซียนด้วยเช่นกัน “ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่เราจะนำเสนอผลิตภัณฑ์การจ่ายเงินที่เราสร้างขึ้นในอินเดียมาต่อยอดธุรกิจในตลาดต่างๆของอาเซียน โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เราวางแผนว่าจะเปิดตัวการบริการในสองประเทศภายในช่วงปลายปีงบการเงินนี้”ฮาชิล มาเธอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอเรเซอร์เพย์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเพิ่มพนักงานประมาณ 50% จากปัจจุบันที่มีพนักงานทั้งหมด 1,400 คน รวมทั้งในภูมิภาคอาเซียน โดยเรเซอร์เพย์เพิ่มเงินทุน 3,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนเม.ย.รวมถึงเงินทุนจากจีไอซี กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของสิงคโปร์

อุตสาหกรรมฟินเทคในอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่องส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวอินเดียจำนวนมากขึ้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยในอินเดียมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนประมาณ 500 ล้านคน มากที่สุดอันดับ2รองจากจีน

เมื่อปี 2559 เกิดกระแสนิยมไม่ใช้เงินสดในอินเดีย และต่อมาเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการช็อปปิ้งทางออนไลน์และการจ่ายเงินด้วยระบบดิจิทัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลของแซนฟอร์ด ซี.เบิร์นสไตน์ ระบุว่า จำนวนการติดตั้งเทอร์มินัลขายสินค้าและบริการหน้าร้านเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 2.5 ล้านในปี 2560 เป็น 5.1 ล้านในเดือนมี.ค.ปี 2563

ด้านเครดิต สวิส ระบุในรายงานเมื่อเดือนก.พ.ว่าช่วงที่สตาร์ทอัพฟินเทคส่วนใหญ่ของอินเดียยังคงประสบภาวะขาดทุนอยู่ การขยายธุรกิจไปนอกประเทศ จึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่สมเหตุสมผลที่สุดและได้รับความสนใจจากบรรดานักลงทุนที่มีฐานการเงินมั่นคง สตาร์ทอัพฟินเทคมีสัดส่วนเกือบ 30% ของมูลค่าโดยรวมของบริษัทยูนิคอร์นอินเดีย

แต่การขยายธุรกิจเข้ามาในตลาดเอเชียก็ทำให้การแข่งขันในตลาดนี้รุนแรงขึ้น เพราะที่ผ่านมา ทั้งแกร็บ และโกเจ็ก ต่างก็ลงทุนอย่างหนักในธุรกิจให้บริการทางการเงินเพื่อดึงฐานลูกค้าขนาดใหญ่ไว้กับตัวเอง