ส่องสถานการณ์ ขยะพลาสติก - ขยะติดเชื้อ 'โควิด-19 ระลอกใหม่'

ส่องสถานการณ์ ขยะพลาสติก - ขยะติดเชื้อ 'โควิด-19 ระลอกใหม่'

'โควิด-19 ระลอกใหม่' ส่งผลให้'ขยะพลาสติก'เพิ่มขึ้น 45% จากสถานการณ์ปกติ จากการควบคุมการระบาด และชีวิตวิถีใหม่ ขณะเดียวกัน 'ขยะติดเชื้อ' หน้ากากอนามัย ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกทม. เกือบ 20 ตันต่อวัน จากสถานพยาบาลและสถานกักตัว

สถานการณ์ 'ขยะพลาสติก' ช่วง 'โควิด-19 ระลอกใหม่' 1 เมษายน 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อน 'โควิด-19' จะพบว่า ช่วงสถานการณ์ปกติ ม.ค. – ธ.ค. 62 คนไทยสร้าง'ขยะพลาสติก'เฉลี่ย 96 กรัม/คน/วัน ถัดมาในช่วง โควิด-19 เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2563 'ขยะพลาสติก'เพิ่มขึ้นกว่า 40% เฉลี่ย 134 กรัม/คน/วัน และล่าสุด ในการระบาดระลอกใหม่ ตัวเลขเดือนเม.ย. 64 'ขยะพลาสติก' เพิ่มขึ้น 45% หรือเฉลี่ย 139 กรัม/คน/วัน

“อรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศไทย มี'ขยะพลาสติก'ราว 2 ล้านตันต่อปี โดยตั้งแต่มีการระบาดของ'โควิด-19' แม้จะไม่มีนักท่องเที่ยว แต่'ขยะพลาสติก'ไม่ได้ลดลงทั้งๆ ที่นักท่องเที่ยวหายไปมาก จากข้อมูล 2563-2564 พบว่า คนไทยมีการใช้พลาสติกมากขึ้น ทำให้'ขยะพลาสติก'เพิ่มขึ้น 45% และคาดว่าจะมากขึ้นไปอีกจากการระบาดของ'โควิด-19'

การสำรวจการจัดเก็บ 'หน้ากากอนามัย' โดย กรมควบคุมมลพิษ ผ่านทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-31 ธ.ค.63 ทั้งหมด 2,690 แห่ง พบว่า มีปริมาณขยะ 17.89 ตัน ซึ่งมีการนำ'หน้ากากอนามัย'ไปทิ้งในบ่อฝังกลบทั่วไป 25% เผาในเตาขยะติดเชื้อ 9% จ้างเอกชนรับกำจัด 8% และรวบรวมให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำจัดถูกวิธี 51%

โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2564 จะมีขยะ'หน้ากากอนามัย'สูงขึ้น เบื้องต้นพบว่า ขณะนี้มีการใช้'หน้ากากอนามัย'จากประชากรทั่วประเทศ แบ่งเป็น 'หน้ากากอนามัย' 42.9 ล้านชิ้น/วัน หรือ 35% ส่วนหน้ากากผ้า 23.1 ล้านชิ้น/วัน หรือ 65%

“หลังจากสถานการณ์โควิดเชื่อว่าเศรษฐกิจคงจะกลับมาเหมือนเดิม และสิ่งที่ตามมาคือ ขยะ วัฒนธรรมของเราเปลี่ยนเรื่องของการเดินทาง ทำงานที่บ้าน การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก คงจะรณรงค์ให้เลิกพลาสติกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทิ้งให้ถูกทางและถูกนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และวิธีกำจัดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • กทม. 'ขยะพลาสติก' เพิ่ม 7.61%

กลับมาดูที่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นพื้นที่ระบาดอันดับ 1 อยู่ในขณะนี้ ข้อมูลจาก สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครระบุว่า แม้ปริมาณขยะของกรุงเทพมหานคร ในภาพรวมลดลงจากปริมาณขยะสูงสุดในรอบ 30 ปี 10,700 ตันต่อวันเมื่อปี 2561 เหลือ 10,500 ตันต่อวัน ในปี 2562 , ลดเหลือ 9,500 ตันต่อวัน ในปี 2563 และ ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2564 เหลือ 8,800 ตันต่อวัน

แต่สัดส่วนของ ‘ขยะพลาสติก’ ในช่วงการแพร่ระบาด 'โควิด-19' กลับเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ โดยเฉพาะสัดส่วนเดือนเมษายน 2564 เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2564 กว่า 7.61% และหากมาดูจำนวนขยะต่อวัน จะพบว่า เมื่อประชาชนต้องทำงานที่บ้าน ปริมาณ ‘ขยะพลาสติก’ เพิ่มขึ้นมากจากปกติ 15% เป็น 25% ของขยะทั่วไปที่เก็บได้ต่อวัน (ขยะทั่วไปเก็บได้วันละประมาณ 8,800 ตันต่อวัน)

ปัจจุบัน กทม. มีศูนย์กำจัดขยะ 3 แห่ง ได้แก่ อ่อนนุช รับได้ 3,100 ตัน/วัน หนองแขม รับได้ 3,600 ตัน/วัน และ สายไหม รับได้ 2,000 ตัน/วัน โดยส่วนใหญ่กว่า 80% นำไปฝังกลบ มีการตั้งเป้าว่าจะลดการฝังกลบลงเหลือ 20% และที่เหลืออีก 80% เป็นการกำจัดโดยเทคโนโลยีแปรรูปใช้ประโยชน์ ในปี 2570

ด้าน ‘ขยะติดเชื้อ’ โดยเฉพาะช่วง 'โควิด-19' รวมถึง ขยะ 'หน้ากากอนามัย' ที่เก็บขน และกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลสนาม Hospitel และสถานที่สำหรับผู้กักตัว เช่น บ้านพักอาศัย สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว เพิ่มมากขึ้นเกือบ 20 ตันต่อวัน

สำนักประชาสัมพันธ์ กทม.เริ่มรณรงค์การแยกทิ้ง 'หน้ากากอนามัย' ที่ใช้แล้วให้ถูกที่ถูกวิธี โดยขอความร่วมมือประชาชน ทิ้ง 'หน้ากากอนามัย' ที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี และไม่ทิ้งปะปนกับมูลฝอยทั่วไปในครัวเรือน พร้อมทั้ง ระบุพิกัดตั้งจุดทิ้ง 'ขยะหน้ากากอนามัย' 1,000 จุด ได้แก่ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต , โรงเรียนสังกัด กทม. , ศูนย์บริการสารารณสุข , ศูนย์กีฬา กทม. , โรงพยาบาลสังกัด กทม. , ศูนย์เยาวชน กทม. , ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) , สถานีดับเพลิง , สวนสาธารณะ , ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) และสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม

สำหรับหน้ากากอนามัยที่ประชาชนแยกทิ้งกับรถเก็บขยะของ กทม. และถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม)กทม. จะเก็บรวบรวมและขนส่งไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และหนองแขม

162333172267

 

  • 4 เดือนแรก 64 'ขยะติดเชื้อ' เพิ่ม 28.4 ตันต่อวัน

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาด'โควิด-19' ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า 'ขยะติดเชื้อ' ตั้งแต่เดือน ม.ค. - เม.ย.2564 เพิ่มขึ้นจากเดิม 22.9% หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 28.4 ตัน/วัน

โดยคาดการณ์แหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ 'โควิด-19' จากโรงพยาบาล 2.85 กิโลกรัม/เตียง/วัน , โรงพยาบาลสนาม 1.82 กิโลกรัม/เตียง/วัน, State Quarantine 1.32 กิโลกรัม/คน/วัน และจากห้องปฏิบัติการ 0.05 กิโลกรัม/ตัวอย่าง

  • 3 สถานการณ์ กำจัด 'ขยะติดเชื้อ'

ทั้งนี้ มีข้อเสนอเพื่อเตรียมการรองรับการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 3 ระดับสถานการณ์ คือ 

1.ระดับสถานการณ์ปกติ มีหน่วยงานรับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อหลัก 14 แห่ง สามารถกำจัดได้ 273.5 ตันต่อวัน และ Onsite Treatment 27 แห่ง กำจัดได้ 27 ตันต่อวัน

2.ระดับสถานการณ์ระดับปานกลาง จัดการใช้ทรัพยากรที่มีศักยภาพเทียบเท่าเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ โดยใช้เตาเผากากของเสียกำจัดได้ 50 ตันต่อวัน และเตาเผาปูนซิเมนต์

3.ระดับสถานการณ์รุนแรง ใช้วิธีการจำกัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยการทำลายเชื้อ และเผาในเตาเผามูลฝอยทั่วไป

  • กำจัด 'ขยะติดเชื้อ' ในครัวเรือน

สำหรับ ‘แนวทางจัดการมูลฝอยติดเชื้อในครัวเรือนหรือชุมชน’ กรณีพบผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง อธิบดีกรมอนามัย แนะว่า หากในพื้นที่ระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงได้ ให้ใช้วิธีการ ดังนี้

1. เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อ (สารโซเดียมไฮโปรคลอไรท์ 5,000 ppm หรือแอลกอฮอล์ 70%) บริเวณ ปากถุงแล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น จากนั้นมัดปากถุงชั้นนอกให้แน่นและฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง

2. เคลื่อนย้ายไปพักยังที่พักที่จัดไว้เฉพาะ เพื่อรอประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้อง

3. หลังจัดการมูลฝอยแล้วล้างมือให้สะอาด ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

สำหรับประชาชนทั่วไปหากต้องทิ้ง 'หน้ากากอนามัย’ ควรถอด 'หน้ากากอนามัย' จากด้านหลัง จากนั้นให้พับหรือม้วนหน้ากากส่วนที่สัมผัสกับใบหน้าเข้าหากันจนมีขนาดเล็ก แล้วมัดด้วยสายรัดให้แน่น หากมีจุดทิ้งหน้ากากโดยเฉพาะ ให้ทิ้งลงในถังหรือภาชนะนั้น แต่หากสถานที่นั้นไม่มีจุดสำหรับทิ้ง 'หน้ากากอนามัย' ให้นำ 'หน้ากากอนามัย'ที่พับแล้วใส่ถุงพลาสติก จากนั้นมัดหรือปิดปากถุงให้แน่น ก่อนทิ้งลงในถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิด และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังการทิ้ง