เช็ค! เปิดเทอม 14 มิ.ย.นี้ 'โรงเรียน' พื้นที่ไหนเปิด-ไม่เปิด 'ภาคเรียน'

เช็ค! เปิดเทอม 14 มิ.ย.นี้ 'โรงเรียน' พื้นที่ไหนเปิด-ไม่เปิด 'ภาคเรียน'

เหลืออีก 4 วัน ก็จะถึงวัน ‘เปิดเรียน’ ของเหล่าน้องๆ วัยคอซอง หลังจาก ‘กระทรวงศึกษาธิการ’ ได้มีการเลื่อน ‘เปิดเรียน’ สถานศึกษา จากเดิมวันที่ 17 พ.ค.2564 มาเป็นวันที่ 1 มิ.ย.2564 และวันที่ 14 มิ.ย.ที่จะถึงนี้

โดยการ 'เปิดเรียน'ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ เรียกได้ว่าเปิดเกือบทุกพื้นที่ แต่ต้องเลือกรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย และลดการแพร่ระบาดของ 'โควิด 19' โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ 'พื้นที่สีแดงเข้ม' 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ ห้ามใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก ยังเปิดเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ เรียนได้เฉพาะออนไลน์ หรือออนแอร์เท่านั้น

ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ 'พื้นที่สีแดง' มี 17 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ประจวบคีรีขันธ์, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, ยะลา, ระนอง, ระยอง, ราชบุรี, สมุทรสาคร, สงขลา และสุราษฎร์ธานี ให้ใช้อาคารสถานที่ฯ เปิดเรียนได้ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

ส่วนที่เหลือ 56 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุม หรือ 'พื้นที่สีส้ม' เปิดเรียนได้ตามมาตรการ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

162330726019

  • 14 มิ.ย. พื้นที่สีแดงเข้ม เรียนออนไลน์เท่านั้น

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่าการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 หากมีสถานศึกษาใดในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ 'พื้นที่สีแดง' และพื้นที่ควบคุม หรือ 'พื้นที่สีส้ม' ประสงค์จะดำเนินการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งนั้น ดำเนินการประเมินความพร้อมตามระบบ Thai Stop COVID Plus ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี 44 ข้อ โดยต้องผ่านทุกข้อ และต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่ออนุญาตให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งนั้นสามารถจัดการเรียนการสอนได้ก่อนวันที่ 14 มิ.ย.

ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ 'พื้นที่สีแดงเข้ม' 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ หากต้องการเปิดสอนก่อน สามารถจัดการเรียนได้ในรูปแบบการสอนออนไลน์ และออนแอร์เท่านั้น ทั้งนี้ถึงแม้โรงเรียนจะเปิดไม่พร้อมกัน แต่ต้องปิดเทอมพร้อมกันในวันที่ 15 ต.ค. 2564 เพื่อไม่กระทบกับปฏิทินการสอบต่างๆ

ทั้งนี้ ‘กระทรวงศึกษาธิการ’ ได้มีการมอบนโยบายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ เตรียมพร้อม ‘เปิดเรียน’ ในวันที่ 14 มิ.ย.2564 นี้ พร้อมย้ำให้เขตพื้นที่วางแผนการเรียนการสอน 5 รูปแบบให้มีประสิทธิภาพ

162330729568

  • 'เปิดเรียน'5 รูปแบบ สถานศึกษาจัดอย่างเหมาะสม

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า ศธ.ได้ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ผ่านมามีการทบทวนและต่อยอดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในช่วง'เปิดเรียน'มีทั้ง 5 รูปแบบ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ และได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการวางระบบติดตามประเมินผล และรายงานผลการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ 'โควิด 19' โดยจะต้องไม่เป็นภาระกับสถานศึกษา และการที่โรงเรียนจะใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน

สำหรับการสอนเป็น 5 รูปแบบ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ คือ 1.On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) 2.On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV 3.On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ 4.On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และ 5.On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น

162330723990

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2564 มีโรงเรียนในหลายพื้นที่เริ่มทยอยเปิดเรียนไปแล้ว โดยได้ขอให้ทางเขตพื้นที่ได้บริหารจัดการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และในวันที่ 14 มิ.ย.2564 นี้จะเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 อย่างเป็นทางการแล้ว ดังนั้น โรงเรียนจะต้องเตรียมความพร้อมจัดการเรียนการสอนใน 5 รูปแบบ ให้เกิดความยืดหยุ่นตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

  • ‘สถานศึกษา’ พร้อม 'เปิดเรียน' 15,951 แห่ง

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่าจากการสำรวจโรงเรียนที่พร้อมเปิดภาคเรียน จำนวน 28,698 แห่ง (ไม่รวมการศึกษาพิเศษ) โดยเป็นโรงเรียนที่เปิดภาคเรียนและจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน (On Site) แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2564 จำนวน 12,571 แห่ง, 'เปิดภาคเรียน' ในวันที่ 14 มิ.ย.2564 จำนวน 15,951 แห่ง และ 'เปิดเรียน' ในช่วงวันที่ 2-13 มิ.ย.2564 อีก 171 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์และบริบทของแต่ละแห่ง

สถานศึกษาส่วนใหญ่จะเรียนด้วยวิธีผสมผสานทั้ง 5 รูปแบบการสอน (On Site – On Air – On Hand – On Demand – Online) ไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งโดยเฉพาะ แม้แต่โรงเรียนที่เปิดแบบ On Site เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของครูและนักเรียนเป็นสำคัญ ไม่ได้เอาโรงเรียนหรือครูเป็นฐาน หรือครูกำหนดให้ เพราะที่ผ่านมามีปัญหานักเรียนไม่มีอุปกรณ์ แต่ครั้งนี้มีการสำรวจตามความพร้อมของนักเรียน และเป็นไปตามความสมัครใจของนักเรียนในการเรียนตามช่องทางต่าง ๆ

162330733251

โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เช่น จำนวนครูสอนออนไลน์จากบ้านไปยังเด็ก หรือเด็กที่เรียนออนไลน์จากบ้าน เพื่อประสานกับ กสทช.ช่วยเหลือดูแลค่าอินเทอร์เน็ตให้กับครูและนักเรียนต่อไป อีกทั้งขณะนี้ สพฐ.ได้แจ้ง กสทช. ขอรับการสนับสนุนให้มีการเรียนผ่าน On Air เพิ่มเติมทางช่อง TPBS, ททบ.5 และช่อง 9 MCOT แล้ว ซึ่งจะมีรายการของ สพฐ. ตั้งแต่เดือนมิ.ย.นี้เป็นต้นไป

ส่วนโรงเรียนประจำ ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เข้าไปช่วยดูแลด้านสุขอนามัยของนักเรียนในการเตรียมการ 'เปิดเรียน' เพื่อคัดกรองและแนะนำการปฏิบัติตัวภายในโรงเรียน พร้อมทั้งให้คำแนะนำกับครูอนามัยในโรงเรียนประจำ โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ที่มีนักเรียนเดินทางมาจากหลากหลายพื้นที่ จะต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยหากเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ต้องจัดเป็นกลุ่มและประเมินสถานการณ์ 14 วัน หลังจากนั้นค่อยเข้าสู่ระบบการเรียนปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ห้ามพลาด!! 'เปิดเทอม' รอบนี้ รับมืออย่างไรให้ดีกว่าเดิม?

                      ประกาศ!! มหาวิทยาลัย 'เปิดเทอม' ตั้งแต่ 14 มิ.ย.เป็นต้นไป

                      เช็ค!! แนวปฎิบัติ 'เก็บค่าเทอม' ลดภาระผู้ปกครองยุคโควิด

  • โรงเรียนปรับใช้เสริมทักษะชีวิตนักเรียน

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในการเรียนการสอน 5 รูปแบบดังกล่าวนั้นหากโรงเรียนไหนจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้ดี อยากให้สร้างเป็นโมเดลต้นแบบ เพื่อนำมาเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปปรับใช้ได้ด้วย รวมถึงอยากให้มีการต่อยอดการเรียนการสอนใน 5 รูปแบบนี้ด้วยการเสริมทักษะชีวิตของนักเรียน

โดยให้นำการใช้ชีวิตประจำวันของนักเรียนมาเชื่อมโยงกับเนื้อหาการเรียน เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย การมีเจลล้างมือ สิ่งเหล่านี้สามารถนำต่อยอดกับการเรียนวิชาสุขศึกษาได้ เป็นต้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิตจกสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น ส่วนการวัดและประเมินผลของนักเรียนในการเรียนได้

“การจัดการศึกษาในวิฤติ 'โควิด 19' ยอมรับว่าโรงเรียนแต่ละแห่งมีความหลากหลายในการจัดการเรียนการสอนจึงทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ ดังนั้นฝากให้ ผอ.สพท.ดูเรื่องการจัดการเรียนสอนให้เหมาะสมด้วย อีกทั้งในการจัดการเรียนการสอนในวิกฤติครั้งนี้ อยากให้ครูบริหารจัดการเรื่องความเครียดของเด็ก เพราะเมื่อเด็กเกิดความเครียดจะส่งผลให้การเรียนไม่ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งครูจะต้องประยุกต์การจัดการเรียนที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กไม่เกิดความเครียดจนเกินไป เด็กต้องมีความสุขในการเรียนรู้ หากเด็กไม่มีความสุข ก็ถือว่ายังไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ได้อย่างแท้จริงน.ส.ตรีนุช กล่าว

162330793368

ดังนั้น ในส่วนนี้ก็จะไปเชื่อมโยงกับการจัดทำ หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการปรับปรุงเพื่อให้พร้อมใช้ในปีการศึกษา 2565 โดยหลักสูตรฐานสมรรถนะจะมีเรื่องของการเรียนแบบ Active Learning ที่จะเชื่อมโยงกับทักษะชีวิต ซึ่งในโรงเรียนหลายแห่งมีพื้นที่การเกษตร ก็จะได้ทำในส่วนนี้อยู่แล้ว คุณครูสามารถนำกิจกรรมเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับการสอนได้ เช่น คุณครูอาจจะนำสถานการณ์โควิด 19 เข้ามาเชื่อมโยงให้เด็กเขียนเรียงความ หรือเล่าเรื่องราวว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างไร เด็กได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปกลุ่มสาระวิชาต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา เป็นต้น

  • เน้นความปลอดภัยในสถานศึกษาป้องโควิด

ส่วนเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษา'เปิดเรียน'ศธ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของครูและนักเรียน แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ 'โควิด 19' จึงจะเน้นในเรื่องความปลอดภัยทางด้านนี้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยดำเนินการตามมาตรการของ ศบค.อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะโรงเรียนที่จะต้องเปิดเรียนแบบ On Site ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตพื้นที่ ได้กำชับกับทางโรงเรียนให้ดำเนินการตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัดด้วย สิ่งนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองได้ เช่นเดียวกับเรื่องของการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง ในสถานการณ์เช่นนี้ ศธ.มีความเข้าใจ และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ปกครอง

  • ทุกคนต้องช่วยกันจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิ

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากว่าเราจะยังคงต้องอยู่กับ 'โควิด 19' ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมในเรื่องของการจัดการเรียนรู้แบบต่าง ๆ ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ทั้งคุณครู บุคลากร ผู้บริหารโรงเรียน รวมถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่องและอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้น

162330795083

ในช่วงเวลานี้ เราจึงต้องช่วยกันคิดว่าจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร เพราะทุกคนคือฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษาต่อไปได้ เด็กคืออนาคตของชาติ หากเราขาดความร่วมมือร่วมใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ เราก็คงไม่อาจก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกันได้ ในส่วนนี้ ศธ.พยายามจะช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ทำได้ หากมีประเด็นอะไรที่ต้องการจะทำ หรือไม่เข้าใจแนวคิดในด้านใด ทางกระทรวงยินดีที่จะช่วยกันสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้สถานศึกษาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พิจารณารูปแบบการเรียนการสอน โดยยึดหลักความปลอดภัยสูงสุดของเด็ก ครู ผู้ปกครองเป็นที่ตั้ง นักเรียนทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ ไม่บังคับว่าเด็กทุกคนในโรงเรียนเดียวกันต้องเรียนเหมือนกัน การตัดสินใจใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ขออนุญาตกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ถูกต้อง และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

162330797095