‘สมคิด’เชื่อเปิด ‘ยินยอม’ให้ข้อมูลส่วนบุคคล บนแอพฯ ‘เป๋าตัง’คนไทยได้ประโยชน์!

‘สมคิด’เชื่อเปิด ‘ยินยอม’ให้ข้อมูลส่วนบุคคล บนแอพฯ ‘เป๋าตัง’คนไทยได้ประโยชน์!

กรุงไทยประกาศยกเลิกระบบการให้ยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนแอพฯเป๋าตัง เพื่อป้องกันสับสน หลังโซเชียลกระหน่ำหนัก ด้าน“สมคิด”ผู้พัฒนาแอพฯยันการเปิดข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล ชี้แอพฯเป๋าตังคนใช้อันดับหนึ่งของประเทศกว่า 30 ล้านคน

       หลังมีข้อท้วงติงผ่านโลกโซเชียลอย่างร้อนแรง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับ แอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย ที่การเปิดให้ผู้ใช้งาน “เป๋าตัง” มีการเลือก ยินยอม และ ไม่ยินยอม ในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล 3 ข้อด้วยกัน โดยข้อ 1 และ ข้อ 2 เพื่อนำไปใช้ในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ผลิตภัณฑ์ และบริการ รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล (Data analytics)ของธนาคาร กลุ่มธุรกิจทางการเงินและบริษัทในเครือของธนาคาร รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจและนิติบุคคลอื่นๆ

      ทั้งนี้ กรณีที่เกิดดราม่าในโซเชียล คือ เมื่อ มีการกด “ยินยอม”เปิดเผยข้อมูล ในข้อ 1 และ 2แล้ว ลูกค้าจะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไข หรือกด “ไม่ยินยอม”ได้อีก ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าลักษณะนี้อาจเข้าข่าย “บังคับ” ทางอ้อม ให้ยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาค่อนข้างมาก

      ขณะเดียวกัน สำหรับข้อที่ 3 มีการให้ลูกค้า กดยินยอม และ ไม่ยินยอม เพื่อใช้สำหรับยืนยันตัวตนของลูกค้า เพื่อใช้ในการเปิดใช้แอพฯเป๋าตัง หรือรับสวัสดิการของรัฐ ผ่านแอพฯเป๋าตัง

.      ซึ่งหากไม่ “ยินยอม” ผู้ใช้บริการก็ไม่สามารถใช้บริการ แอพฯเป๋าตังได้

กรุงไทยถอยยอมเลิกระบบข้อมูล

     จากข้อร้องเรียนดังกล่าว นำมาสู่การชี้แจงของธนาคารกรุงไทย(KTB) ถึง 2 ฉบับ โดยเฉพาะล่าสุด ที่ประกาศชี้แจงออกมาในวันที่ 8 มิ.ย. โดยระบุว่า กรณีที่ธนาคารได้อัพเดตแอพพลิเคชันเป๋าตัง เวอร์ชั่นล่าสุด โดยกำหนดให้ผู้ใช้งาน “เลือก”ให้ความยินยอมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อใช้ในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร กลุ่มธุรกิจการเงินและพันธมิตร

       รวมถึงนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ พัฒนา ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานแอพฯ เป๋าตัง และเพื่อใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตนในการเข้าร่วมโครงการภาครัฐนั้น พบว่า ผู้ใช้งานแอพฯเป๋าตังมีความกังวลเกี่ยวกับระบบและรูปแบบการให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูล

       ดังนั้น เพื่อความสบายใจของผู้ใช้งาน และความโปร่งใส ดังนั้น ธนาคารกรุงไทยจึงได้ยกเลิกระบบการให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลทั้ง 3 ส่วนออกจากแอพฯเป๋าตัง สำหรับผู้ใช้งานที่ได้กดให้ความยินยอมไปแล้ว ระบบจะทำการยกเลิกให้โดยอัตโนมัติ ตั้งแต่คืนวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา

       ทั้งนี้ ธนาคารจะเร่งพัฒนาปรับปรุงระบบและรูปแบบการให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการเข้าร่วมโครงการภาครัฐ เพื่อตรวจสอบยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้มีสิทธิตามเกณฑ์ของโครงการภาครัฐจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ และทุจริตในโครงการภาครัฐ ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานตามวัตถุประสงค์ และการเชื่อมโยงที่จำเป็นของแต่ละโครงการ

        โดยธนาคารยึดหลักความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) แม้ว่าจะมีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปก็ตาม และเคารพในสิทธิส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด

ยันไม่มีการขาย“ข้อมูล”

    ด้านนายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของการพัฒนาแอพฯเป๋าตัง กล่าวว่า

      กรณีที่เกิดกระแสข่าวเกิดขึ้น เกี่ยวกับการยินยอม และไม่ยินยอม ในการให้ข้อมูลส่วนบุคคล ถือเป็นหลักตามกฎหมายอยู่แล้ว ที่ผู้ให้บริการต้องมีการให้ผู้ใช้งานกดยินยอม หรือไม่ยินยอมข้อมูล เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในขอบเขตที่กล่าวมาอย่างรัดกุมเคร่งครัด และระมัดระวังสูงสุด

      ดังนั้นยืนยันได้แน่นอนว่า แม้ผู้ใช้บริการจะกดยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลส่วนบุคคลส่วนนี้ จะไม่ถูกนำไปใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์อื่นๆที่ระบุไว้ หรือขายข้อมูล หรือเปิดเผยข้อมูลให้บริษัทภายนอก เพราะธนาคารต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและรักษาฐานข้อมูลลูกค้าให้ปลอดภัยมากที่สุด

เชื่อเป็นประโยชน์ผู้บริโภค

      อย่างไรก็ตาม มองว่า แม้ผู้ใช้งานจะมีการกด “ยินยอม” เปิดเผยข้อมูล ทั้งในอดีต และอนาคต ก็เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานทั้งสิ้น เพราะโลกอนาคต จะมีการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านโลกดิจิทัล และทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลเกือบทั้งหมด การเจอหน้าระหว่างพนักงานและลูกค้ามีโอกาสน้อยลง

       ดังนั้นเพื่อให้การตอบโจทย์การให้บริการทางการเงินที่ครบถ้วน รวดเร็ว สะดวกปลอดภัย การมีข้อมูลบนดิจิทัลเหล่านี้ จะช่วยให้ลูกค้ามีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายมากขึ้น

      เช่น กรณีที่ลูกค้า ต้องการสินเชื่อ แม้ลูกค้าไม่ได้เดินมาขอสินเชื่อกับธนาคาร แต่ธนาคารรู้ความต้องการของลูกค้า ผ่านข้อมูล ผ่าน Data ที่มีอยู่ ธนาคารก็สามารถตอบโจทย์ โดยการนำเสนอสินเชื่อให้ลูกค้าทันที อย่างทันเวลา ทันกาลเมื่อจำเป็นต้องใช้ เป็นต้น

       ขณะเดียวกัน การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ให้แพลตฟอร์มต่างๆ อีกด้าน ถือเป็นการยกระดับแพลตฟอร์มของไทย ให้สามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ เพราะบางแอพฯในต่างประเทศ ไม่ได้มีข้อห้ามเหล่านี้

      ดังนั้นการจะแข่งขันกับแอพฯหรือแพลตฟอร์มต่างประเทศได้ จำเป็นที่ต้องมีแหล่งรวมข้อมูล เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มของไทยให้ก้าวหน้ามากขึ้น

      อีกด้านที่จะเป็นประโยชน์จากการมีแพลตฟอร์มนี้ คือ แพลตฟอร์มเป๋าตัง จะสามารถเป็นแพลตฟอร์มกลางของประเทศ ที่คนไทยได้ประโยชน์มากในอนาคต เพราะปัจจุบัน ไม่มีแพลตฟอร์มใด

      โดยเฉพาะแพลตฟอร์มทางการเงินที่มีการรวมผู้ใช้งานได้จำนวนมาก เป็นแหล่งเดียวกัน ทำให้การเชื่อมต่อข้อมูล การช่วยเหลือประชาชนต่างๆ ทำได้ยาก

คนใช้แอพกว่า 30 ล้านคน

    ดังนั้นหากอนาคตแอพฯเป๋าตัง จะสามารถเปิดกว้าง เป็นไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์มได้ ก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยในอนาคตค่อนข้างมาก

     ทั้งนี้ หากดูแอพฯเป๋าตัง ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ถือเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งของประเทศ ที่มีผู้ใช้งานสูงสุดกว่า 30 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหากเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้คาดว่าสิ้นปีนี้จะเห็นยอดการใช้แอพฯเป๋าตังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กว่า 40 ล้านคนในปีนี้

     “อนาคตเราอาจเห็นแอพฯเป๋าตัง ขึ้นไปสู่ 40-50 ล้านคนได้ ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยมาก เพราะวันนี้แพลตฟอร์มต่างๆมีการกระจายตัวกันจำนวนมาก เหล่านี้ไม่ได้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม แต่หากคนไทยมีศูนย์ข้อมูลกลาง การช่วยเหลือและตอบโจทย์ต่างๆจะง่ายขึ้น หรืออนาคตอาจนำไปสู่การเป็นโอเพ่นแพลตฟอร์ม ที่เปิดให้อีโควซิสเต็มอื่นๆเข้ามาเชื่อมข้อมูลได้ เหมือนสร้างเมกะบางนาที่คนก็ไม่อยู่ได้ โดยไม่ต้องสร้างเอง”

ผ่าคุณสมบัติแอพฯเป๋าตัง

       สำหรับคุณสมบัติ แอพฯเป๋าตัง สามารถใช้งานทางการเงินได้หลายรูปแบบ เป็นเครื่องมือสำคัญของภาครัฐในการจัดทำโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การรผูก G-Wallet เพื่อใช้จ่ายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 โครงการหลัก คือ เราชนะ,ม33 เรารักกัน ,คนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน

      นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเครื่องมือโอนเงิน เติมเงินโทรศัพท์มือถือ จ่ายค่าน้ำ/ไฟ เป็นวอลเล็ต สบม.เพื่อลงทุนพันธบัตรบาทเดียวของกระทรวงการคลัง เป็น Health Wallet ใช้สิทธิฯสุขภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และล่าสุดโครงการไทยร่วมใจ ที่ให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีน