อสังหาฯแนะสกัดคลัสเตอร์แคมป์คนงาน ส่งรถโมบายฉีดวัคซีนแรงงานต่างด้าว

อสังหาฯแนะสกัดคลัสเตอร์แคมป์คนงาน  ส่งรถโมบายฉีดวัคซีนแรงงานต่างด้าว

แคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในคลัสเตอร์ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องมองหาทางออกจะทำอย่างไรให้รอดพ้นจากวิกฤตินี้ ?

อธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประมาณการแรงงานต่างด้าวภายในไซต์งานก่อสร้าง คาดไม่น้อยกว่า 5 แสนคนทั่วประเทศ “ลดลง” จากก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เพราะส่วนหนึ่งมีการเดินทางกลับประเทศ โดยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งตามไซต์งานก่อสร้าง จะเป็นแรงงานต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 80% บางจังหวัดใช้แรงงานต่างด้าวผสมกับแรงงานไทย เพราะต่างจังหวัดจะมีแรงงานท้องถิ่นคิดเป็นสัดส่วน 50:50 ยกเว้นจังหวัดท่องเที่ยว มีสัดส่วนคล้ายกรุงเทพฯ อาทิ ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต เนื่องจากมีภาคอุตสาหกรรม และท่องเที่ยวดึงแรงงานคนไทยไปทำงาน ส่วนหนึ่งถ้าเลือกได้แรงงานไทยจะไม่ทำงานก่อสร้าง

สถานการณ์โควิดแคมป์คนงาน วิธีการให้หยุดการทำงานน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด!! แต่ก็จะทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้น ดีที่สุด หากมีโรคระบาดแล้ว ต้องแยกคนป่วยออกจากคนปกติ

แน่นอนว่า จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการอสังหาฯ ผู้รับเหมา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญหน่วยงานภาครัฐจะต้องเป็น “คนนำ” ด้านสาธารณสุข แต่กรณีที่ยัง “ไม่มี” และเหตุการณ์แพร่ระบาดที่ลุกลามอย่างรวดเร็วนั้น ต้องทำงานเชิงรุกด้วยการส่ง “รถโมบาย” เข้าไปทำการตรวจคัดกรองทันที ไม่ใช่รอให้เกิดการแพร่ระบาด

“ต้องพูดตรงๆ ว่าแคมป์คนงานก่อสร้างไม่ใช่โรงแรม เป็นไปไม่ได้ที่จะไปแยกห้องพักเดี่ยว เพราะพื้นที่ไม่เพียงพอ ฉะนั้นโอกาสที่อยู่หลายๆ คนในห้องเดียวกันมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวจะอยู่ร่วมกัน แต่ถ้าไม่ใช่ครอบครัวเดียวกันเราจะจับคู่ผู้ชายอยู่กับผู้ชาย ผู้หญิงจะอยู่กับผู้หญิง รูปแบบจะเป็นลักษณะเรือนพักแถวที่เป็นโครงสร้างชั่วคราว”

อธิป กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาก่อนเกิดโควิด-19 ผู้ประกอบการอสังหาฯ ส่วนใหญ่มีการพัฒนา “ไวท์แคมป์” ให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น มีการทำที่ระบายน้ำ ห้องสุขาห้องอาบน้ำ ที่ทิ้งขยะจากสมัยก่อนที่อยู่กันแบบแออัด นอกจากนี้ยังมีที่ดูแลเด็กเล็กในแคมป์เสมือน “เดย์แคร์” โดยจ้างให้ภรรยาของคนงานในแคมป์คอยดูแลเด็กๆ ในแคมป์เป็นรายวัน ปกติเวลาที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ พัฒนาโครงการ จะกำหนดพื้นที่ทำแคมป์ ออกแบบผังพื้นที่แคมป์และรูปแบบการสร้างแคมป์เป็นสัดส่วน

“ปัญหาที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิดน่าจะมาจากการดื่มน้ำในแก้วร่วมกัน กรณีถ้ามีคนติดเชื้อโควิดมา ปัจจุบันจึงใช้วิธีให้คนงานนำขวดน้ำเปล่าขนาดลิตรครึ่ง แล้วให้ต่างคนต่างไปกรอกจากแทงก์น้ำดื่มที่กรองแล้วพกไปดื่ม หรือไม่ต้องมีคนคอยเติมน้ำให้คนงานเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ตรงนี้ในส่วนบริษัท (ศุภาลัย) ได้ดำเนินการและได้ให้คำแนะนำไปผู้ประกอบการรายอื่นไปแต่ก็ไม่สามาถบอกได้ว่าบริษัทต่างๆ ขนาดกลางเล็กทำแบบนี้หรือไม่”

ส่วนมาตรการที่เข้ามาควบคุมการแพร่ระบาดนั้น หน่วยงานภาครัฐควรที่เข้ามาหารือกับผู้ประกอบการอสังหาฯ และ ผู้รับเหมา เพื่อหาทางออกที่สามารถทำได้จริงร่วมกัน ที่สำคัญต้องยอมรับว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ออกมาตรการไม่เคยอยู่ในพื้นที่ภาคสนาม บางมาตรการที่ออกมาอาจไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง เหมือนกับที่กำหนดว่า ร้านอาหารโต๊ะหนึ่งนั่งกินได้คนเดี่ยว ในทางปฏิบัติไม่ตอบโจทย์! สุดท้ายขายไม่ดีเหมือนเดิม จริงต้องอนุโลมว่า คนที่ครอบเดียวกันมาสามารถนั่งกินด้วยกันได้อยู่ดี

สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานต่างด้าวในกรุงเทพฯ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด

"ผมเสนอว่าให้นำรถบัสโมบายยูนิตสำหรับฉีดวัคซีนทำให้ง่ายขึ้นหรือไปที่แคมป์คนงาน ดีกว่าให้คนงานต่างด้าวเดินทางรถสาธารณะไปยังศูนย์ฉีดวัคซีน ส่วนการลงทะเบียนให้นายจ้างทำล่วงหน้าไปเลย ไปถึงถือใบ Identify อย่างเดียวขึ้นไปฉีดบนรถจะได้ไม่ต้องเดินทาง”