'ปฏิรูปภาษีธุรกิจโลก'ข้อริเริ่มที่ต้องไม่หยุดแค่'แนวคิด'

'ปฏิรูปภาษีธุรกิจโลก'ข้อริเริ่มที่ต้องไม่หยุดแค่'แนวคิด'

'ปฏิรูปภาษีธุรกิจโลก'ข้อริเริ่มที่ต้องไม่หยุดแค่'แนวคิด' ขณะนักวิเคราะห์ระบุมีแนวโน้มที่รัฐบาลอีกหลายประเทศจะคัดค้าน โดยเฉพาะประเทศที่เก็บภาษีในอัตราต่ำและใช้ข้อได้เปรียบด้านภาษีดึงดูดให้บริษัทยักษ์ใหญ่เข้าไปตั้งสำนักงาน

เมื่อวันเสาร์(5 มิ.ย.)มีข่าวใหญ่ที่สร้างความหวังและสร้างแรงกระเพื่อมแก่วงการธุรกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก เมื่อรัฐมนตรีคลังจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม7 ประเทศ(จี7) บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อปฏิรูประบบภาษีโลกให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล และเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทต่างๆ จะเสียภาษีอย่างถูกต้องในสถานที่ที่เหมาะสม โดยข้อตกลงนี้ครอบคลุมถึงการเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกอย่างน้อย 15% จากบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศนั้นๆ รวมถึงปราบปรามการหลบเลี่ยงภาษี

นอกจากนี้ กลุ่มจี7 ยังบรรลุข้อตกลงที่จะดำเนินการอย่างเหมาะสมระหว่างการใช้กฎหมายภาษีระหว่างประเทศใหม่และการยกเลิกภาษีบริการดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งภาษีบริการดิจิทัลเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ และสเปน ในการทำให้บริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่ระดับโลกจ่ายภาษีอย่างยุติธรรมในประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ แม้ว่าในประเด็นนี้ สหรัฐยังคงเห็นต่างอยู่ คือเห็นว่า มุ่งเป้าไปที่บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐอย่างไม่เป็นธรรม

“เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐ มีความเห็นว่า การเก็บภาษีขั้นต่ำนี้จะยุติปัญหาที่บริษัทต่างๆ ย้ายเข้าไปดำเนินการธุรกิจในประเทศที่เรียกเก็บภาษีต่ำ และจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกขยายตัว รวมทั้งจะทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับโอกาสที่เสมอภาค และส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ สามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น

ส่วน"พอล ชาน" รัฐมนตรีคลังของฮ่องกง มีความเห็นว่า ข้อตกลงเพื่อปฏิรูประบบภาษีโลกที่ได้รับการเห็นชอบจากบรรดารัฐมนตรีคลังของกลุ่มจี7 ครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายผ่อนปรนภาษีบางส่วนที่รัฐบาลฮ่องกงเสนอให้กับหลายภาคธุรกิจ

“เราต้องการที่จะกำหนดเรียกเก็บอัตราภาษีในระดับต่ำเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาในบางภาคธุรกิจ เมื่อเป็นเช่นนี้ ฮ่องกงก็จะไม่สามารถใช้นโยบายกำหนดอัตราภาษีในระดับต่ำเพื่อการแข่งขันได้ เพราะฉะนั้นเราอาจต้องพิจารณาหาหนทางอื่นๆ เพิ่มเติม” รมว.คลังฮ่องกง กล่าว

นอกจากนี้ ชานยังมีความเห็นว่า การปฏิรูประบบภาษี ซึ่งนำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี) จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ของระบบภาษีระดับโลก และฮ่องกงเองจะต้องมุ่งรักษาความเรียบง่ายของระบบภาษีฮ่องกงเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ต่อไป

แต่การบรรลุข้อตกลงของจี7เมื่อวันเสาร์ ก็เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของผู้สังเกตุการณ์จำนวนมาก เนื่องจาก"อังเกล เกอร์เรีย" เลขาธิการโออีซีดีเพิ่งคาดการณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่าทั่วโลกจะยังไม่บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีตามข้อเสนอของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐจนกว่าจะถึงเดือนต.ค.ปีนี้

162320057142

"ในช่วงแรกนั้น การเจรจาเรื่องข้อเสนอของสหรัฐมีความคืบหน้าอย่างมาก มีการคาดการณ์ว่าทุกฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงในการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มจี7 ในเดือนมิ.ย. แต่มีหลายประเทศซึ่งรวมถึงสหรัฐเอง จำเป็นต้องทบทวนรายละเอียดด้านกฎหมายก่อนที่จะมีการทำข้อตกลง ซึ่งทำให้เราคาดการณ์ว่า การบรรุข้อตกลงในเรื่องนี้จะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงเดือนต.ค.ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศจี7 จะจัดการประชุม และจากนั้นจะตามด้วยการประชุมกลุ่มจี20"เลขาธิการโออีซีดี กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทชั้นนำจำนวนมากอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายหลบเลี่ยงการเสียภาษีด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ตั้งบริษัทสาขาในประเทศที่มีการเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตราต่ำ แม้ว่าบริษัทจะมีผลกำไรส่วนใหญ่มาจากยอดขายในประเทศอื่น
การบรรลุข้อตกลงของกลุ่มจี 7 ซึ่งประกอบไปด้วย สหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น จะช่วยให้รัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นและช่วยให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถปลดหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังรับมือกับวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกลุ่มจี 7 จะผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ นำมาตรการเหล่านี้ไปใช้ รวมถึงกลุ่มจี 20 ที่จะมีการประชุมร่วมกันในเดือนหน้า

แต่ถึงแม้จะเป็นแผนริเริ่มที่มีเจตนาดีเป็นที่ตั้ง แต่นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นว่า ความพยายามนี้อาจเป็นแค่แนวคิด ไม่ได้ถูกผลักดันจนเป็นรูปธรรม นำมาปฏิบัติกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวทั่วโลก โดย“เอลเก เอเซน” นักวิเคราะห์นโยบายจากศูนย์นโยบายภาษีโลก ของแท็กซ์ ฟาวน์เดชัน(Tax Foundation) มีความเห็นว่า “มีแนวโน้มที่รัฐบาลอีกหลายประเทศจะคัดค้าน โดยเฉพาะประเทศที่เก็บภาษีในอัตราต่ำและใช้ข้อได้เปรียบด้านภาษีดึงดูดให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐเข้าไปตั้งสำนักงานภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศไอร์แลนด์ ที่เก็บภาษีนิติบุคคลในอัตรา 12.5%”

หากประเทศต่างๆที่ใช้มาตรการภาษีดึงดูดบริษัทต่างชาติไม่เห็นด้วย และแรงผลักดันเรื่องนี้จากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมีไม่มากพอ ข้อตกลงที่เกิดขึ้นก็มีผลเป็นเพียงความเห็นชอบร่วมกันเท่านั้น ไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงจนเห็นผลได้

ขณะที่ "เจฟฟรีย์ แซกส์" หัวหน้ากลยุทธ์การลงทุนในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ของซิติ ไพรเวท แบงก์ มองว่า ประเด็นนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ปล่อยวางได้ เพราะผู้นำทั่วโลกต้องใช้เวลาพักใหญ่ในการเจรจาหารือกันเพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญคือ ความรวดเร็วในการบังคับใช้ระบบภาษีนิติบุคคลอย่างเป็นทางการ และผลกระทบโดยตรงที่จะมีกับรายได้ของบริษัทว่าจะมากน้อยแค่ไหน

ที่ผ่านมา ซิติคาดการณ์ว่า บริษัททั่วโลกจะมีรายได้ต่อหุ้นเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 30% ในปีนี้ และเพิ่มขึ้นประมาณ 12% ในปีหน้า ซึ่งแนวโน้มการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลที่จี7กำลังผลักดันอาจทำให้ธนาคารต้องปรับลดการคาดการณ์ลง

162320059670