พปชร.ชิง‘จังหวะแค้น’ เรียกใช้‘เรืองไกร’แก้เกมฝ่ายค้าน

 พปชร.ชิง‘จังหวะแค้น’ เรียกใช้‘เรืองไกร’แก้เกมฝ่ายค้าน

บทบาทของ “เรืองไกร” ในช่วงที่ผ่านมา แม้จะถูกมองว่าเป็นเพียง “นักร้อง(เรียน)” รายวัน แต่พปชร.ก็ต้องมีไว้ใช้สอย

“การเมืองไทยไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” วลีนี้ยังสามารถใช้ได้กับการเมืองในห้วงนี้ ท่ามกลางแรงกระเพื่อมโดยเฉพาะภายในขั้วรัฐบาล ที่เริ่มเห็นเค้าลางว่าการ “ยุบสภา” น่าจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน นับจากนี้แน่นอน

ไม่แปลกที่ความเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคการเมืองน้อยใหญ่เวลานี้ ต่างเร่งเครื่องจัดทัพรับศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะค่ายพลังประชารัฐ ที่เวลานี้เปิดเกมดูด ส.ส. นักการเมืองเข้าสังกัด เติมแต้มต่อเตรียมพร้อมในศึกที่กำลังจะมาถึง

หนึ่งในนั้นมีชื่อของ “นักร้อง(เรียน)” อย่าง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ที่ล่าสุดสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐรวมอยู่ด้วย 

ย้อนที่มาที่ไป “เรืองไกร” เริ่มเป็นที่รู้จักและปรากฏเป็นข่าวในช่วงต้นปี 2549 ในฐานะฝ่ายปฏิปักษ์ “ค่ายชินวัตร” หลังยื่นฟ้องกรมสรรพากรด้วยข้อกล่าวหาสองมาตรฐาน กรณีตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ ขายหุ้นกลุ่มบริษัท ชินคอร์ป โดยไม่ต้องเสียภาษี

จากกรณีนี้ ทางฝ่ายพรรคไทยรักไทย และกลุ่มผู้สนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวหาว่าเรืองไกรมีความสนิทสนมกับ “คุณหญิงเป็ด” จารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในขณะนัั้น

ในปีเดียวกัน เรืองไกรลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 19 เม.ย.2549 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ก่อนที่ต่อมา เรืองไกรจะได้รับคัดเลือกให้เป็น ส.ว.สรรหา เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2551 ซึ่งเรืองไกรจัดอยู่ในกลุ่ม “40 สว. ” กลุ่มเดียวกับ ไพบูลย์ นิติตะวัน  สมชาย แสวงการ  รสนา โตสิตระกูล เป็นต้น

หลังจากนั้นเขาปรากฏเป็นข่าวอีกครั้งในเดือนพ.ค.2551 ยื่นฟ้องร้องอดีตนายกฯ “สมัคร สุนทรเวช” กรณีจัดรายการโทรทัศน์ชิมไป บ่นไป อันเข้าข่ายกระทำความผิดมาตรา 267 แห่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับ50)ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินให้นายกฯ สมัครพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 9 ก.ย.ปีเดียวกัน

จากการยื่นตรวจสอบหลายเคสที่เกิดขึ้น ทำให้เขาได้รับฉายาว่า “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์”

ทว่า ภายหลังแตกคอกับกลุ่ม “40ส.ว.” ที่ว่ากันว่า นอกจากความไม่ลงรอยกันภายในกลุ่ม บวกกับจุดยืนที่เดินกันละทิศละทางแล้ว น่าจะมีเบื้องลึกเบื้องหลัง ด้วยข้อต่อรองในเรื่องคดีความต่างๆ ที่มีการฟ้องร้องกันไปมาในเวลานั้น

กลางเดือน ก.พ.2553 เรืองไกรซึ่งเคยอยู่ฝั่งตรงข้ามขั้วทักษิณ กลับปรากฎตัวร่วมเสวนากับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หลายต่อหลายครั้ง ท่ามกลางเสียงครหาถึง “จุดยืน” ที่เปลี่ยนไปของตัวเขาเอง 

หลังการพลิกขัั้วมายืนอยู่ฝั่ง “ค่ายชินวัตร” ไล่เรียงมาตั้งแต่การเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และถูกจัดลำดับอยู่ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 41 ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2557  กระทั่งสมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ และหวนกลับมาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอีกครั้งภายหลังพรรคไทยรักษาชาติ เจออุบัติเหตุทางการเมืองถึงกับยุบพรรค

ว่ากันว่า คนในพรรคเพื่อไทยเองก็ใช่ว่าจะไว้เนื้อเชื่อใจในตัวเรืองไกรเท่าไรนัก แต่กลับมองว่าการมีคนที่เคยออกมาฟาดฟันอดีตนายกฯ ในค่ายชินวัตรถึง 2 คนก็ไม่ต่างอะไรกับการมี "หอกข้างแคร่" ที่พร้อมจะทิ่มแทงคนในพรรคได้ทุกเมื่อ 

จึงไม่แปลกที่ในห้วงที่ผ่านมา ภายใต้ชายคาพรรคเพื่อไทย “เรืองไกร” จึงไม่ค่อยปรากฏบทบาทสำคัญ เห็นชัดจากการถูกจัดอยู่ในลำดับปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งเจ้าตัวรู้ดีอยู่แก่ใจว่า ถึงอย่างไรก็ไม่มีทางได้ใส่สูทเข้าสภาในฐานะส.ส.

อันที่จริง ตัวเรืองไกรเองก็เริ่มส่งสัญญาณพลิกขั้วมาตั้งแต่เมื่อครั้งถูกปลดชื่อออกจากโผ กมธ.งบประมาณ 2564 ในโควตาพรรคเพื่อไทย

ซึ่งเวลานั้น มีแกนนำอักษรย่อ ภ. ได้แจ้งถึงการจัดสรรเก้าอี้ที่ไม่ลงตัว 

ก่อนจะมีชื่อของ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ เพื่อไทยลูกชาย “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเข้าไปแทนที่ เขาจึงประกาศลาออกจากเพื่อไทยทันที

หลังจากนั้น "เรืองไกร" จึงเปิดเกมเอาคืนสองพ่อลูก ด้วยการยื่นเรื่องตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน "สมพงษ์-จุลพันธ์" รวมถึงแกนนำอย่าง "ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร" ส.ส.มหาสารคาม พร้อมคำขู่ยื่นยุบพรรค กรณีถูก “ทักษิณ” ครอบงำพรรค

จังหวะนี้เองที่อาจไปเข้าทาง พปชร.ในการช่วงชิงสถานการณ์ที่เรืองไกร “เปิดบัญชีแค้น” ด้วยการดูดเข้าค่าย และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะ กมธ.งบ 65 ในสัดส่วนของ พปชร.ในท้ายที่สุด 

บทบาทของ “เรืองไกร” ในช่วงที่ผ่านมา แม้จะถูกมองว่าเป็นเพียง “นักร้อง(เรียน)” รายวัน แต่พปชร.ก็ต้องมีไว้ใช้สอย

เมื่อแรงดูดเริ่มทำงาน “สัญญาณยุบสภา” เพื่อล้างไพ่การเมืองก็ใกล้เข้ามาทุกที