ดีเดย์ 7 มิ.ย. คิกออฟ 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' ทั่วประเทศ

ดีเดย์ 7 มิ.ย. คิกออฟ 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' ทั่วประเทศ

ดีเดย์ 7 มิ.ย. คิกออฟ "ฉีดวัคซีนโควิด-19" ทั่วประเทศเป็นวัคซีน "แอสตร้าเซเนก้า-ซิโนแวค"

วันแรกของการกระจายฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ 7 มิ.ย.2564 สำหรับประชาชน 2 กลุ่มเสี่ยงที่ลงทะเบียนระบบหมอพร้อม และแอพพลิเคชั่นของจังหวัดต่างๆ เป็นครั้งแรกก่อนกระจายฉีดให้ประชาชนทั่วไป ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มในระดับประเทศ ต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 50 ล้านคน หรือ 100 ล้านโดส โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ปรับแผนหลักกระจายวัคซีนในเดือนแรก มิ.ย.นี้ จัดส่งวัคซีน 2 ยี่ห้อ คือ แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์

7 มิ..64 วัคซีน 3,540,000 โดส

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ทุกคนในแผ่นดินไทย ทั้งคนไทยและต่างชาติที่สมัครใจโดยไม่คิดมูลค่า ต้องฉีดอย่างน้อย 50 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้ 

สำหรับการฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิ.ย.นี้ เป็นการเริ่มฉีดพร้อมกันจำนวนมากทั่วประเทศ มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 240,000 โดส และซิโนแวค 1,500,000 โดส รวม 3,540,000 โดส สำหรับ 2 สัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย. 

จากนั้นจะมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ทยอยส่งมอบ กระจายทุกจังหวัดต่อเนื่องทุกสัปดาห์ สัปดาห์ที่ 3 ของมิ.ย.มี 8.4 แสนโดส สัปดาห์ที่ 4 อีก 2.58 ล้านโดส รวมเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนมากกว่า 6 ล้านโดสตามแผนที่ ศบค.กำหนด และหากรวมกับที่ฉีดไปแล้วราว 4 ล้านโดส ถึงสิ้นเดือน มิ.ย.จะฉีดวัคซีนได้ประมาณ 10 ล้านโดส

162300094111

แผนฉีดวัคซีนวาระแห่งชาติ 

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.เปิดเผยถึงการประชุมทางไกลนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.เพื่อทำความเข้าใจแนวทางการกระจายวัคซีนโควิด-19 ว่า ก่อนหน้านี้ได้ส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตจากประเทศเกาหลีที่สั่งซื้อมาเป็นพิเศษ 240,000 โดส ไปจังหวัดต่างๆ เฉลี่ย 3,600 โดสใน 58 จังหวัดทั่วไทย โดยจัดสรรเท่าๆ กันไม่ว่าจังหวัดเล็กใหญ่ จังหวัดละ 360 ขวด หรือ 3,600 โดส รวมจัดสรรไป 208,800 โดส เหลือ 31,200 โดสเอาไปสมทบฉีดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

"ทุกจังหวัดจะได้รับวัคซีนโควิด ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค เพื่อฉีดให้แก่ประชาชนเริ่มฉีดในวันที่ 7 มิ.ย.นี้จำนวนมากพร้อมกันทั่วประเทศ ไม่มีการเลื่อนนัดฉีดแต่อย่างใด โดยตอนแรกได้กระจายวัคซีนในส่วนของแอสตร้าเซนเนก้า เดิมที่ได้รับ 240,000 โดส ก็ได้จัดสรรให้กระจายไปในแต่ละจังหวัด 3,600 โดส เมื่อได้รับการส่งมอบ แอสตร้าเซนเนก้า 1,800,000 โดส ก็ได้มีการกระจายไปในแต่ละจังหวัด"

162300094251

สำหรับพื้นที่ กทม. จะได้รับการจัดสรรวัคซีน 2.5 ล้านโดส โดยจัดสรรตรงให้ กทม. 1 ล้านโดส จัดสรรผ่านกลุ่มต่างๆ คือ สำนักงานประกันสังคมในการฉีดผู้ประกันตนพื้นที่ กทม. 1 ล้านโดส และกลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่ง ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 5 แสนโดส เพื่อให้ กทม.ที่มีการระบาดมากได้รับการจัดสรรวัคซีนที่เพียงพอในการควบคุมการระบาด เบื้องต้นกระจายวัคซีนไปตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.แล้ว

ไทม์ไลน์ 'จัดหาวัคซีนหลัก'

  • แอสตร้าเซนเนก้า

มีแผนการจัดหาทั้งสิ้น 61 ล้านโดส นำเข้าโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรค

  • ซิโนแวค

มีแผนจัดหา 20 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส เป็นวัคซีนที่รัฐบาลสั่งซื้อ 5.5 ล้านโดส และวัคซีนที่รัฐบาลจีนบริจาค 5 แสนโดส นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม และกรมควบคุมโรค

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. 2564 องค์การเภสัชกรรมจะนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่มจำนวน 11 ล้านโดส โดยทยอยส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องเดือนละประมาณ 2.5-3 ล้านโดส ในเบื้องต้นวันเสาร์ที่ 5 มิ.ย.นี้ จำนวน 5 แสนโดสจากการบริจาคของรัฐบาลจีน กลางเดือน มิ.ย. เข้ามา 1 ล้านโดส และปลายเดือน มิ.ย. อีก 1 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวคที่จัดซื้อเข้ามานี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ให้มีการจัดหาวัคซีนเพิ่มจากวัคซีนหลักคือ แอสตร้าเซนเนก้า ให้ครอบคลุมประชาชนไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดส

162300094094

งบประมาณ จัดซื้อ ‘แอสตร้าเซนเนก้า’

  • 17 พ.ย.63 ครม. อนุมัติจองซื้อวัคซีนแอสตร้าเซเนกา 26 ล้านโดส วงเงิน 6,049.72 ล้านบาท
  • 19 ม.ค.64 ครม. ปรับวงเงินจาก 6,049.72 ล้านบาท ซื้อวัคซีนแอสตร้าเซเนกา 26 ล้านโดส เป็น 6,216.25 ล้านบาท รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • 2 มี.ค.64 ครม. อนุมัติงบ 6,387 ล้านบาท ซื้อวัคซีนแอสตร้าเซเนกา เพิ่ม 35 ล้านโดส รวม 61 ล้านโดส

162300094041

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

'ไบเดน' เดินแผนทูตวัคซีน ส่งช่วยโลก 80 ล้านโดส 'ไทย' ได้ด้วย

ประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐ ได้กำหนดกรอบการแบ่งปันวัคซีนล็อตแรกๆ จากทั้งหมด 80 ล้านโดสที่จะแจกจ่ายไปทั่วโลกก่อนเดือนก.ค. ในจำนวนนี้ 75% จะแจกให้กับโครงการโคแว็กซ์ ส่วนอีก 25% เป็นการแจกจ่ายให้แก่ประเทศต่างๆโดยตรง และวัคซีนทั้งหมดนี้เป็นวัคซีนที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขสหรัฐอนุมัติให้ใช้งานได้

โครงการโคแว็กซ์ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับประกันการแจกจ่ายวัคซีนอย่างเท่าทียม โดยเฉพาะการป้อนสู่มือประเทศที่มีรายได้ต่ำซึ่งจนถึงขณะนี้ โครงการโคแว็กซ์ได้มอบวัคซีนแก่ประเทศและดินแดนต่างๆ 127 แห่ง ในปริมาณเกือบ 80 ล้านโดส ในปริมาณนี้ 97% เป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนที่เหลือเป็นวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค

162300094162

ที่ผ่านมา สหรัฐได้แจกจ่ายวัคซีนจำนวน 4.5 ล้านโดส ซึ่งเป็นของบริษัทแอสตราเซนเนก้า ให้แคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการตัดสินใจแจกจ่ายวัคซีนล็อตใหญ่นี้มีขึ้นในช่วงที่ไบเดนกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักในการให้ความช่วยเหลืออินเดีย ที่กำลังเผชิญสถานการณ์โควิดขั้นวิกฤต ประกอบกับปริมาณในประเทศมีมากเพียงพอที่จะฉีดให้แก่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว

ตามแผนการแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ของสหรัฐครั้งนี้ ประมาณ 7 ล้านโดสจะถูกจัดสรรให้แก่ประเทศต่างๆในเอเชีย และชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) 6 ประเทศ รวมถึงอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน เวียดนาม ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 

ส่วนอีกประมาณ 6 ล้านโดสแจกจ่ายให้ประเทศต่างๆในแถบอเมริกาใต้ อเมริกากลางและแคริบเบียน ในนั้นรวมถึงบราซิล อาร์เจนตินา โคลัมเบีย คอสตาริกาและเฮติ

อีกประมาณ 5 ล้านโดส เก็บไว้แจกจ่ายให้แก่ทวีปแอฟริกา ส่วนอีกประมาณ 6 ล้านโดสแจกจ่ายให้แก่ประเทศต่างๆโดยตรงที่มีปัญหายอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เกาหลีใต้ ยูเครน กาซา และอิรัก