'เศรษฐกิจไทย' ปี 64 มุมมอง 'คลัง'

จับทิศ "เศรษฐกิจไทย" ปี 2564 ในมุมมอง "คลัง" ครึ่งปีหลังที่เหลือจะเป็นอย่างไร? และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะเป็นไปในทิศทางใด?

หลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ หรือ สศช.) ได้ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ในไตรมาส 1/2564 เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น แม้เศรษฐกิจไทยจะยังคงชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี (%YoY) ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ -4.2 ต่อปี แต่ก็ถือว่ามีทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้น

และหากปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว (Seasonally adjusted) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกยังสามารถขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าได้ที่ร้อยละ 0.2 (%QoQ-SA) ดีกว่าที่หลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจคาดไว้ว่าจะหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค 

การที่ตัวเลขจีดีพีขยายตัวสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาด สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ไตรมาส นับตั้งแต่ไปทำจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/2564 ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -12.1 ต่อปี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในช่วงต้นปี 2564 ก็ตาม

หากพิจารณาในแต่ละองค์ประกอบของเศรษฐกิจ มีหลายด้านที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ตามการฟื้นตัวของการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 19.6 จากร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อน เป็นการขยายตัวจากทั้งการลงทุนด้านการก่อสร้างและการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือ โดยขยายตัวร้อยละ 23.1 ต่อปี และร้อยละ 10.1 ต่อปีตามลำดับ 

ประกอบกับผลของฐานการคำนวณที่ต่ำในปีก่อน ด้านการค้าระหว่างประเทศพบว่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 3.2 และ 6.4 จากที่เคยหดตัวร้อยละ -1.5 และ -3.1 ในไตรมาสก่อน โดยทั้งคู่กลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 และ 9 ไตรมาสตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย

อย่างไรก็ดี ยังมีบางองค์ประกอบทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงจนส่งผลให้ภาพรวมจีดีพีในไตรมาสแรกยังคงติดลบเมื่อเทียบรายปี ได้แก่ ภาคการบริโภคในประเทศที่ลดลงร้อยละ -0.5 ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือน ม.ค.2564 รวมถึงการส่งออกบริการที่ลดลงถึงร้อยละ -63.5 ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากมาตรการจำกัดการเดินทาง

แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มพิเศษประเภท Special Tourist Visa และ Thailand Privilege Card เข้ามาบ้างก็ตาม ส่งผลให้รายรับจากนักท่องเที่ยวและรายรับค่าโดยสารยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

ถึงแม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2564 จะดีกว่าที่หลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า (โดยเฉลี่ยคาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -3.3 ต่อปี) แต่เมื่อเทียบกับการประมาณการเศรษฐกิจของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่าเป็นไปตามคาดการณ์ โดย ณ เดือน เม.ย.2564 สศค.ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2564 ที่ร้อยละ -2.5 ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับตัวเลขจริงค่อนข้างมาก 

การคาดการณ์องค์ประกอบของเศรษฐกิจที่สำคัญที่ช่วยให้ผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยมีความแม่นยำประกอบไปด้วย การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนและรัฐบาล และการนำเข้าและการส่งออกสินค้าและบริการ

ในระยะถัดไป เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ช่วงปลายเดือน มี.ค.2564 ที่มีความรุนแรงและขยายวงกว้างกว่าการระบาดทั้งสองรอบก่อนหน้า จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว กลับมาชะลอลงอีกครั้ง จนในปัจจุบันก็ยังคงพบคลัสเตอร์ของการระบาดอยู่เป็นระยะ

ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยสร้างเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์การกระจายวัคซีนทั่วโลกที่มีแนวโน้มล่าช้าและกระจุกตัวในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ความเสี่ยงด้านประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลงจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19

ยกตัวอย่างเช่นในประเทศอิสราเอลซึ่งถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรในระดับสูง พบว่าประชาชนยังคงสามารถติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า (ที่พบในอินเดีย) แม้จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทที่ได้ชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงอย่างไฟเซอร์ก็ตาม จนทำให้ต้องชะลอการเปิดประเทศออกไป

สำหรับปัจจัยหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศให้ลดลงโดยเร็ว การเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินต่อได้มากขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนและบุคลากรด้านการท่องเที่ยวใน 10 จังหวัดพื้นที่เป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ตามแนวทางการเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว 4 ระยะ สำหรับรองรับการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป

ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการคลัง อาทิ โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ และมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การลดค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น 

ในด้านการช่วยเหลือผ่านมาตรการด้านการเงิน อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ ที่จะเป็นตัวช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ สามารถประคับประคองตนเองได้จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลง อีกทั้งรัฐบาลยังคงมีงบประมาณเพียงพอหากเกิดสถานการณ์ที่อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าที่คาด

ที่เราจะต้องติดตามกันต่อไปคือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปี ทั้งภาคการผลิตและภาคการส่งออกไทยที่มีแนวโน้มเติบโตตามเศรษฐกิจโลก การเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐว่าจะยังคงรักษาแรงส่ง การเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวว่าจะสามารถเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 สามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี ตามที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ ณ เดือน เม.ย.2564

(บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ได้สะท้อนความเห็นของหน่วยงานต้นสังกัด)