ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอรัฐบาล-ศบค. 4 ประเด็น บริหารจัดการวัคซีนโควิด

ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอรัฐบาล-ศบค. 4 ประเด็น บริหารจัดการวัคซีนโควิด

ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะการบริหารจัดการวัคซีน หนุนทุกภาคส่วนร่วมกันจัดหาวัคซีน พร้อมเร่งฉีดวัคซีนเชิงรุก

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ หารือร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ถกแนวทางแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ แนะรัฐควรเร่งกำหนดมาตรการและแนวทางในการให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ชัดเจนพร้อมประชาสัมพันธ์มาตรการเยียวยาอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีน

รวมถึงการเน้นฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เชิงรุกแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และมีความจำเพาะด้านสุขภาพ ให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้หยิบยกกรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จนมีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ในระยะแรก หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน และกระจายวัคซีนตามแผนการบริหารจัดการวัคซีน เนื่องจากเป็นช่วงที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด ซึ่งรัฐได้วางแผนการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยกับผู้ได้รับวัคซีนอย่างสูงสุด

จึงยังไม่สามารถให้ภาคเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนกับผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง แต่ปัจจุบันที่มีการระบาดระลอกใหม่ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกระจายและฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งขณะนี้มีวัคซีนทางเลือกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ประชาชนเลือกรับวัคซีนได้หลากหลาย เช่น จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม ซึ่งจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้รับวัคซีนได้สูงขึ้น จึงถือได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันได้พ้นระยะแรกตามคำวินิจฉัยเดิม แต่อย่างไรก็ดี ยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้องและทั่วถึง เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีน การจัดหาและการกระจายวัคซีน ความพร้อมของบุคลากร เครื่องมือ และสถานที่ให้บริการวัคซีน กรอบระยะเวลาการดำเนินการให้วัคซีน การเปิดจองสิทธิ ตลอดจนการจัดลำดับกลุ่มเป้าหมายในการเข้ารับวัคซีน ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อมาตรการของรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามมา

 ในวันนี้จึงหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อติดตามความคืบหน้าและมีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐบริหารจัดการวัคซีนดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึงยิ่งขึ้น ซึ่งจากผลการหารือ สรุปข้อเสนอแนะกรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ดังนี้

1. รัฐโดย ศบค.ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้ครอบคลุม ทั่วถึง และทันเวลาต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของของโรคโควิด-19 ของประชาชนและกลุ่มเสี่ยงเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน

2. เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระจายเป็นวงกว้าง โดยประชาชนควรต้องได้รับวัคซีนอย่างเร่งด่วน ศบค.จึงควรเร่งกำหนดมาตรการและแนวทางในการให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาและกระจายวัคซีนทางเลือกในการป้องกันโรคโควิด-19

3. รัฐโดย ศบค.ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่ก่อให้เกิดความสับสนในการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงกำหนดและเร่งประชาสัมพันธ์มาตรการเยียวยาอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า มีหลักเกณฑ์และแนวทางในการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างไร อันเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

4. นอกจากบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าและประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงแล้ว รัฐควรสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเชิงรุกให้แก่กลุ่มคนซึ่งขาดศักยภาพที่จะเข้าถึงบริการหรือข่าวสารของภาครัฐ ในเรื่องการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เช่น กลุ่มคนที่มีความจำเพาะด้านสุขภาพ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุ กลุ่มคนด้อยโอกาสทางสังคม เช่น คนยากจน บุคคลเร่ร่อน หรือผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ ฯลฯ โดยจัดให้มีบริการเข้าไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังสถานที่ที่กลุ่มคนเหล่านั้นอยู่อาศัยอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น