'3 ผู้พิพากษา' โต้สินบน 'โตโยต้า'

'3 ผู้พิพากษา' โต้สินบน 'โตโยต้า'

“ไสลเกษ” ลั่นพร้อมให้สอบ จี้ดึง “ปปง.-ปปช.-ธปท.” สาวเส้นทางเงิน ประธานสอบวินัยถกนัดแรก 7 มิ.ย.

ประเด็นนี้ทางสำนักศาลสูงต้องอธิบายขั้นตอน หลักเกณฑ์การทำงานของศาล การจ่ายคดีให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งเปิดเผยได้ เพราะนี่คือระบบงานการทำงานของศาลยุติธรรม

“ผมแปลกใจมากในคดีนี้มากเพราะผลกระทบแห่งคดีมันรุนแรงเกี่ยวพันกับกระบวนการพิจารณาของศาลสูงของประเทศ ศาลต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง ผมสนับสนุน และจะทำหนังสือเรียกร้องไปยังศาลให้ทำเรื่องนี้ รวมถึงร้องขอให้ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวพันกับการเงินการสวบสวนสืบเส้นทางการเงินออกมา เพราะเขามีอำนาจในการสืบเส้นทางการเงินผ่านบัญชี ผ่านอิเลคทรอนิกส์ รวมถึงการนำความเท็จเข้าสู้กระบวนการทำลายล้าง”

ยันไม่เคยพบ 2 ผู้พิพากษา

นายสไลเกษ กล่าวอีกว่า คดีนี้ถ้าดูจากช่วงเวลาแล้ว ขณะที่บริษัทโตโยต้า (ประเทศไทย) ยื่นขออนุญาตฏีกาหลังจากแพ้คดีในศาลอุทธรณ์ อยู่ในช่วงที่ตนใกล้เกษียณจากตำแหน่งประธานศาลฎีกาวันที่ 30 ก.ย.2563 คดีดังกล่าวเป็นเพียงชั้นขออนุญาตฎีกา มาออกฎีกากันช่วงมี.ค. 2564 การออกผลคำสั่งเมื่อไหร่อย่างไรไม่ทราบและไม่เคยอยู่ในการรับรู้

“การพิจารณาและการอนุญาตอยู่ในอำนาจของแผนก และหากได้รับอนุญาตให้ฎีกาแล้ว การพิจารณาพิพากษาก็ทำโดยแผนกภาษี คดีดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นในปลายเดือนมีนาคมหลังจากที่ตนเกษียณอายุไปนานแล้ว ช่วงที่มีข่าวนี้ก็อ่านจากสื่อมวลชนเท่านั้น”

นายไสลเกษ ระบุด้วยว่า ในช่วงดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาผู้พิพากษาทั้ง 2 ท่านที่ถูกกล่าวหาก็ไม่เคยมาหาหรือพูดคุยเรื่องคดีนี้เลย อย่างไรก็ตามอยากให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ตรวจสอบและชี้แจงเรื่องนี้อย่างละเอียด เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อศาลยุติธรรมทั้งระบบ

“ในเบื้องต้นต้องขอบคุณทุกคนที่ห่วงใยสถาบันศาลยุติธรรม อยากให้ดำรงความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง ใครไม่สุจริตก็สมควรถูกตรวจสอบและขจัดออกไป”

ศาลตั้งคกก.ถกนัดแรก 7 มิ.ย.

ส่วนความเคลื่อนไหวของสำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการต่อข้อกล่าวหากรณีภาษีอากรที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ รวม 10 คน โดยมี นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานคณะทำงานฯ ซึ่งคณะทำงานชุดนั้นมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการให้ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างแก่สังคมและดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องที่มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการสอบสวนกรณีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้าในต่างประเทศ ที่พาดพิงถึงบุคลากรในศาลยุติธรรม ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวได้ดำเนินการส่งหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ เช่น หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา และสำนักงานกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ตามมาด้วย นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 4 คน ประกอบด้วยผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์ เป็นกรรมการ โดยให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย พ.ศ.2544 ออกตามความในมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯให้เสร็จโดยเร็ว

ถกนัดแรก 7 มิ.ย.นี้

นายอธิคม อินทุภูติ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีข่าวสินบนคดีภาษีโตโยต้า กล่าววา เหตุผลในการตั้งคณะทำงานชุดนี้ เพราะเป็นกรณีมีข้อสงสัยว่าจะมีการกระทำผิดวินัยหรือไม่ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด โดยนัดประชุมคณะทำงานในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ เพื่อกำหนดกรอบหน้าที่การทำงานและกำหนดบทบาทขอบเขตและศึกษาอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเบื้องต้นว่าคดีมีมูลตามที่เป็นข่าวปรากฏในเว็บไซต์หรือไม่ 

นอกจากนี้นี้ในภาคสังคมให้มีการสอบในเรื่องนี้เช่นกัน โดยพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ปปช.) ได้รับหนังสือจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์​ โรม​ ​เรื่องขอให้พิจารณาสืบสอบหาข้อเท็จจริงกรณีรายงานข่าวว่า​ บริษัทโตโยต้า ให้สินบน​ผู้พิพากษาระดับสูงของศาลยุติธรรมไทย​ นายรังสิมันต์ ระบุว่าคาดหวัง กมธ.ปปช.จะทำหน้าที่ตรวจสอบและหวังว่าจะได้รับการตรวจสอบประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา 

โตโยต้างดแสดงความคิดเห็นระหว่างการตรวจสอบ

ด้านความเคลื่อนไหวของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จากการสอบถามพนักงานหลายรายระบุว่าไม่สามารถที่จะให้ความคิดเห็นได้ และในส่วนของพนักงานเอง ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่ามีผู้บริหารคนใดบ้างที่ดูแลเรื่องนี้ ถือว่าเป็นความลับภายในบริษัทด้วย

อย่างไรก็ตาม โตโยต้า มีแถลงการณ์สั้นๆ วานนี้ (3 มิ.ย.) โดยระบุว่าโตโยต้าดำเนินการไม่หยุดหย่อนที่ธำรงไว้ซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรม และความเป็นมืออาชีพอย่างสูงสุด โดยให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับทุกข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าว และมุ่งมั่นที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปตามข้อกำหนดของภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และเนื่องด้วยกระบวนการตรวจสอบอยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้ 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ไม่นาน นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทแม่ ประเทศญี่ปุ่น กำลังดำเนินการสอบสวน ขณะที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของไทยในการสืบสวนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และยืนยันว่านโยบายของบริษัทเน้นความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ และยึดมั่นในธรรมาภิบาลอย่างเหนียวแน่น