“ดับบลิวเอชเอ-อมตะ” ยันคุมได้โควิดระบาดในนิคมฯ

  “ดับบลิวเอชเอ-อมตะ” ยันคุมได้โควิดระบาดในนิคมฯ

รายงานสรุปสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 (ระลอกเดือนเม.ย.) ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม ณ 30 พ.ค. 2564 จัดทำโดยศูนย์ปฎิบัติการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 ราย มีผู้ติดเชื้อสะสม 1,021 ราย

รักษาหายแล้ว 117 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อปัจจุบัน อยู่ที่ 904 ราย จะเห็นว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยังน่าเป็นห่วง หากไม่เร่งแก้ไขอาจกระทบต่อภาคการผลิตของประเทศได้

จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวว่า ในส่วนของนิคมฯ ของดับบลิวเอชเอทั้ง 10 แห่ง ในขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสม 65 คน แต่ส่วนใหญ่รักษาหายแล้ว เหลือเพียงที่ยังป่วยอยู่เพียง 7 คน และตั้งแต่วันที่ 20-25 พ.ค. นี้ มีผู้ติดเชื้อใหม่เพียง 1 คน สาเหตุการติดเชื้อเพิ่มขึ้นน้อย เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมดับบลิวเอชเอส่วนใหญ่เป็นโรงงานต่างชาติที่มีความเข้มงวดสูง และดูแลคนงานดีมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการส่งออก จึงมีความเข้มงวดในการเผ้าระวังสูง

ทั้งนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนในนิคมฯ เป็นการเร่งด่วน เพราะการผลิตส่งออก เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และเหลือเพียงเครื่องเดียว ในขณะที่การท่องเที่ยว บริการ และเศรษฐกิจด้านอื่นยังไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ หากโรงงานผลิตเพื่อส่งออกมีปัญหาก็จะกระทบกับประเทศอย่างรุนแรง ทั้งด้านเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของต่างชาติในสินค้าที่ผลิตจากไทย และการเข้ามาลงทุนภายในประเทศ

162247080032

“ในช่วงก่อนหน้านี้ ต่างชาติได้ให้ความสนใจที่จะย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอินดีย ไทย และเวียดนาม แต่หลังจากที่อินเดียเกิดการระบาดของโควิด-19 รุนแรง ต่างชาติก็หันมามองการลงทุนในไทยและเวียดนามแทน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการป้องกันการระบาดในนิคมฯ และเร่งฉีดวัคซีนทั่วประเทศเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ฉวยโอกาสนี้ยกระดับให้ไทยก้าวขึ้นมาโดดเด่นหนือประเทศคู่แข่ง แต่หากรัฐป้องกันการระบาดไม่ได้ ก็จะทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ และหันไปประเทศอื่นแทนเหมือนกับที่หันออกจากอินเดีย”

ส่วนยอดขายที่ดินในนิคมฯ ของดับเบิลยูเอชเอ ในไตรมาส 1 มียอดขายไปแล้ว 188 ไร่ ซึ่งเทียบเท่ากับยอดขายทั้งปีของปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเปิดตัวที่ดี โดยนักลงทุนเกินครึ่งมาจากจีน แต่จากการระบาดของโควิด-19 ในรอบ 3 ก็ส่งผลกระทบบ้าง ในขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามก็เริ่มมีการระบาดรอบใหม่แล้ว หากไทยแก้ปัญหาได้เร็วกว่าก็จะเป็นโอกาสทองของประเทศ

วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในขณะนี้การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่

นิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรีมีอยู่ประมาณร้อยกว่าคน แต่เมื่อเทียบกับแรงงานทั้งนิคมฯ ที่มีอยู่กว่า 2 แสนคน ยังนับว่าอยู่ในการควบคุมได้ และปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาจากมาตรการเชิงรุกที่ได้ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดเข้าไปตรวจแรงงานในนิคมฯ ซึ่งเมื่อเจอผู้ติดเชื้อก็แยกไปกักตัวอย่างทันท่วงที ทำให้ควบคุมการระบาดได้ ที่ผ่านมามีเพียง 2 โรงงานที่ปิดชั่วคราวทำความสะอาด 2 วัน แล้วก็กลับมาดำเนินการผลิตได้ ส่วนในนิคมอมตะซิตี้ ระยอง ยังไม่พบการแพร่ระบาด โดยนิคมฯนี้มีแรงงานประมาณ 7 หมื่นคน

“โรงงานในนิคมฯอมตะทั้งที่ จ.ชลบุรี และระยอง ต่างก็กำชับให้แรงงานระมัดระวังตัวอย่างเต็มที่ เมื่อเลิกงานแล้วก็ควรกลับที่พักทันที และยังมีมาตรการตรวจเข้มงวดก่อนเข้าโรงงาน เพราะแต่ละโรงงานก็กลัวการระบาดเพราะจะกระทบต่อการผลิตส่งผลเสียหายอย่างรุนแรง จึงทำให้การระบาดในนิคมฯมีไม่มาก และยังคงควบคุมได้”

อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลเข้ามาให้ความสำคัญเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในนิคมฯ เป็นอันดับแรก ๆ เพราะโรงงานเหล่านี้ส่งออกสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนิคมฯของอมตะฯ มีรายได้ติดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีของไทย 7-10% มีโรงงานรวมกว่า 1 พันโรง หากเกิดการระบาดก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ อมตะ ยังได้เตรียมสถานที่ภายในนิคมฯ สำหรับการฉีดวัคซีน และประสานงานกับโรงพยาบาลใกล้เคียง และโรงพยาบาลในนิคมฯ เตรียมบุคลากรการแพทย์ไว้พร้อมแล้ว หากเป็นโรงงานใหญ่ก็จะมีหน่วยเคลื่อนที่เข้าไปฉีดวัคซีนให้กับแรงงานที่โรงงานได้เลย ซึ่งหากมีวัคซีนเข้ามา ก็พร้อมฉีดได้ทันทีได้ถึงวันละ 2 หมื่นคน

สำหรับยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกดีกว่าปีก่อนมาก ขณะนี้มีนักลงทุนเข้ามาซื้อพื้นที่แล้วประมาณ 7 ราย ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงานทดแทน และการขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดย 6 เดือนแรกของปีจะเป็นช่วงโลซีซั่น แต่ในช่วง 6 เดือนหลังจะมียอดขายสูงกว่าครึ่งปีแรก คาดว่าจะถึงเป้าหมายที่วางไว้ที่ 950 ไร่ ซึ่งแม้ว่าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 นักลงทุนเข้าประเทศไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ได้หนีไปไหน ยังคงรอคอยที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งหากรัฐควบคุมการระบาดและเปิดประเทศได้ การลงทุนก็จะกลับเข้ามาอีกมาก

รายงานข่าวจากกนอ.ระบุว่า การติดเชื้อล่าสุด (30 พ.ค.) พื้นที่ ระยองจำนวน 105 ราย ชลบุรี 230 ราย ฉะเชิงเทรา 47 ราย ในจำนวนนี้ สูงสุดอยู่ที่ สมุทรปราการ 418 ราย ได้แก่ นิคมฯบางปู 401 ราย นิคมฯบางพลี 17 ราย ส่วนนิคมฯบางพลี(เหนือ)และนิคมฯเอเชีย(สุวรรณภูมิ) ไม่พบผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ จังหวัดที่มีนิคมฯอยู่ที่พบผู้ติดเชื้อได้แก่ กรุงเทพ 56 ราย อยุธยา 6 ราย ลำพูน 21 ราย สระบุรี 5 ราย สมุทรสาคร 12 ราย พิจิตร 2 ราย และ สงขลา 1 ราย