กกพ.ดีเดย์เปิดซื้อไฟโซลาร์รูฟท็อปกลุ่มโรงเรียน-โรงพยาบาลฯ นำร่อง 50 MW

กกพ.ดีเดย์เปิดซื้อไฟโซลาร์รูฟท็อปกลุ่มโรงเรียน-โรงพยาบาลฯ นำร่อง 50 MW

กกพ. ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชน(เพิ่มเติม) สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร นำร่อง 50 เมกะวัตต์ เริ่ม 1 มิ.ย.-30 ก.ย.นี้ อัตรา 1 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.ได้ออกประกาศรับเปิดซื้อไฟฟ้า“โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาลและสูบน้ำเพื่อการเกษตร(โครงการนำร่อง)” จำนวน 50 เมกะวัตต์  ในอัตรา 1 บาทต่อหน่วย โดยจะเปิดผู้สนใจเริ่มสมัครได้ตั้งแต่ 1มิ.ย. -30 ก.ย. 2564  ทางเว็บไซต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA)กฟภ. (https://ppim.pea.co.th/) และ และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) (https://spv.mea.or.th)

สำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะเป็นแบบการผลิตไฟฟ้าไม่เสถียร(Non-Firm) รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์  แบ่งเป็น การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) รับซื้อไฟฟ้าจากโรงเรียน สถานศึกษา 6 เมกะวัตต์ และโรงพยาบาล 6 เมกะวัตต์ สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) รับซื้อไฟฟ้าจากโรงเรียน สถานศึกษา14 เมกะวัตต์ ,โรงพยาบาล 14 เมกะวัตต์ และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทสูบน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์

162244634661

“คาดว่า จะมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเกินกว่า 50 เมกะวัตต์ ที่กำหนดไว้ เพรากลุ่มโรงเรียนและกลุ่มโรงพยาบาลให้ความสนใจจำนวนมาก”

ส่วนการพิจารณาคำเสนอขายไฟฟ้าจะเรียงตามลำดับวันและเวลาที่ได้รับก่อนหลังตามความพร้อม(First come, First served ) และกำหนดประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 30 ธ.ค. 2564  ขณะเดียวกันกำหนดให้ ผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(SCOD) ภายใน 31 ธ.ค. 2564 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ที่เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายแผน PDP2018 rev.1 โดยให้ขยายผลไปยังกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำการเกษตร (โครงการนำร่อง) เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ส่วนที่เหลือใช้สามารถขายเข้าสู่ระบบได้

โดยให้ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โดยแบ่งเป็นกลุ่ม โครงการโซลาร์ภาคประชาชน  50 เมกะวัตต์ ของปี 2564 และกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของปี 2564 จำนวน 50 เมกะวัตต์ โดยกลุ่มนี้จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบในอัตรา 1 บาทต่อหน่วย แบ่งเป็นรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา 20 เมกะวัตต์ ,กลุ่มโรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์ และกลุ่มสูบน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์ โดยให้มีกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 10 กิโลวัตต์ แต่ไม่เกิน 200 กิโลวัตต์ ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี