วาง 9 กฎเหล็ก ตร.ใช้สื่อออนไลน์ หลังไลฟ์สด ' ยิว ฉัตรมงคล' work from home

วาง 9 กฎเหล็ก ตร.ใช้สื่อออนไลน์ หลังไลฟ์สด ' ยิว ฉัตรมงคล' work from home

รองผู้การฯ ปอท. แนะ 9 แนวทาง เตือนสติ ตร.เล่นโซเชียลฯ อย่างสร้างสรรค์ ระวังการโพสต์ แม้เป็นสิทธิส่วนบุคคลก็ตาม แต่อาจส่งผลกระทบภาพลักษณ์องค์กรได้ ชี้ กรณีไลฟ์ 'ยิว ฉัตรมงคล'อยู่ระหว่างต้นสังกัดตรวจสอบ

29 พ.ค. 2564  พันตำรวจเอก ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) ในฐานะ รอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รองโฆษก ตร.) กล่าวว่า  จากปัจจุบัน ยุค 5 จี ประชาชน รวมถึงข้าราชการตำรวจต่างเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า พี่น้องตำรวจหลายท่าน รวมถึงหลายหน่วยงานใช้สื่อสังคมออนไลน์ประชาสัมพันธ์การปฏิบัติหน้าที่ในรูปแบบต่างๆ หรือแถลงผลการจับกุมคนร้ายในคดีสำคัญ

ตลอดจนเตือนภัยอาชญากรรมในพื้นที่ให้ประชาชนได้รับรู้ในการระมัดระวังตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อ ถือว่า เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ยังคงพบเห็นข้าราชการตำรวจบางท่านใช้สื่อสังคมออนไลน์แล้ว ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร

จริงๆ ต้องเรียนว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม ข้าราชการตำรวจสามารถมีสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงและใช้งานทั้งสิ้น แต่เพื่อให้การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของข้าราชการตำรวจเป็นไปอย่างเกิดประโยชน์และเป็นไปอย่างถูกต้อง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของข้าราชการตำรวจ ซึ่งเป็นเสมือนคู่มือในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ สำหรับประเภทข้อมูลข่าวสารที่ไม่ควรเผยแพร่ ทั้งในรูปแบบข้อความ รูปภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว มีจำนวน 9 ประเภท คือ

1.ข้อมูลที่มีเนื้อหาพาดพิง หรือ ส่งในทางลบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 3.ข้อมูลที่มีลักษณะยั่วยุ เสียดสี บิดเบือนโฆษณา ชวนเชื่อ สร้างความแตกแยกต่อหน่วยงาน องค์กร สถาบัน สังคม รวมถึงการไม่เป็นกลางทางการเมือง

4.ข้อมูลความลับของทางราชการ ตามระเบียบการตำรวจที่กำหนดไว้

5.ข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารทั้งของราชการและบุคคล รวมถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายอาญาใดๆ เช่น ภาพลามก อนาจาร เป็นต้น

6.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานทางคดี เกิดผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรมรวมถึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยงในเชิงยุทธวิธีและยุทธการ

7.ข้อมูลที่สร้างกระแสทางสังคมหรือก่อให้เกิดความตื่นตกใจโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่มีหลักฐานยืนยัน

8.ข้อมูลที่เป็นภัยคุกคาม ต่อระบบสารสนเทศ และเครือข่าย ได้แก่ โปรแกรมไม่พึงประสงค์ หรือ Malware ทุกประเภท

9.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีของความเป็นข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดความขบขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ลดความเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานตำรวจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล และองค์กรตำรวจโดยรวม

ส่วนกรณีการไลฟ์สดของ ส.ต.ต. ฉัตรมงคล สมแก้ว ที่มีกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ ถึงความไม่เหมาะสมนั้น อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานต้นสังกัด

พันตำรวจเอก ศิริวัฒน์ ชี้แจงต่อว่า สำหรับข้อสงสัยในเรื่องการ work from home ของข้าราชการตำรวจนั้น ในส่วนข้าราชการตำรวจฝ่ายปฏิบัติการในสายงานป้องกันปราบปราม ฝ่ายสืบสวน ฝ่ายสอบสวน และฝ่ายจราจร การ work from home เป็นไปได้ยากเนื่องจากต้องออกปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อยู่โดยตลอด ซึ่งจะมีการระมัดระวังตนเองในการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว ตั้งแต่การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนปฏิบัติหน้าที่ สวมใส่หน้ากากอนามัย พกแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อในการปฏิบัติงาน ฯลฯ แต่หากเป็นข้าราชการฝ่ายอำนวยการหรือธุรการ อาจมีการพิจารณาผ่อนกำลังได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นๆ และต้องไม่กระทบกับภารกิจของหน่วยงาน

จึงฝากถึงพี่น้องข้าราชการตำรวจ ในการเข้าถึงหรือใช้สื่อสังคมออนไลน์ ควรพิจารณาใช้ด้วยความระมัดและถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การข้อกำหนดเกี่ยวกับใช้สื่อออนไลน์ของตำรวจมีขึ้น ภายหลังเกิดกรณีนักร้องชื่อดัง "เจนนี่ ได้หมดถ้าสดชื่น" รัชนก สุวรรณเกตุ พร้อมแฟนหนุ่ม "ยิว" ส.ต.ต.ฉัตรมงคล สมแก้ว ไลฟ์สดตอบคำถามแฟนคลับเรื่องการทำงาน ซึ่งมีคนถามว่า ยิว ไม่ต้องไปทำงานเหรอ

เจ้าตัวก็ตอบว่า Work From Home กันอยู่ และตำรวจไม่ได้ทำงาน 24 ชั่วโมงทำให้ชาวโซเชียลบางคน ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาดแบบนี้ ตำรวจยังทำงานแบบสบายๆ ได้หรือไม่