'ลูกจ้าง' ต้องรู้!! เจ็บป่วยยุคโควิด ไร้กังวล 'กองทุนเงินทดแทน'พร้อมดูแล

'ลูกจ้าง' ต้องรู้!! เจ็บป่วยยุคโควิด ไร้กังวล 'กองทุนเงินทดแทน'พร้อมดูแล

'ลูกจ้าง' ต้องรู้!! หากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ไม่ต้องกังวล 'กองทุนเงินทดแทน' ให้การดูแลค่ารักษาพร้อมเงินทดแทนเต็มที่

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การดูแล 'ลูกจ้าง'ที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ซึ่งดำเนินงานตามนโยบายของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของ'ลูกจ้าง'

เมื่อ'ลูกจ้าง'ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จะได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล และเงินทดแทนจาก 'กองทุนเงินทดแทน' ที่'ลูกจ้าง'พึงจะได้รับอย่างเต็มที่ ซึ่งจากผลการวินิจฉัยเรื่องการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานประจำปี 2563 มี'ลูกจ้าง'มีสิทธิได้รับเงินทดแทนไปแล้วจำนวน 25,518 ราย

โดยข้อมูล ในปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) มี 'ลูกจ้าง'ที่อยู่ในข่ายได้รับเงินทดแทนแล้วจำนวน 26,673 ราย อย่างไรก็ดี  'กองทุนเงินทดแทน'" สำนักงานประกันสังคมในฐานะที่ดูแลจึงขอให้'ลูกจ้าง'ตระหนักถึงความปลอดภัย ในการทำงาน  รวมถึงสถานประกอบการต้องให้ความระมัดระวังความปลอดภัยในการทำงาน

  • "กองทุนเงินทดแทน" พร้อมดูแลค่ารักษาพยาบาลแทน "ลูกจ้าง

หากเป็นเหตุการณ์ที่ประสบอันตราย นายจ้างมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย ตายหรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 (กท.16) ส่งให้สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ที่นายจ้างขึ้นทะเบียนไว้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ ทราบการประสบอันตราย ของ'ลูกจ้าง'

กรณี'ลูกจ้าง'ประสบอันตรายเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคม ขอแนะนำให้นายจ้าง ส่งตัว'ลูกจ้าง'เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของ 'กองทุนเงินทดแทน' โดยที่นายจ้างไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาล่วงหน้าและสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวง

162217842760

ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2563 ซึ่งค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง

  • "ลูกจ้าง" บาดเจ็บรุนแรงเรื้อรังได้รับค่ารักษาเพิ่มได้อีก1 แสนบาท

หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 300,000 บาท หรือหากไม่เพียงพอ สามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้ รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ และสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีกแต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้ความเห็นชอบ

เว้นแต่ 'ลูกจ้าง'เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาล ของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกแต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/ สาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทรสายด่วน 1506 ติดต่อสอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th