'กรีน มันเดย์'ส่งเนื้อจำแลงจากพืชตลุยตลาดอินโดฯ-เกาหลีใต้

'กรีน มันเดย์'ส่งเนื้อจำแลงจากพืชตลุยตลาดอินโดฯ-เกาหลีใต้

'กรีน มันเดย์'เนื้อจำแลงจากพืชบุกตลาดอินโดฯ-เกาหลีใต้ ขณะซีอีโอบริษัทมั่นใจกระแสดูแลสุขภาพช่วงโควิด-19ระบาดหนักช่วยหนุนความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้น10เท่าจากปัจจุบัน

“เดวิด หยาง” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)กรีน มันเดย์ ผู้ผลิตเนื้อจากพืช ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์นิกเคอิ ว่าจะเริ่มจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทในอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ภายในเดือนมิ.ย.รองรับกระแสให้ความสำคัญกับสุขภาพของบรรดาผู้บริโภคทั่วโลกในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในอินโดนีเซียนั้น บริษัทจะเน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาล ส่วนในเกาหลีใต้เน้นผลิตภัณฑ์หลักคือออมนิพอร์ค เนื้อหมูที่ทำจากถั่วเหลืองและข้าว

ซีอีโอกรีน มันเดย์ ยังระบุด้วยว่า บริษัทมีแผนสร้างโรงงานผลิตในไต้หวันและบริษัทตั้งเป้าที่จะเริ่มเดินสายการผลิตภายในปลายปีนี้ ทั้งยังมีแผนตั้งโรงงาน1แห่งในจีนที่จะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในไตรมาสที่3 และการตั้งโรงงานใหม่ในประเทศต่างๆจะช่วยให้บริษัทมีกำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตในปัจจุบัน 10 เท่า

หยาง ระบุว่าการลงทุนในไต้หวันจะไม่ถึง20 ล้านดอลลาร์และโรงงานผลิตแห่งใหม่ในไต้หวันรวมทั้งโรงงานผลิตที่มีอยู่แล้วในประเทศไทยจะผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกบางส่วน ส่วนโรงงานในจีนจะผลิตเพื่อจำหน่ายภายในจีน

ธุรกิจของกรีน มันเดย์ประสบความสำเร็จอย่างดีและมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นจึงพากันปฏิเสธที่จะบริโภคเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มเชิงพาณิชย์และหันมาบริโภคอาหารที่ไม่ได้มาจากเนื้อสัตว์โดยตรงกันมากขึ้น

"สำหรับภาคธุรกิจการให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคมและหลักการด้านธรรมาภิบาลเพิ่มสูงขึ้นมากนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไ่ม่ใช่เฉพาะในธุรกิจอาหารเท่านั้น"หยาง กล่าวและว่า การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ความต้องการเนื้อที่ผลิตจากพืชทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณการผลิตของบริษัทปรับตัวขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อปีที่แล้วเมื่อเทียบกับปี 2562

ข้อมูลจากสตาติสตา บริษัทให้บริการข้อมูลด้านต่างๆคาดการณ์ว่าตลาดเนื้อที่ผลิตจากพืชในเอเชียจะขยายตัวปีละ 15.9%ไปจนถึงปี2569 ถือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดในโลก ซึ่งกรีน มันเดย์คาดการณ์ว่าการจัดจำหน่ายโดยตรงให้ถึงมือผู้บริโภคที่อยู่ที่บ้านจะมีสัดส่วน 70% ของความต้องการโดยรวมสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ขณะเดียวกัน หยางก็คาดการณ์ว่าความต้องการจากอุตสาหกรรมให้บริการอาหารจะขยายตัวถึง 50% เมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19สิ้นสุดลง นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการจัดจำหน่ายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อด้วย

“เราคาดการณ์ว่ายอดขายสินค้าของเราจะเพิ่มขึ้นในเซ็กเตอร์อาหารพร้อมรับประทาน”หยาง กล่าว

นอกจากเน้นทำตลาดในเอเชียแล้ว กรีน มันเดย์ยังให้ความสำคัญกับการทำตลาดในสหรัฐ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่นและตลาดใหญ่สุดคือจีน และการขยายตลาดตามที่กล่าวมาในปีนี้ กรีน มันเดย์ตั้งเป้าที่จะทำยอดขายเพิ่มขึ้นให้ได้สามเท่าเมื่อเทียบกับยอดขายปี 2563

ขณะที่ผู้ผลิตเนื้อจากพืชรายอื่นที่หวังพึ่งพาตลาดจีนในการสร้างรายได้ก็มีบริษัทบียอนด์ มีท ผู้ผลิตเนื้อจากสหรัฐที่ประกาศเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้วว่าจะเปิดโรงงานผลิตในจีนและเริ่มเดินสายการผลิตเต็มที่ในปีนี้ โดยเป็นหุ้นส่วนกับยัม ไชนา ผู้ดำเนินการเชนอาหารฟาสต์ฟู้ดเคเอฟซีและพิซซ่า ฮัทในท้องถิ่นเพื่อเมนูอาหารเนื้อหลากหลายที่ทำจากพืช

ส่วนคู่แข่งสัญชาติอเมริกันอีกแห่งคือ อิมพอสสิเบิล ฟู้ดส์ ที่รุกเข้าสู่ตลาดเอเชียแล้วด้วยการเปิดตัวเบอร์เกอร์เนื้อทำจากพืชในซูเปอร์มาร์เก็ตประมาณ200แห่งในฮ่องกงและสิงคโปร์ช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งแพท บราวน์ ซีอีโออิมพอสสิเบิล ฟู้ดส์ บอกว่า บริษัทวางแผนที่จะสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานที่พร้อมสรรพในจีน

ด้านสตาร์ทอัพญี่ปุ่นอย่าง“ดาอิซ” (Daiz)ก็ส่ง“มิราเคิล มีท”รุกตลาดสหรัฐพร้อมทั้งประกาศสร้างโรงงานผลิตเนื้อวัวที่ทำจากพืชในสหรัฐในปี 2565ด้วย

แต่ถึงแม้จะมีผู้เล่นมากมายในตลาดเอเชีย แต่หยางก็มั่นใจว่ากรีน มันเดย์จะยึดหัวหาดธุรกิจนี้ในเอเชียได้อย่างแข็งแกร่ง “เราเน้นที่อาหารเอเชียเป็นหลัก เราถึงปักหลักที่ตลาดเอเชีย เรามีความรู้มากกว่าท้องถิ่นนิดหน่อยและผู้บริโภคในเอเชียนิยมบริโภคเนื้อหมูเป็นหลัก ขณะที่บริษัทอเมริกันที่เป็นคู่แข่งของเราจะเน้นเนื้อวัวเป็นหลัก”

เพื่อกระตุ้นยอดขายและสร้างการยอมรับเกี่ยวกับแบรนด์ในจีน กรีน มันเดย์วางแผนที่จะขยายร้านหลักๆที่ทำเงินให้ได้มากที่สุดเป็น 10 แห่งในปีนี้จากปัจจุบันที่มีแห่งเดียว โดยเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว บริษัทซึ่งมีฐานดำเนินงานในฮ่องกงระดมทุนได้ 70 ล้านดอลลาร์เพื่อขยายธุรกิจ โดยบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสาขาร้านสองเท่าในตลาดต่างๆ 10 แห่งนอกเหนือจากภูมิภาคเอเชีย เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาเหนือในปีนี้ ทั้งยังตั้งความหวังว่าจะเพิ่มยอดขายให้ได้อีกสองเท่าเป็นมากกว่า 40,000 ดอลาร์

ในการระดมทุนรอบใหม่ที่หยางบอกว่าเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อนำเงินที่ระดมทุนได้มาขยายธุรกิจนั้น นำโดยเดอะ ไรส์ ฟันด์และสไวร์ แปซิฟิก กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในฮ่องกงที่เป็นเจ้าของสายการบินคารเธ่ย์ แปซิฟิก ,ซีพีที แคปิตัล, เจฟเฟอรีส์ กรุ๊ป และอึ้ง แฟมิลี ทรัสต์ของซิโน กรุ๊ป