'ระบบอุปถัมภ์' ปลุกเผด็จการเสียงข้างมาก

'ระบบอุปถัมภ์' ปลุกเผด็จการเสียงข้างมาก

แนวโน้มการเกิดเผด็จการเสียงข้างมาก โดยอาศัยวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ทั้งอำนาจทางการเมือง ผลประโยชน์ทางการเมือง หรือการต่อรอง

นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาถือการปฏิรูปการเมืองไม่ได้คืบหน้าเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระต่างๆ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามหลักคิดการมีองค์กรอิสระเพื่อช่วยตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจในระบบประชาธิปไตย แต่องค์กรอิสระไม่ได้ทำหน้าที่นี้อย่างได้ผลสำเร็จตามหลักการที่วางไว้ นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการมีเสียงเผด็จการข้างมากในสภาเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบ 7 ปี ขณะเดียวกันเรายังไม่ได้ดำเนินการเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพื่อปลูกฝังให้ประชาชน สถาบันการศึกษา และนักเรียนได้เข้าใจถึงประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง และมีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศ

"การปฏิรูปการเมืองต้องมีเป้าหมายสูงสุดเรื่องประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งคนจำนวนมากบอกว่าการปฏิรูปการเมืองคือการทำให้ระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่อยากให้มองไปไกลถึงการทำประโยชน์ให้ประชาชนด้วย เพราะถ้าเรามีประชาธิปไตยแต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ก็คิดว่าประชาธิปไตยจะมีค่าที่น้อยลง"นายกนก ระบุ

นายกนก มองว่าการปฏิรูปการเมืองเพื่อสร้างความสมดุลให้กับ 2 อำนาจ 1.อำนาจทางการเมือง ตั้งแต่อำนาจของทหารที่ยึดอำนาจอำนาจของพรรคการเมือง อำนาจของรัฐบาล และ 2.ความรู้ ซึ่งการปฏิรูปการเมืองต้องมีอำนาจและความรู้ควบคู่กันไปให้สมดุลกันแต่การปฏิรูปการเมืองขณะนี้ยังไม่สามารถเปลี่ยนดุลตรงนี้ได้ คือ "อำนาจ" ยังมีบทบาทมากกว่า "ความรู้" ทำให้การเมืองเป็นเรื่องการใช้อำนาจมากกว่าความรู้ ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองต้องให้ความสำคัญกับสถาบันการเมือง อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคการเมือง สภา องค์กรอิสระ แต่โครงสร้างตรงนี้ยังไม่เป็นอิสระ แต่ยังอยู่ภายใต้วัฒนธรรมของสังคมไทยในเรื่อง "สังคมอุปถัมภ์" ค่อนข้างสูง ทำให้วัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยยังไม่เข้มแข็ง

"เมื่อเป็นเช่นนี้องค์กรอิสระต่างๆ เช่น กกต.ก็ใช้อำนาจในเชิงอุปถัมภ์มากกว่าใช้ความรู้สร้างการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมตามอำนาจของประชาธิปไตย นอกจากนี้ในบริบททางสังคมที่มีโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นพลังสูงและเข้าถึงทุกบุคคล แต่ถ้าวัฒนธรรมประชาธิปไตยไม่เกิด หรือการคิดวิเคราะห์ความรู้ของประชาชนไม่เข้มแข็ง แต่อำนาจระบบอุปถัมภ์ที่เข้มแข็ง สุดท้ายในโซเชียลมีเดียก็แบ่งคนออกเป็นกลุ่มเป็นฝ่ายเหมือนในขณะนี้ โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางอำนาจ แทนที่จะต่อสู้ทางความรู้"นายกนกระบุ

ขณะที่ฉากทางการเมืองในอนาคต ในภาวะที่การปฏิรูปการเมืองยังไม่ชัดเจนนั้น นายกนกเชื่อว่าแนวโน้มการเกิดเผด็จการเสียงข้างมาก โดยอาศัยวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ทั้งอำนาจทางการเมือง ผลประโยชน์ทางการเมือง หรือการต่อรอง ทำให้ทุกคนถูกบีบต้องยกมือตามที่ผู้อุปถัมภ์ต้องการ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสภา แต่เกิดขึ้นทั้งในพรรคการเมือง หรือกระทั่งองค์กรอิสระซึ่งจะเป็นจุดใหญ่ของการปฏิรูปการเมืองที่พยายามมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ไม่สำเร็จและยังมีบทบาทค่อนข้างสูง.