โควิดล้มเหลว-ซุกงบกองทัพ วาระร้อน‘หลอนรัฐบาล’

โควิดล้มเหลว-ซุกงบกองทัพ  วาระร้อน‘หลอนรัฐบาล’

ความล้มเหลวในการแพร่ระบาดของโควิด บวกความไม่เคลียร์ในเรื่องการจัดสรรงบของเหล่าทัพ จุดนี้เองที่อาจเป็นเป้าสำคัญที่ทำให้ฝ่ายค้านช่วงชิงจังหวะลากบรรดา "บิ๊กรัฐบาล" ขึ้นสังเวียนสภา เพื่อชำแหละแผลเก่าอีกครั้ง

เสียงประกาศกร้าว “ไม่รับหลักการ” ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1ล้านล้านบาท ถือเป็นการส่งสัญญาณจากบรรดา “7 พรรคฝ่ายค้าน” ต่อการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในชั้นรับหลัการวาระแรก ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 31 พ.ค.นี้

เหตุผลของการไม่รับหลักการในครั้งนี้ “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จั่วหัวไว้ว่า เกิดจาก “การจัดสรรงบประมาณไม่ตรงกับปัญหาความจำเป็น และยังพบความล้มเหลวของการแก้ปัญหาโควิด และเศรษฐกิจ”

ย้อนกลับไปในการพิจารณางบประมาณ 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งห้วงของการบริหารประเทศภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า การพิจารณางบประมาณครั้งแรกในรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" คือ งบประมาณปี 63 ครั้งนั้นที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการ 251 ต่อ 0 งดออกเสียง 234 ไม่ลงคะแนน 1

ก่อนที่ต่อมาในการพิจารณางบประมาณปี 64 สภาฯ มติรับหลักการ 273 ต่อ 200 งดออกเสียง 3

ผลการลงมติ 2 ครั้งที่ผ่านมา ชี้ใช้เห็นว่า กว่า1ปีของการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ที่คาบเกี่ยวการจัดสรรงบถึง2ครั้งคืองบ64

และครั้งล่าสุดคือล่างบ65 ฝ่ายค้านพยายามยิบยกประเด็นความล้มเหลวและความคุ้มค้าในการบริหารจัดการงบประมาณในห้วงของการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะทั้ง3ระลอกใหญ่ ฉวยจังหวะนี้ในการลากรัฐบาลขึ้นเวทีสภา หวังขยี้แผลใหญ่อันส่งผลไปถึงความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล

ไม่ต่างไปจากงบกลาโหม ที่ยังคงตามหลอกหลอนรัฐบาลประยุทธ์ทุกครั้งที่มีการจัดทำงบ ย้อนหลังกลับไป 9 ปี กระทรวงกลาโหม-กองทัพภาย ภายใต้ร่มเงา “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์” ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 1,891,959 ล้านบาท แบ่งเป็นในช่วงรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ปี 65 วงเงิน 203,282 ล้านบาท  ปี 64 วงเงิน 214,530 ล้านบาท  ปี 63 วงเงิน 231,745 ล้านบาท 

หรือ ย้อนกลับไปในยุครัฐบาล คสช.พบว่า งบปี 62 กลาโหมได้รับวงเงิน 227,126 ล้านบาท ปี 61 วงเงิน 218,503 ล้านบาท  ปี 60 วงเงิน 213,544 ล้านบาท  ปี 59 วงเงิน 206,461 ล้านบาท ปี 58 วงเงิน 192,949 ล้านบาท และปี 57 วงเงิน 183,819 ล้านบาท

ที่สำคัญคือ “งบฯจัดซื้อยุทโธปกรณ์” ของกองทัพในปีนี้ ที่แม้ในเอกสารงบประมาณเล่มขาวคาดแดงของกลาโหมจะไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียด ด้วยเหตุผล “ด้านความมั่นคง” ที่มีเพียงกรอบตัวเลขแต่ละด้าน

แต่บรรดานักวิเคราะห์การเมือง รวมถึงนักการเมืองในขั้วฝ่ายค้านยังเชื่ออย่างสนิทใจว่า จะต้องมีงบในการจัดซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์ โดยเฉพาะเรือดำน้ำสอดไส้อยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งอย่างแน่นอน

จึงไม่แปลกที่เวลานี้จะเห็นความเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคฝ่ายค้าน ที่พยายามประโคมโหมโรงในเรื่องดังกล่าว เพื่อชำแหละแผลรัฐบาลอีกแผลหนึ่ง