'โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้' ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง

'โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้' ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง

ทำความรู้จัก "โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้" เข้าไทยแล้ว นักวิทยาศาสตร์ชี้ เชื้อสายตระกูล B.1.351 อาจทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics หรือ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ดังนี้ 

ไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351
“B.1.351”มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่คาดว่ามีผลกระทบต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ต่อไวรัส และลดประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีน แต่มิได้แปลว่าวัคซีนจะใช้ไม่ได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มอัตราส่วนประชากรผู้ได้รับวัคซีนให้สูงขึ้นเพื่อเกิดการป้องกันระดับประชากร
เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 B.1.351 หรือ 20H/501Y.V2 หรือที่เรียกกันติดปากว่าเชื้อโควิดกลายพันธุ์แอฟริกาใต้ (ภาพ 1) พบครั้งแรกในอ่าวเนลสันแมนเดลา เขตปริมณฑลของจังหวัดอีสเทิร์นเคปของแอฟริกาใต้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 รายงานโดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 จากการวิเคราะห์ รหัสพันธุกรรมชี้ให้เห็นว่าไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณอ่าว Nelson Mandela แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม 2563
162168688334
(ภาพ1)
การระบาดในประเทศไทยของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 (20H/501Y.V2) ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2564
ทางกลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (https://coni.team/) ได้รับการประสานจากทางกระทรวงสาธารณสุขให้ร่วมสืบสวนคลัสเตอร์ ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับข้อมูลว่าอาจเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อต่อเนื่องในประเทศไทย จากผู้ลักลอบเข้าเมือง จากการถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนมพบว่าเป็นเชื้อสายตระกูล B.1.351 ทางกลุ่ม ฯ ได้ส่งต่อข้อมูลทั้งหมดให้กับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในระดับภูมิภาคและระดับชาติเพื่อสื่อสารกับประชาชนต่อไป ทั้งนี้ทางกลุ่มขอสื่อสารข้อมูลชุดนี้ให้ประชาคมวิทยาศาสตร์เพื่อร่วมกัน ติดตาม เผ้าระวัง และพัฒนาวิธีป้องกันรักษาโรค โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ตัวอย่างชุดนี้จัดเก็บโดยทางกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 ทางกลุ่ม ฯ ได้รับตัวอย่างเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564 และคัดเลือกมาสามตัวอย่าง (รหัส BKKCOVID720, BKKCOVID721 และ BKKCOVID722) เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนม โดยตำแหน่งที่ถอดได้มีลำดับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมตรงกับสายตระกูล B.1.351 ตามระบบ PANGO แสดงใน (ภาพ 2)
2. การถอดรหัสใช้วิธี MinION ของ Oxford Nanopore Technologies (ภาพ 2) โดยมาจากวิธี amplicon sequencing ของ ARTIC Network ผ่านการวิเคราะห์โดย workflow ของ COG-UK และระบบ QC ของกลุ่ม ด้วยทรัพยากร Supercomputer จาก ThaiSC TARA
3. Genomic coverage ของสามตัวอย่างอยู่ที่ 85.01%, 90.11% และ 84.93% ตามลำดับ ปกติวิธีที่ใช้จะได้ coverage ประมาณ 95-98% แต่ตัวอย่างน่าจะมีการเสื่อมสลายระหว่างขนส่ง เพราะวิธีการอื่นที่ใช้วิเคราะห์ตัวอย่างนี้ก็มีปัญหาคล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ดีตำแหน่งที่ได้เพียงพอต่อการกำหนดสายตระกูล ทางทีมถอดรหัสจะใช้วิธีการ Illumina เพื่อเพิ่ม coverage ของตัวอย่างชุดนี้ต่อไป
4.ทางกลุ่มจะนำข้อมูล BKKCOVID721 ที่ได้เข้าสู่ระบบ GISAID และจะรวมเข้าไปใน Nextstrain build รอบถัดไป พร้อมทั้งติดตามต้นตอการระบาดด้วยวิธี Maximum-likelihood และ Bayesian analyses
5.เชื้อสายตระกูล B.1.351 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่คาดว่ามีผลกระทบต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ต่อไวรัส และลดประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีน แต่มิได้แปลว่าวัคซีนจะใช้ไม่ได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มอัตราส่วนประชากรผู้ได้รับวัคซีนให้สูงขึ้นเพื่อเกิดการป้องกันระดับประชากร
162168700777
(ภาพ 2) 
ทางกลุ่ม CONI ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ที่สังกัดสถาบันในไทยและต่างประเทศ ทางกลุ่มทำการถอดรหัสโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขสืบสวนโรคและติดตามการระบาดในระดับประชากร
ข้อมูลจัดเตรียมโดย
นาย ขจร จุลศักดิ์ (AFRIMS)
ผศ.ดร. ธนรรถ ชูขจร (มหาวิทยาลัยมหิดล)
พญ.ดร. ธีรรัตน์ คชการ (Molecular Infection Medicine Sweden)
นางสาว น้ำฝน โคตะนันท์ (มหาวิทยาลัยมหิดล)
นางสาว วิภาพร ทับทิมทอง (มหาวิทยาลัยมหิดล)
ดร. อลิซาเบธ แบตตี้ (มหาวิทยาลัยมหิดล/Oxford University)
ดร. เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ (มหาวิทยาลัยมหิดล)
ดร.อินทรีย์ เสนสอน (ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)
ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ (ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)
ความเห็นประกอบข้อมูลดังกล่าวมิใช่ของต้นสังกัด