ถอดรหัสพบ ‘โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้’ คลัสเตอร์ตากใบ จ.นราธิวาส

ถอดรหัสพบ ‘โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้’ คลัสเตอร์ตากใบ จ.นราธิวาส

นักวิทยาศาสตร์ ถอดรหัสเชื้อโควิด พบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จากคลัสเตอร์ตากใบ จ.นราธิวาส

วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 นักวิจัยหลากหลายสถาบัน ซึ่งรวมตัวเป็นกลุ่ม COVID-19 Network Investigations หรือ CONI เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ด้วยข้อมูลระดับจีโนม เผยแพร่รายงานสำหรับประชาคมวิทยาศาสตร์ เรื่อง การระบาดในประเทศของเชื้อ สายตระกูล B.1.351 (20H/501Y.V2) ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ระบุว่า

ปัจจุบันประเทศไทยมีการระบาดในประเทศของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายตระกูล B.1.351 (20H/501Y.V2) หรือที่มักเรียกกันในสื่อว่าเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทางกลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) ได้รับการประสานจากทางกระทรวงสาธารณสุขให้ร่วมสืบสวนคลัสเตอร์ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับข้อมูลว่าอาจเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อต่อเนื่องในประเทศไทย จากผู้ลักลอบเข้าเมือง

จากการถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนมพบว่าเป็นเชื้อสายตระกูล B.1351 ทางกลุ่มฯ ได้ส่งต่อข้อมูลทั้งหมดให้กับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในระดับภูมิภาคและระดับชาติเพื่อสื่อสารกับประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ ทางกลุ่มขอสื่อสารข้อมูลชุดนี้ให้ประชาคมวิทยาศาสตร์เพื่อร่วมกัน ติดตาม เฝ้าระวัง และพัฒนาวิธีป้องกันรักษาโรค

1.ตัวอย่างชุดนี้จัดเก็บโดยทางกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2564 ทางกลุ่มฯ ได้รับตัวอย่างเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564 และคัดเลือกมาสามตัวอย่าง เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนม โดยตำแหน่งที่ถอดได้มีลำดับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมตรงกับสายตระกูล B.1.351 ตามระบบ PANGO

2.การถอดรหัสใช้วิธี MinION ของ Oxford Nanopore Techonlogies

3.Genomic Coverage ของสามตัวอย่างอยู่ที่ 85.01%, 90.11% และ 84.93% ตามลำดับ

4.โดยปกติทางกลุ่มจะนำเสนอข้อมูลให้กระทรวงสาธารณสุขและนำข้อมูลเข้ GISAI โดยตรง แต่เนื่องจากข้อมูลชุดนี้มีความสำคัญ ทางกลุ่มจึงนำมาแสดงต่อประชาคมวิทยาศาตร์ทันที

5.เชื้อสายตระกูล B.1.351 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่คาดว่ามีผลกระทบต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ต่อไวรัส และลดประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีน แต่มิได้แปลว่าวัคซีนจะใช้ไม่ได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มอัตราส่วนประชากรผู้ได้รับวัคซีนให้สูงขึ้นเพื่อเกิดการป้องกันระดับประชากร

สำหรับข้อมูลดังกล่าวจัดเตรียมโดยนักวิทยาศาสตร์ 9 คน ได้แก่

  1. นายขจร จุลศักดิ์ (AFRIMS)
  2. ผศ.ดร.ธนรรถ ชูขจร (มหาวิทยาลัยมหิดล)
  3. พญ.ดร.ธีรรัตน์ คชการ (Molecular Infection Medicine Sweden)
  4. นางสาวน้ำฝน โคตะนันท์ (มหาวิทยาลัยมหิดล)
  5. ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิพย์ (มหาวิทยาลัยมหิดล)
  6. นางสาววิภาพร ทับทิมทอง (มหาวิทยาลัยมหิดล)
  7. ดร.อลิซาเบธ แบตตี้ (มหาวิทยาลัยมหิดล/Oxford University)
  8. ดร.อินทรีย์ เสนสอน (มหาวิทยาลัยมหิดล)
  9. ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ (มหาวิทยาลัยมหิดล)

อย่างไรก็ตาม ตอนท้ายเอกสารระบุว่า ความเห็นประกอบข้อมูลดังกล่าวมิใช่ของต้นสังกัด

โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้