‘ประสิทธิภาพของวัคซีน’ สำคัญแค่ไหน ถ้าเทียบกับ การได้ 'วัคซีนที่เร็วที่สุด' ?

‘ประสิทธิภาพของวัคซีน’ สำคัญแค่ไหน ถ้าเทียบกับ การได้ 'วัคซีนที่เร็วที่สุด' ?

เปิดเหตุผล เมื่อเปอร์เซ็นต์ของ "ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด" ไม่ได้ชี้วัด “คุณภาพ” ได้อย่างแท้จริง แล้ววัคซีนแบบไหนกันที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนไปหาคำตอบร่วมกัน

การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ณ ตอนนี้ ได้ทยอยเริ่มขึ้นแล้วสำหรับคนทั่วไป และจำนวนผู้ติดเชื้อก็มีทีท่าว่าจะไม่ลดลงอย่างง่ายๆ  ทำให้หลายคนก็ยังลังเลใจอยู่ว่าจะฉีดวัคซีนดีหรือไม่ เพราะเกิดความสับสนจากข้อมูลและข่าวลวงมากมาย 

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนดู ข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าสนใจว่า ทำไม “เปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพของวัคซีน ถึงไม่สำคัญเท่ากับ “การได้วัคซีนเร็วที่สุด” ในตอนนี้

แม้จะมีข้อมูลมากมายจากทางการแพทย์ที่โหมกระหน่ำจนทำให้ทุกคนเกือบเข้าใจไปเองว่า วัคซีนตัวใดยิ่งมีตัวเลข % สูง ยิ่งเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพที่ดี แต่ความจริง กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น..

จากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือของต่างประเทศอย่าง Forbes, Reuters และแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในประเทศไทยอย่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พบข้อมูลในทางเดียวกันว่า วัคซีนที่มีเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพสูงคือ วัคซีน Pfizer/BioNTech มีประสิทธิภาพ 95% Moderna 94% Sputnik V 92% และ NovaVax 89%

ในทางกลับกัน วัคซีน Oxford/AstraZeneca มีประสิทธิภาพแค่ 67% และ Johnson & Johnson 66%

แต่สำนักข่าวที่น่าเชื่อถืออย่าง Vox Media ของอเมริกาได้อธิบายถึง ความเข้าใจเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ไว้ดังนี้

     

4 เหตุผลที่ “ประสิทธิภาพของวัคซีน” อาจชี้วัดคุณภาพไม่ได้เสมอไป?

  • ตัวเลข % ประสิทธิภาพชี้วัดคุณภาพไม่ได้ เพราะว่าวัคซีนโควิด-19 แต่ละตัวทำการทดลองในสถานการณ์ที่ต่างกัน ทั้งช่วงเวลา ระลอกการระบาด สภาพอากาศ และฤดูกาลของประเทศนั้นๆ
  • ในช่วงเวลาใดก็ตามที่ทำการทดลองวัคซีนตัวนั้นๆ ไวรัสโควิด-19 ก็ได้มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกมาอย่างมากมาย
    ตัวอย่างเช่น หากนำวัคซีน Pfizer กับ Moderna (ที่เห็นว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด) มาทดลองในช่วงเวลาที่มีการกลายพันธุ์หนักขึ้นในช่วงเดียวกับที่นำวัคซีน Johnson & Johnson และ AstraZeneca (ที่เห็นว่ามีประสิทธิภาพไม่สูงนัก) มาทำการทดลอง ตัวเลข % ประสิทธิภาพที่ได้ก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปจากเดิม
  • ตัวเลข % ประสิทธิภาพจึงแค่ชี้ให้เห็นว่าผลการทดลองกับกลุ่มคนที่ทดลองเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้ชี้วัดได้ว่าจะมีประสิทธิภาพอย่างไรกับคนทั่วไป ในโลกความเป็นจริงที่แต่ละคนมีความหลากหลายทางร่างกายและสุขภาพที่ไม่เหมือนกัน

162150772311

    

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ปลอดภัยคือแบบไหน ยี่ห้อไหน?

ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยรายงาน การรวบรวมการศึกษาเรื่องประสิทธิภาพ-ความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ที่มีในท้องตลาดปัจจุบัน ดังนี้

วัคซีนในท้องตลาดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ตามรายงาน ได้แก่ Sinovac, AstraZeneca, Moderna, Pfizer, Johnson & Johnson, Novavax และ Gamaleya ทุกตัวป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 100% หากมีการสัมผัสเชื้อหลังฉีดวัคซีน

วัคซีน Sinovac ที่หลายคนเป็นห่วงถึงความไม่ปลอดภัย ในรายงานบอกว่า วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่แสดงอาการได้ถึง 78.2% (ไม่ได้มีประสิทธิภาพต่ำถึง 50.4% ตามที่ข่าวลวงเผยแพร่ออกไป) 

ในขณะที่ Astra-Zeneca มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรง ไปจนถึงการใช้ออกซิเจน การเข้าไอซียู ไปจนถึงการเสียชีวิตได้ถึง 100% ด้วย

นอกจากนี้สำนักข่าว Reuters ยังรายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า วัคซีน Pfizer และ Moderna นั้นยังมีประสิทธิภาพสูงตั้งแต่ได้รับการฉีดโดสแรกด้วย 

ทั้งนี้หากพูดถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น(อาการไม่พึงประสงค์ทางการแพทย์) วัคซีนทุกตัวก็มีผู้ได้รับผลข้างเคียงแต่เป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก โดยเฉพาะกรณีที่เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ทางการแพทย์ยอมรับไม่ได้ เช่น การเสียชีวิต แต่อาจต้องมาศึกษาต่อว่าเป็นผลมาจากวัคซีนหรือตัวบุคคลด้วย 

     

 3 หน้าที่สำคัญของวัคซีนโควิด-19 

หากวัคซีนผ่านการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุข ของแต่ละประเทศแล้วก็อาจมีความปลอดภัย เพราะการฉีดวัคซีนจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน และหากเมื่อทุกๆ คนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เยอะขึ้น ภูมิคุ้มกันหมู่ในสังคมจะเกิดมากขึ้น มาดูกันว่า 3 หน้าที่สำคัญของวัคซีนมีอะไรบ้าง

  • สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย (ซึ่งวัคซีนทุกยี่ห้อทำหน้าที่ส่วนนี้ได้ดี)
  • ลดอัตราการติดเชื้อ
  • แต่หากติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน ร่างกายจะได้รับอันตรายจากไวรัสน้อยลง ป้องกันอาการรุนแรง 

หมายเหตุ : 

- ไม่มีวัคซีนตัวใดป้องกันการติดเชื้อทุกสายพันธุ์ได้
ทั้งนี้สามารถเกิดอาการไม่พึงประสงค์ทางการแพทย์ทั้งที่ยอมรับได้และยอมรับไม่ได้เช่นกัน แต่เกิดขึ้นในอัตราส่วนที่น้อย

    

อ้างอิง VOX Media(1)VOX Media(2) , Forbes, Reuters , ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (1)ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (2)