‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.17 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.17 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทอ่อนค่าตามบรรยากาศการลงทุนที่ไม่สด ทั้งนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่องและตลาดการเงินยังปิดรับความเสี่ยงในระยะนี้ คาดวันนี้เงินบาทคลื่อนไหวในกรอบ 31.15- 31.25บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.17 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.10 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15-31.25 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคาดว่า หากเงินดอลลาร์ยังไร้ทิศทางที่ชัดเจน เงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบเดิม โดยในระหว่างวัน เงินบาทอาจอ่อนค่าลงได้บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายหุ้นไทยต่อ ตามบรรยากาศการลงทุนที่ไม่สดใสในระยะนี้

แต่เราก็มองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์อยู่ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.20-31.30 บาทต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ เราคงมองว่า แนวรับสำคัญของเงินบาทในระยะสั้นยังอยู่ที่31.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งระดับดังกล่าว ยังคงเห็นบรรดาผู้นำเข้าทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันก็มีบางบริษัทที่จำเป็นต้องจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติก็ทยอยเข้ามาซื้อสกุลเงินต่างประเทศเช่นกัน (คาดว่ายอดจ่ายเงินปันผลในช่วงที่เหลือของเดือนพฤษภาคมจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท)

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลต่อแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อหลังจากที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ Bloomberg Commodity Index พุ่งขึ้นกว่า 0.7%) แม้ว่าถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงคืนที่ผ่านมาจะยังคงมองว่า เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเพียงชั่วคราวและเฟดยังไม่รีบพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือลดการอัดฉีดสภาพคล่องเร็วๆนี้

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะลดความเสี่ยงลงด้วยการเทขายหุ้น ซึ่งแรงเทขายหุ้นเริ่มลุกลามไปยัง หุ้นในกลุ่ม Cyclical มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ ดัชนี Dowjones ปรับตัวลงกว่า 1.4% ส่วน ดัชนี S&P500 ก็ปิดลบราว 0.9% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อลงเพียง 0.1% หลังจากที่ ดิ่งลงกว่า 2% ในช่วงแรกของการเทรด จนมีแรงซื้อของนักลงทุนที่รอจังหวะเก็บหุ้นตอนย่อ (Dip Buyers) เข้ามาพยุงตลาดไว้

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปิดลบราว 1.9% เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ  กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ การเงินและพลังงาน อาทิ Adyen, Enel, ING และ SAP เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเริ่มกระจายไปยัง หุ้นในกลุ่ม Cyclical มากขึ้น แต่เราคงมองว่า หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม Cyclical จะสามารถต้านแรงเทขายได้ดีกว่า หุ้นในกลุ่มเทคฯ และธีม Cyclical & Value Play ยังสามารถไปต่อได้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นก็ตาม

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาพรวมยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากวันก่อนหน้า โดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้น 2bps สู่ระดับ 1.62% แม้ว่าตลาดโดยรวมจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง เพราะผู้เล่นส่วนใหญ่กลับมากังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะหนุนให้ยีลด์ระยะยาวปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอคอยการรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในวันนี้ ซึ่งหากเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะหากเงินเฟ้อพื้นฐาน ตลาดก็อาจคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ไม่ได้พุ่งขึ้นแรงหรืออาจทรงตัวในกรอบช่วง1.55%-1.60% ได้

ทั้งนี้ ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 90.20 จุด เราคาดว่า เงินดอลลาร์จะยังไม่ได้เคลื่อนไหวมีทิศทางชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอฟังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ของเฟดในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองเงินดอลลลาร์

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์มีโอกาสทรงตัวหรืออ่อนค่าลงได้ หากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดต่างยืนกรานว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ และตลาดการเงินก็ไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงรุนแรง

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามทิศทางเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากทั้งการบริโภคในประเทศจะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนเมษายน เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) จะได้แรงหนุนจากฐานราคาน้ำมันปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ CPI เร่งตัวขึ้นแตะ 3.6%

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอังกฤษ โดยตลาดประเมินว่า อานิสงส์ของการเร่งแจกจ่ายวัคซีนจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมอังกฤษฟื้นตัวดีขึ้น โดยยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนมีนาคม จะปรับตัวขึ้นกว่า 1.0%m/m ทว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในช่วงไตรมาสแรกจะกดดันให้เศรษฐกิจหดตัว -6.1%y/y

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะยังคงติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ  Daly, Bostic, Clarida เพื่อติดตามมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและโอกาสที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยต้องระมัดระวังในกรณีที่เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่แสดงความมั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่าง การปรับลดคิวอี (QE Tapering) เพราะอาจทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงได้