หมออินเดียเตือนอาบ‘มูลวัว’ป้องโควิด‘ยิ่งแพร่โรค’

หมออินเดียเตือนอาบ‘มูลวัว’ป้องโควิด‘ยิ่งแพร่โรค’

เหล่าแพทย์อินเดียเตือนไม่ให้อาบมูลวัวป้องกันโควิด-19 ตามที่เชื่อกัน ชี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าได้ผลจริง แถมยังเสี่ยงแพร่โรคอื่นๆ ด้วย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายให้อินเดียมหาศาล จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 22.66 ล้านคน เสียชีวิต 246,116 คน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ตัวเลขจริงสูงกว่านี้ 5-10 เท่า ประชาชนทั่วประเทศกำลังดิ้นรนหาเตียงโรงพยาบาล ออกซิเจน หรือยา หลายคนเสียชีวิตไปโดยไม่ได้รับการรักษา

ในรัฐคุชราตทางตะวันตกของประเทศ ผู้ศรัทธาบางคนเข้าไปในคอกวัวสัปดาห์ละครั้งเพื่ออาบร่างกายด้วยมูลและปัสสาวะวัว ด้วยหวังว่าจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายหรือหายจากโควิด

ทั้งนี้เนื่องจากในศาสนาฮินดู วัวเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิแห่งชีวิตและโลก ชาวฮินดูใช้มูลวัวทำความสะอาดบ้านและทำพิธีสวดเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว เพราะเชื่อว่ามีคุณสมบัติในการรักษาโรคและฆ่าเชื้อ

นายกัวทัม มานิลัล บอริสา ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทยาแห่งหนึ่ง เป็นหนึ่งในสานุศิษย์สำนักศรีสวามีนรายัณ คุรุกุล วิศววิทยา ประดิษฐนัม ของนักบวชฮินดู ร่วมพิธีอาบมูลและปัสสาวะวัวเป็นประจำ เขาเชื่อว่าวิธีนี้ช่วยให้หายป่วยจากโควิดเมื่อปีก่อน สำนักแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสำนักงานใหญ่บริษัทซีดัสคาดิลา ทีี่กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของตนเองอยู่ในขณะนี้ 

ขั้นตอนการปฏิบัติประกอบด้วยการอาบร่างกายด้วยมูลวัวผสมปัสสาวะวัวปล่อยไว้จนแห้ง กอดหรือเคารพวัวในคอก พร้อมฝึกโยคะเพื่อเสริมสร้างพลังงาน จากนั้นล้างตัวด้วยนมวัวหรือนมเปรี้ยว

เหล่าแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทั้งในอินเดียและทั่วโลกเตือนมาตลอดถึงการรักษาแบบทางเลือกว่า อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าปลอดภัยและเกิดปัญหาสุขภาพมากขึ้น

“ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นรูปธรรมว่ามูลหรือปัสสาวะวัวเพิ่มภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้ เป็นความเชื่อล้วนๆ อีกทั้งการอาบหรือบริโภคสิ่งเหล่านี้อาจทำให้มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา เชื้อโรคสามารถแพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ได้” นายแพทย์เจเอ จายาลัล ประธานสมาคมแพทย์แห่งอินเดียกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น การรักษาแบบนี้อาจแพร่โควิด-19 ด้วย เพราะผู้คนต้องมารวตัวกันเป็นกลุ่ม แต่นายมธุจรัญ ดาส ผู้ดูแลคอกวัวอีกแห่งหนึ่งในอาห์เมดาบัดแย้งว่า พวกเขาจำกัดจำนวนผู้ร่วมพิธี