ถอดบทเรียนฟิลิปปินส์ 'คนป่วยแห่งเอเชีย' ถึง 'ย้ายประเทศกันเถอะ'

ถอดบทเรียนฟิลิปปินส์ 'คนป่วยแห่งเอเชีย' ถึง 'ย้ายประเทศกันเถอะ'

มาวันนี้ เมื่อความรู้สึกของคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมาก อยากไปทำงานในต่างประเทศมากกว่าอยู่เมืองไทย หรือนี่คือเครื่องยืนยันว่าไทยกำลังซ้ำรอย 'คนป่วยแห่งเอเชีย'

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสย้ายประเทศกันเถอะ บนโลกโซเชียล ในสัปดาห์เดียว สามารถรวบรวมสมาชิกแฟนเพจบน Facebook ในชื่อกลุ่ม 'ย้ายประเทศกันเถอะ' และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น 'โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย' ได้เกือบ 1 ล้านคน (ณ วันที่ 9 พ.ค. 2564 ยอดสมาชิกมากกว่า 970,000 คน)

ภายในกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้ชีวิตและทำงานในต่างประเทศจากคนไทยทั่วโลก แบ่งปัน จุดแข็ง จุดอ่อน ของแต่ละประเทศ แนะนำวิธีการได้วีซ่าแบบต่างๆ ของแต่ละประเทศ กระทั่งล่าสุดมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเป็นประเทศต่างๆ มีการสอนภาษาให้กัน ตลอดจนหาทุนเรียนต่อในต่างประเทศมาแชร์ให้กับสมาชิก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะสะท้อนมุมมองคนจำนวนมากในสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยากไปทำงานและใช้ชีวิตในต่างประเทศ

คำถามสำคัญคือ เพราะอะไรคนเหล่านี้ถึงอยากไปทำงานและใช้ชีวิตเมืองนอกมากกว่าอยู่เมืองไทย

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว บทความนี้อยากยกกรณีศึกษาประเทศฟิลิปปินส์ที่ผ่านจุดนี้มาก่อน ปัจจุบันคนฟิลิปปินส์ไปทำงานในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จนรายได้จากการทำงานในต่างประเทศของคนฟิลิปปินส์ที่โอนเข้าประเทศสูงเป็นอันดับหนึ่งของรายได้จากการขายสินค้าบริการ 

ฟิลิปปินส์ : ประเทศที่แรงงานอยากไปทำงานนอกประเทศ

จากข้อมูลของธนาคารกลางประเทศฟิลิปปินส์ (The Bangko Sentral ng Pilipinas) มูลค่าการส่งเงินสดกลับประเทศ (Cash Remittances) ผ่านธนาคารของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ปี 2562 อยู่ที่ 24,858 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากมูลค่าเงินส่งกลับประเทศจำนวนมาก จนปัจจุบันแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของฟิลิปปินส์

เหตุผลที่คนฟิลิปปินส์จำนวนมากไปทำงานในต่างประเทศ

1. หางานทำในประเทศยาก การแข่งขันสูง คนฟิลิปปินส์เสี่ยงตกงานสูง ขณะที่การไปทำงานต่างประเทศได้เงินเดือน ค่าตอบแทนสูงกว่า

2. ค่านิยมของครอบครัวและสังคม แรงกดดันและความรับผิดชอบจากครอบครัว เพื่อหารายได้ได้สูงขึ้นเหมือนครอบครัวอื่นที่มีคนไปทำงานในต่างประเทศ แล้วครอบครัวสบายขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น นอกจากนี้แรงงานบางส่วนยังไปทำงานต่างประเทศ เพราะมีสมาชิกครอบครัวตัวเองทำงานที่นั่นอยู่แล้ว

3. การไปทำงานต่างประเทศกลายเป็นวัฒนธรรม ในเชิงประวัติศาสตร์ การไปทำงานต่างประเทศของคนฟิลิปปินส์เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานาน ตั้งแต่ฟิลิปปินส์ยังเป็นอาณานิคมของสเปน และครอบครองโดยสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยประธานาธิบดี เฟอร์ดินัน มาร์กอส ที่เศรษฐกิจตกต่ำ เกิดวิกฤติการณ์น้ำมัน คนฟิลิปปินส์ยิ่งออกไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น เมื่อเด็กฟิลิปปินส์โตขึ้น ก็อยากไปทำงานในต่างประเทศ

4. คนฟิลิปปินส์จำนวนมากมีการศึกษาดี มีทักษะการทำงานสูง ปัจจัยทางภาษาก็มีส่วนสำคัญ คนฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ภาษาจึงไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานต่างประเทศ

5. เศรษฐกิจเติบโตช้า รัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการบริหารเศรษฐกิจ ประชาชนจำนวนมากสิ้นหวังในนโยบายรัฐบาล ไม่เชื่อว่าจะบริหารประเทศหรือเศรษฐกิจให้ดีได้

6. แรงงานจำนวนมากในฟิลิปปินส์ถูกจ้างงานในรูปแบบสัญญาระยะสั้น ด้วยค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ขณะเดียวกันกลับมีค่าครองชีพสูง แรงงานที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำส่วนใหญ่จึงดำรงชีวิตลำบาก 

ตัวอย่างเช่น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2015 ครอบครัวฟิลิปปินส์มีค่าครองชีพที่ 345 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน แต่สำหรับแรงงานที่ได้รับค่าจ้างที่ค่าแรงขั้นต่ำ ทำงาน 21 วันต่อเดือน จะได้เงินเดือนที่ 207 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเห็นว่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การไปทำงานในต่างประเทศจึงจูงใจกว่า เพราะได้ค่าแรงสูงกว่า เก็บเงินได้มากกว่า

7. เทคโนโลยีปัจจุบันช่วยให้การสื่อสารสะดวกขึ้น ติดต่อคนในครอบครัวไม่ลำบาก

8. คนฟิลิปปินส์จำนวนมากรู้สึกไม่ปลอดภัยในประเทศตัวเอง มีอาชญากรรมตามท้องถนนจำนวนมาก

นอกจากนี้ การไปทำงานในต่างประเทศของคนฟิลิปปินส์ยังเพิ่มขึ้นจากนโยบายรัฐบาล รัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายส่งเสริมแรงงานไปทำงานต่างประเทศ มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อออกกฎระเบียบรับรองให้คนไปทำงานต่างประเทศสะดวก

เมื่อฟิลิปปินส์ส่งไม้ต่อ 'คนป่วยแห่งเอเชีย' ให้ไทย

ฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่าเป็น 'คนป่วยแห่งเอเชีย' มายาวนาน จากสาเหตุที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำ มีการว่างงานสูง การลงทุนจากต่างประเทศลดลง มีการแทรกแซงและผูกขาดโดยกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศ ปัญหารุมเร้าทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งที่ในอดีต ช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตดี มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน

ผลของการเป็น 'คนป่วยแห่งเอเชีย' นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นับแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา แรงงานชาวฟิลิปปินส์และคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา ปรารถนาไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เศรษฐกิจฟิลิปปินส์กลับมาดีขึ้น เติบโตและมีเสถียรภาพมากขึ้น ในทางกลับกัน เศรษฐกิจไทยกลับกลายเป็นเติบโตต่ำต่อเนื่อง เผชิญปัญหาการเมืองไม่มีเสถียรภาพ การบริโภคและการลงทุนในประเทศหดตัว การลงทุนจากต่างประเทศลดลง กระทั่งนับแต่ปี 2010 เป็นต้นมา เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศว่า หรือไทยกำลังเป็น 'คนป่วยแห่งเอเชีย' คนถัดมาจากฟิลิปปินส์ 

กระทั่งหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สฉบับที่ 26 มิ.ย. 2019 ตอกย้ำเรื่องไทยเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ในบทความชื่อ Thailand remains the sick man of South-east Asia

บทความดังกล่าวสรุปสาเหตุที่ไทยเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย เนื่องด้วยเศรษฐกิจมีปัญหาอย่างน้อย 4 ข้อ ได้แก่ 

ข้อแรก เศรษฐกิจขยายตัวน้อย GDP เติบโตต่ำ โดยแทบจะต่ำสุดในอาเซียน 

ข้อที่สอง การส่งออกซึ่งเป็นหัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยเติบโตน้อย หลายไตรมาสประสบภาวะหดตัวเมื่อเทียบกับอดีต และเพื่อนบ้าน

ข้อที่สาม การบริโภคในประเทศที่เคยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ก็มีสัดส่วนลดลง

ข้อที่สี่ หนี้สาธารณะมีแนวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

มาวันนี้ เมื่อความรู้สึกของคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมาก อยากไปทำงานในต่างประเทศมากกว่าอยู่เมืองไทย หรือนี่คือเครื่องยืนยันว่าไทยกำลังซ้ำรอย 'คนป่วยแห่งเอเชีย' จริงๆ

บทสรุป: ใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่ดี

จากบทเรียนของประเทศฟิลิปปินส์ และกระแส 'ย้ายประเทศกันเถอะ' ในไทยที่เกิดขึ้น มีบทสรุปสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก เป็นเรื่องปกติของทุกคนที่อยากมีชีวิตดีขึ้น อยากให้ครอบครัวสุขสบายขึ้น อยากอยู่ในสังคมที่ให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับตนและครอบครัวได้

ระบบเศรษฐกิจของประเทศจึงมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงโอกาส เศรษฐกิจที่ดี เติบโตต่อเนื่อง ภาคเอกชนขยายการลงทุนและการจ้างงาน มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ช่วยให้คนในประเทศนั้นมีโอกาสหางานเพิ่มขึ้น ได้งานที่มีค่าจ้างสูงขึ้น รายได้มากขึ้น เข้าถึงคุณภาพชีวิตดีขึ้น ครอบครัวสบายขึ้น

ประการที่สอง จึงเป็นเรื่องปกติ ที่คนรุ่นใหม่หรือใครก็ตาม เมื่อเห็นว่าประเทศที่ตนอยู่ ไม่สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้ตนเข้าถึงชีวิตที่ดีได้ จะอยากย้ายไปทำงานในประเทศที่ตัวเองคิดว่ามีโอกาสมากกว่า

ทั้งหมดนี้เหมือนเราทุกคน ที่อยากย้ายงาน ย้ายตำแหน่ง สมัครงานบริษัทใหม่ เปลี่ยนที่ทำงาน เลือกสาขาเรียน ที่เพิ่มโอกาสให้เราได้ค่าตอบแทนสูง

ภายใต้สถานการณ์นี้ ใครก็ตามจึงไม่ควรต่อว่าคนที่อยากย้ายประเทศ ใครอยากย้ายก็ไม่ผิด ใครอยากอยู่ก็ไม่ผิด ทุกคนมีสิทธิเลือกสิ่งที่ดีให้แก่ตนเอง

แทนที่จะตำหนิคนอยากย้ายประเทศ ควรเห็นอกเห็นใจและพยายามทำความเข้าใจ ว่าคนที่อยากย้ายมีสาเหตุหรือความจำเป็นอย่างไร ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอะไรอยู่ และเราสามารถแก้ได้หรือไม่

ประการที่สาม สำหรับรัฐบาลและผู้ใหญ่ในบ้านเมือง จำต้องใคร่ครวญให้มาก ว่าสถานการณ์นี้เกิดเพราะอะไร นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ยังมีปัจจัยการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน โอกาสทางการศึกษา และอื่นๆ อีกมากมายเกี่ยวข้องด้วย

ทั้งหมดนี้เริ่มจากสังคมทุกภาคส่วน ต้องเปิดใจรับฟังกันให้มาก สร้างบรรยากาศให้ทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม 

สุดท้ายอย่าให้กระแส 'ย้ายประเทศกันเถอะ' เป็นเพียงเครื่องยืนยันความเป็น 'คนป่วยแห่งเอเชีย' ของไทยเลยครับ