เปิดแผนฟื้นฟู ’การบินไทย’ 12 พ.ค.ชี้ชะตา 'รอด-ร่วง'

เปิดแผนฟื้นฟู ’การบินไทย’ 12 พ.ค.ชี้ชะตา 'รอด-ร่วง'

กรมบังคับคดี ประชุมเจ้าหนี้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) วันที่ 12 พ.ค.2564 เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ท่ามกลางข้อเสนอที่จะให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง

แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยที่ส่งให้เจ้าหนี้ได้ระบุรายละเอียดคำขอรับชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ 13,133 ราย เป็นภาระหนี้ที่นำมาปรับโครงสร้างตามแผนตามมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 410,140 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 404,151 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ 5,989 ล้านบาท

ที่ผ่านมาการบินไทยได้ดำเนินการลดค่าใช้จ่ายหลายด้าน การลดต้นทุนด้านบุคลากร ในปี 2563 และต้นปี 2564 ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ทำให้พนักงานลดลง 9,200 คน การลดต้นทุนค่าเช่าเครื่องบิน ได้เจรจาต่อรองค่าเช่า เช่าซื้อเครื่องบิน ภายใต้การออกแบบฝูงบินใหม่ กับคู่สัญญาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนค่าใช้จ่ายอาจลดได้ 40% ของมูลค่าปัจจุบันสุทธิ การลดต้นทุนดำเนินงานด้านอื่น ดำเนินการให้สอดคล้องสถานการณ์ เช่น ลดค่าใช้จ่ายน้ำมัน โดยเพิ่มความแม่นยำการประมาณการการใช้เชื้อเพลิงให้เหมาะกับน้ำหนักเครื่องบิน

หลักการและขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ

เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของการบินไทยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะทำให้การบินไทยชำระหนี้ได้ต่อเนื่อง ผู้ทำแผนจึงเสนอแนวทางและขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ ดังนี้

การปรับโครงสร้างทุน เนื่องจากการบินไทยมีผลขาดทุนสะสมจำนวนมากและส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ทำให้มีความจำเป็นต้องได้รับเงินเพิ่มทุนเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยอาจเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม และ/หรือนักลงทุนรายใหม่ นอกจากนี้ในแผนกำหนดให้เจ้าหนี้บางกลุ่มมีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้บางส่วนเป็นหุ้นสามัญ

การจัดหาแหล่งเงินทุนโดยการกู้ยืมใหม่ เพื่อนำเงินมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ และ/หรือค่าใช้จ่ายของการบินไทย และ/หรือเพิ่มความสามารถทางการเงินในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับที่ผู้บริหารแผนเพิ่มทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดในแผน

การปรับโครงสร้างหนี้ แผนกำหนดให้ปลดหนี้ภาระหนี้เงินต้นบางส่วน และ/หรือดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดหรือบางส่วน ค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งหมด การแปลงหนี้บางส่วนเป็นทุน การพักชำระหนี้ และการขยายระยะเวลาชำระหนี้ อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างหนี้จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามแผนไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้การบินไทยล้มละลาย

การปรับโครงสร้างธุรกิจ ผู้บริหารแผนอาจปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยแยกหน่วยธุรกิจ เช่น ครัวการบิน การให้บริการภาคพื้นดินและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศและคลังสินค้า และการซ่อมบำรุงอากาศยาน จัดตั้งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดยการบินไทย และผู้บริหารแผนอาจพิจารณาขายเงินลงทุนในบริษัทร่วม/ย่อยปัจจุบันและที่ตั้งใหม่บางส่วนให้ผู้สนใจ

การจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า เข้าทำธุรกรรมหรือบริการเพื่อใช้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินรองหรือทรัพย์สินส่วนเกิน หรือที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจหลัก รวมถึงที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ หุ้นหรือเงินลงทุนในบริษัทร่วม/ย่อย เครื่องบิน เครื่องยนต์ และ/หรือสินค้าคงเหลือ/พัสดุที่เกินความจำเป็นต่อการดำเนินงาน เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในธุรกิจ

การก่อหนี้และการระดมเงินทุน รวมถึงแหล่งเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุนดังกล่าว

การที่การบินไทยจะดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องและชำระหนี้ได้ตามแผน ต้องได้รับสนับสนุนเงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่ใน 2-3 ปี นับแต่วันที่ศาลเห็นชอบแผน ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท โดยผู้บริหารแผนมีอำนาจใช้เงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ในแผนนี้เจ้าหนี้ยอมให้การบินไทยเพิ่มทุน ระดมเงินทุน ก่อหนี้ และ/หรือขอรับการสนับสนุนทางการเงินไม่ว่ารูปแบบใด ทั้งนี้ผู้บริหารแผนนำทรัพย์สินที่ไม่มีภาระผูกพันไปเป็นหลักประกันสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่นใดในการดำเนินการดังกล่าว ผู้บริหารแผนมีอำนาจเจรจา ตกลงเงื่อนไขสัญญาและทำสัญญา

ในการได้รับการสนับสนุนเงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่ ผู้บริหารแผนอาจดำเนินการใดๆ ดังนี้

1.การขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนรายใหม่ ผู้ถือหุ้นเดิม บุคลใดๆ เป็นจำนวน 25,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน หากผู้บริหารแผนเห็นว่าหานักลงทุนรายใหม่ ผู้ถือหุ้นเดิม บุคลใดๆ เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวน 25,000 บาท อาจขอสินเชื่อใหม่ให้เต็มจำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อให้การบินไทยมีสภาพคล่องพอ

2.ขอรับสนับสนุนสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ของการบินไทย บุคคลอื่นใด 25,000 ล้านบาท ในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Loan) และ/หรือตราสารใดที่ผู้บริหารแผนเจรจากับผู้สนับสนุนทางการเงิน

การแต่งตั้งผู้บริหารแผน กำหนดให้นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผน โดยทั้ง 2 คน ใช้อำนาจร่วมกันในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และการลงนามในเอกสารเพื่อทำธุรกรรมให้ทั้ง 2 คน มีอำนาจลงนามร่วมกันเพื่อผูกพันการบินไทย

ผู้บริหารแผนจะได้รับค่าตอบแทนไม่เกินปีละ 5 ล้านบาท/คน

ผลสำเร็จของแผน

1.ได้รับเงินเพิ่มทุน/สินเชื่อใหม่และได้แปลงหนี้เป็นทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดในแผนในจำนวนที่พอต่อการดำเนินธุรกิจ

2.ดำเนินการชำระหนี้ตามเงื่อนไขในแผน โดยไม่เกิดเหตุผิดนัดได้ติดต่อกัน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีเงื่อนไขคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน

3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) หลักหักเงินสดจ่ายหนี้ตามสัญญาเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในปีก่อนหน้าที่จะรายงานศาลถึงผลสำเร็จของการฟื้นฟู

เมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จให้ผู้บริหารแผนยื่นคำร้องต่อศาล และ/หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟู ซึ่งการดำเนินการตามแผนมีเวลาไม่เกิน 5 ปี เว้นแต่ศาลมีคำสั่งให้ขยายเวลาตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย