‘วิกฤติศรัทธา’ ผู้นำ

‘วิกฤติศรัทธา’ ผู้นำ

สถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาในตัวผู้นำ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพยายามแก้ไขสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ทุกปมปัญหาที่รัฐพยายามแก้ไขยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ถึงที่สุด

แม้จะเห็นความพยายามแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ของรัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่า ทุกปมปัญหาที่รัฐพยายามแก้ไขยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ถึงที่สุด กลับกันยังคงเกิดคำถามมากมายถึงวิธีแก้ไขสถานการณ์ ความโปร่งใสของหน่วยงานหลักกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสถานการณ์ที่ประเทศเผชิญวิกฤติขั้นสูงสุดอยู่ขณะนี้ และโดยเฉพาะความ “ไม่เชื่อ” ในตัวผู้นำ

วิกฤติศรัทธาและความไม่เชื่อมั่น กำลังเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างปฏิเสธไม่ได้ ทำให้หลายครั้งที่รัฐบาลขอความร่วมมือกับภาคสังคม จึงไม่ค่อยสัมฤทธิผล เพราะความ “ไม่เชื่อ” ในข้อมูลที่รัฐบาลเผยแพร่ออกมา ปัจจุบันโลกแห่งการสื่อสารเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เรารับรู้ข้อมูลข่าวสารได้จากทั่วทุกมุมโลก ผ่านช่องทางมากมาย หลายครั้งชุดข้อมูลที่สังคมได้รับจากรัฐบาลมัก “ตรงกันข้าม” กับชุดข้อมูลที่ได้รับจากช่องทางอื่นอันมีที่มาที่ไปและตรวจสอบได้ ที่แย่ไปกว่านั้นหลายครั้งข้อมูลของรัฐบาลสร้างความสับสน ความไม่ไว้วางใจ ความไม่เชื่อมั่นในข้อมูล   

การสื่อสารในภาวะวิกฤติเช่นนี้ “ผู้นำ” ต้อง “ชัดเจน” สื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เผยให้เห็นเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม จะส่งผลให้สังคมรับรู้และตระหนักถึง “ความจริง” ผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไม่สับสน รู้ทิศทางที่แน่ชัดว่าต้องทำอะไรต่อไป ไม่เฉพาะแค่ตัวนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศเท่านั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหาที่ได้รับมอบหมายให้แก้ไขสถานการณ์นี้ ต้องสื่อสารให้ชัดเจนเช่นกัน พูดเรื่องจริงให้ประชาชนเข้าใจ ใช้ช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ เผยแพร่ชุดข้อมูลที่สังคมสามารถใช้เพื่อการตัดสินใจได้ 

ท่ามกลางโลกยุคไร้กำแพง ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าท่วมท้น ผู้นำต้องใช้ทีมงานมืออาชีพช่วยเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริง  ยิ่งปัจจุบันชุดข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ยิ่งต้องคำนึงถึงความถูกต้องให้มาก เพราะการตัดสินใจบนข้อมูลที่ผิดพลาด และยิ่งเป็นข้อมูลที่มีความเซนซิทีฟอยู่แล้ว ย่อมเกิดความเสียหายได้ถึงชีวิต อีกสิ่งที่สำคัญการสื่อสารของผู้นำในภาวะวิกฤติ ต้องไม่บั่นทอนขวัญกำลังใจ กลับกันต้องมอบความหวัง แต่ไม่ใช่ความหวังแบบลมๆแล้งๆ ต้องอัพเดทข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ถูกต้อง ให้ประชาชนรู้ตระหนักอย่างต่อเนื่อง อาจพอฟื้นวิกฤติศรัทธาและสร้างความมั่นใจให้สังคมเกิดความหวังในการดำรงชีวิตได้ต่อไป

มนุษย์อยู่ได้ด้วยความหวัง เราได้แต่หวังว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดจะเริ่มเป็นกราฟขาลง ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ควรเพิ่มมากไปกว่านี้ ไม่ควรที่จะเกิดคลัสเตอร์การระบาดใหม่ขึ้นอีก เราได้แต่หวังว่า โรดแมพการกระจายวัคซีน รวมไปถึงยารักษาที่รัฐบาลประกาศออกมา จากนี้จะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ไม่ควรหยุดชะงัก หรือมีสิ่งใดมาฉุดรั้งให้เกิดความล่าช้าได้อีก เพราะประเทศไทย “วิกฤติ” เกินพอแล้ว เราไม่ควรเคยชินกับวิกฤติแบบนี้ไปเรื่อยๆ