‘อินเทล’ หนุนธุรกิจยกระดับแพลตฟอร์ม 'ดิจิทัล' รับ ‘นิวนอร์มอล’

‘อินเทล’ หนุนธุรกิจยกระดับแพลตฟอร์ม 'ดิจิทัล' รับ ‘นิวนอร์มอล’

วันนี้โลกเราเผชิญโควิด-19 เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว และแม้การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคระบาด จะคืบหน้าไปในทางที่ดี แต่เรายังไม่สามารถเห็นจุดจบวิกฤตินี้ได้เร็ววัน ขณะที่ธุรกิจและองค์กรต่างๆ อยู่ในช่วงปรับตัวเข้ากับสังคมภาวะปกติใหม่ (The New Normal)

อย่างไรก็ตาม ผู้นำองค์กร ส่วนใหญ่เห็นว่า การนำอุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับผู้บริโภคมาใช้งานในองค์กรเป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น แม้แนวคิดการทำงานได้จากทุกที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายไว-ไฟ ได้จะเป็นแนวคิดที่ทรงพลัง และเป็นจุดมุ่งหมายของหลายๆ องค์กร แต่ทางผู้จัดการฝ่ายไอทีของหลายๆ ที่ก็เริ่มตระหนักกันแล้วว่า การที่พนักงานในบริษัทเริ่มทำงานจากคนละสถานที่มากขึ้น ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมหรือมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ได้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และเพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัยให้กับองค์กรตามมา

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอินเทลได้ พัฒนาแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ระดับธุรกิจ เช่น แพลตฟอร์ม Intel vPro ที่เน้นสร้างประสิทธิภาพระดับธุรกิจที่เหนือชั้น ได้ทันทีที่เริ่มใช้งาน ในปัจจุบันบางองค์กรพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการปรับใช้อุปกรณ์ระดับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การปรับใช้อุปกรณ์ผู้บริโภคในการใช้งานธุรกิจจะทำให้ต้องพบข้อจำกัดบางประการ 

ปัจจุบันนี้พนักงานที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการประชุมทางวิดีโอ ได้พบว่าเทคโนโลยีโปรเซสเซอร์ล่าสุดนั้นสามารถมอบประโยชน์ด้านประสิทธิภาพในโลกแห่งความเป็นจริงได้หลายด้าน เนื่องมาจากเทคโนโลยีที่ใช้เร่งความเร็วของวิดีโอและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของแอพพลิเคชัน การเข้าสู่ระบบที่รวดเร็วขึ้น การลดเสียงรบกวนในการประชุมทางออนไลน์

เปิด 3 ข้อองค์กรต้องเข้มซิเคียวริตี้

ผู้บริหารอินเทล ยังเผยด้วยว่า ปีนี้สิ่งที่สำคัญยังต้องตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัย ที่มีหลากหลายสาเหตุทำให้ผู้จัดการฝ่ายไอทีต้องคอยเป็นกังวลเกี่ยวกับความสามารถอย่างเพียงพอในการรองรับการทำงานจากที่บ้านของพนักงานจำนวนมาก 

เริ่มต้นจากการระบาดเมื่อปีที่แล้ว องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) สังเกตเห็นการเปลี่ยนเป้าหมายการโจมตีทางไซเบอร์ที่สำคัญ จากการมุ่งโจมตีรายบุคคลและธุรกิจขนาดเล็ก ไปสู่บริษัทขนาดใหญ่ รัฐบาลต่างๆ และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากยิ่งขึ้น รายงานยังระบุอีกว่า เหล่าอาชญากรได้ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นจากการที่องค์กรและธุรกิจต่างๆ ได้ปรับใช้ระบบและเครือข่ายระยะไกลในการสนับสนุนพนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน

มุมมองของ “ซานโตช” ระบุด้วยว่า มีปัจจัย 3 ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในโลกที่การทำงานจากระยะไกลกลายเป็นเรื่องปกติ 

1.สร้างความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มพีซีในระดับฮาร์ดแวร์ โดยรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นของฮาร์ดแวร์และความสามารถในการตรวจจับภัยคุกคาม จะทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยเพื่อปกป้องข้อมูลของพนักงานและองค์กรจากภัยคุกคามใหม่ๆ อาทิ มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) และมัลแวร์ลอบขุดคริปโทฯ (Cryptomining) 

2.การเปลี่ยนแปลงไปสู่วิธีการทำงานรูปแบบใหม่ ทำให้ฝ่ายไอทีต้องทำงานสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการที่พนักงานเปลี่ยนไปทำงานจากบ้าน แต่ยังคงต้องประสานและทำงานร่วมกันอยู่ ด้วยเหตุนี้ทำให้ฝ่ายไอทีจะต้องคอยดูแลจัดการอุปกรณ์จากระยะไกลมากยิ่งขึ้น โดยมีอุปกรณ์จำนวนมากที่อยู่ภายนอกเครือข่ายขององค์กร เพราะเหตุนี้ความสามารถในการจัดการระยะไกลจึงมีความสำคัญอย่างมาก ทีมไอทีต้องมีความสามารถในการจัดการทั้งเครือข่ายและกลุ่มอุปกรณ์พีซีขององค์กรได้ และในขณะเดียวกันต้องรักษาแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งควรนำไปปรับใช้ทั้งภายในและภายนอกไฟร์วอลล์ขององค์กร รวมถึงบนคลาวด์ด้วยเช่นกัน

3.ลงทุนและการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยไม่ควรเป็นการจัดการเพียงแค่ครั้งเดียว เช่นเดียวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกลุ่มผู้รักษาความปลอดภัยและทีมไอทีควรทำงานหนักขึ้นเพื่อค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการปกป้องภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 นี้ ผู้นำองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องมีมุมมองที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการจัดการองค์กรเพื่อความสำเร็จ และการลงทุนในโซลูชันระดับธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานที่ทำงานจากระยะไกลจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม