‘เครื่องสำอาง’ กับเรื่องของสัตว์ ทำไมวันนี้ต้องให้ความสำคัญ?

 ‘เครื่องสำอาง’ กับเรื่องของสัตว์ ทำไมวันนี้ต้องให้ความสำคัญ?

จากกระแสแอนิเมชั่น #SaveRalph ที่พูดถึงการทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนไปดูว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงถูกให้ความสำคัญมากขึ้น และรู้ไหมว่า เครื่องสำอาง "CrueltyFree" กับ "VeganFree" ต่างกันยังไง มีแบรนด์ไหนบ้างที่สนับสนุนเรื่องนี้?

ทุกวันนี้สังคมให้ความสำคัญในการเลือกใช้สินค้าจำพวกสบู่ แชมพู เครื่องสำอาง หรือยาที่เป็นมิตรต่อสัตว์-สิ่งแวดล้อมมากขึ้น และจากกระแสหนังสั้นแอนิเมชั่นเรื่อง “Save Ralph” ที่พูดถึงการทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์ตัวน้อยๆ อย่างกระต่ายก็ได้ปลุกระดมทำให้ผู้คนบนโซเชียลมีเดียสนใจต่อประเด็นนี้มากขึ้น

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนดู ทำไมเราควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เครื่องสำอาง Cruelty Free กับ Vegan Free ต่างกันยังไง สังเกตจากอะไรได้บ้าง แล้วแบรนด์ไหนบ้างที่สนับสนุนเรื่องนี้อยู่?

  

  • เหตุผลที่แบรนด์เครื่องสำอางต้อง "ทดลองกับสัตว์"

สาเหตุที่แบรนด์เครื่องสำอางบางยี่ห้อยังคงต้อง "ทดลองกับสัตว์" อยู่นั้น ก็เพื่อทดสอบว่าสารเคมี-วัตถุดิบต่างๆ ที่ผสมอยู่ในสินค้าจะไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้กับผิวของคนหรือเป็นอันตรายใดๆ ซึ่งมักทำการทดลองกับสัตว์เล็ก 

โดยรายงานชิ้นนึงที่น่าสนใจของรัฐบาลประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับการทดลองโดยการใช้สัตว์ในปี 2562 ชี้ให้เห็นว่า สัตว์ 6 ชนิดที่ถูกใช้เป็นเหยื่อในการทดลองมากที่สุด มีดังนี้ หนูตาแดง (2.51 ล้านครั้ง) หนูตัวใหญ่ (171,069 ครั้ง) หนูแกสบี้หรือหนูตะเภา (6,931 ครั้ง) หนูแฮมสเตอร์ (1,583 ครั้ง) สัตว์ที่มีฟันแทะอื่นๆ (1,175 ครั้ง) และ กระต่าย (10,188 ครั้ง)

   

  • กระบวนการทดลองกับสัตว์ มีดังต่อไปนี้

- บริษัทประเภทเครื่องสำอางและยาจะทำการทดสอบส่วนผสมที่จะใช้ในเครื่องสำอางกับสัตว์

- จากนั้นเมื่อผลิตภัณฑ์ถูกผลิตออกมาสำเร็จรูปแล้วต้องนำมาทดสอบกับสัตว์อีกครั้งด้วย

- โดยทั่วไปหากบริษัทเครื่องสำอางไม่อยากทำการทดลองกับสัตว์ด้วยตัวเองมักจะจ้างบริษัทภายนอกทดสอบสินค้า 

- หากต้องการนำเข้าไปขายในประเทศจีนจะถูกบังคับให้ต้องทดลองกับสัตว์ด้วยตัวเอง และต้องทดลองภายใต้บริษัทของตนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

  

  • ทำไม "ประเทศจีน"ถึงขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายในการทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์

ตามความเป็นจริงแล้ว กฎหมายประเทศจีนบังคับให้บริษัทเครื่องสำอางและยาต่างประเทศที่สนใจเข้ามาทำการค้าในประเทศจีนต้องทำการทดลองกับสัตว์ก่อนถึงจะสามารถวางขายในตลาดจีนได้ (และแบรนด์เหล่านั้นจะต้องทดสอบกับสัตว์ภายใต้บริษัทของตนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย)

สำหรับแบรนด์เครื่องสำอางไหนที่ยืนหยัดว่าจะไม่ทำการทดสอบกับสัตว์ ถ้าต้องการจะเข้ามาตีตลาดจีนจริงๆ ก็ย่อมไม่สามารถเลี่ยงการทดลองกับสัตว์ได้ เพราะกฎหมายของประเทศจีนบังคับให้ต้องทำเช่นนี้ และเท่ากับว่า แบรนด์ใดที่มีสินค้าวางตลาดในประเทศจีน แบรนด์เหล่านั้นก็จะเรียกตัวเองว่าเป็น “เครื่องสำอางที่ไม่ได้ทำการทดลองกับสัตว์” ไม่ได้อีกต่อไป

แบรนด์กรณีตัวอย่างในประเด็นนี้ : เมื่อปี 2560 บีบีซีรายงานว่า แบรนด์เครื่องสำอาง NARS ถูกกลุ่มลูกค้าคว่ำบาตรหลังถูกเปิดเผยว่า บริษัทมีการใช้การทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์ในประเทศจีน 

โดยทางบริษัทได้ออกมาแถลงว่า “มีความตระหนักรู้ว่าการทดสอบความปลอดภัยของเครื่องสำอางสามารถทำได้โดยไม่ต้องทดลองกับสัตว์ แต่ในกรณีนี้จำเป็นต้องทำเพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายประเทศจีน เพราะได้ทำการค้าในประเทศของเขา” 

คำแถลงนี้กลับทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิมเพราะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนเกินไปว่า แบรนด์เห็นแก่เม็ดเงินการค้าขายว่า สำคัญกว่าชีวิตของสัตว์ตัวน้อยๆ เหล่านี้ที่ต้องถูกทดลองซ้ำๆ อย่างไม่รู้จบ

    

  • ข้อบังคับ "การทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์" ของจีน กำลังคลี่ลคลาย

ล่าสุดองค์กรพิทักษ์สัตว์โลก หรือ PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) ได้ออกมาแถลงถึงมาตรการของประเทศจีนต่อเรื่องการทดสอบเครื่องสำอางในสัตว์นั้นกำลังเป็นไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากทางองค์กรผลักดันและชี้ให้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้กับทางประเทศจีนเป็นเวลานาน โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ชี้แจงดังนี้

“ประเทศจีนประกาศว่า จะอนุญาตให้เครื่องสำอางทั่วไป แชมพู สบู่ ยาสระผม ลิปสติก และโลชั่น เข้ามาวางขายในตลาดประเทศจีนได้โดยที่ไม่ต้องผ่านการทดสอบกับสัตว์” 

แต่! เรื่องนี้ก็ไม่สามารถเป็นไปได้โดยง่ายขนาดนั้น เพราะแบรนด์เครื่องสำอางที่สนใจจะนำเข้ามาขายในประเทศจีนและไม่ต้องการให้กระบวนการทดสอบกับสัตว์เกิดขึ้น ต้องดำเนินการหลายอย่างเพื่อยื่นเรื่องขอยกเว้นการทดลองกับสัตว์ 

หากไม่ทำตามกระบวนการที่จีนกำหนดก็จะต้องนำสินค้าของตนไปทดสอบกับสัตว์ตามเดิม ซึ่งนั่นหมายความว่า แม้จีนจะเปิดช่องทางให้ต่างประเทศมาค้าขายเครื่องสำอางได้โดยปราศจากมลทินการทดลองกับสัตว์แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจีนจะหยุดการทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์ไป การกระทำสิ่งนี้ยังคงดำเนินต่อไปภายในประเทศจีน

   

  • ประเทศที่การทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย-ยอมรับไม่ได้ มีดังต่อไปนี้ 

WorldAtlas แหล่งข้อมูลด้านภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือชี้ให้เห็นข้อมูลว่า ประเทศที่ยอมรับเรื่องการทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์และบางประเทศถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย มีดังต่อไปนี้

ประเทศในสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ, อิสราเอลอินเดีย (ในปี 2557 เป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่ออกกฎหมายห้ามไม่ให้มีการทดลองกับสัตว์ในประเทศ รวมถึงห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีการทารุณสัตว์ด้วย), นอร์เวย์, แคนาดา, นิวซีแลนด์ และ ไต้หวัน (ในปี 2562 ได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการทดสอบผลิตภัณฑ์และส่วนผสมกับสัตว์ทั้งหมด) 

นอกเหนือจากนี้ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2560 รัฐบาลก็ได้ออกมาประกาศว่า จะมีการปฏิรูปเรื่องนี้ในประเทศเช่นเดียวกัน

  

  • ประเทศที่ยังคงมีการทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์โดยไม่ผิดกฎหมาย

CENTENNIAL BEAUTY เว็บไซต์ข่าวสารความงามที่น่าเชือถือของออสเตรเลียได้เปิดเผยข้อมูลถึงประเทศที่การทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย มีดังต่อไปนี้ 

ประเทศแคนาดา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศอเมริกา (ทุกประเทศที่กล่าวมาเป็นแค่บางพื้นที่) และประเทศที่น่าแปลกใจมากที่สุดในเอเชียก็คือ ประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นประเทศที่ดูสะอาดสะอ้านแต่เรื่องการทดสอบเคมีภัณฑ์กับสัตว์นั้นดันกลับกลายเป็นเรื่องที่ยังคงถูกกฎหมายอย่างลอยนวล

  

  • "ไทย" มีท่าทีต่อประเด็น "การใช้สัตว์ในการทดลอง" อย่างไร?

สำหรับประเด็นเรื่อง การใช้สัตว์ในการทดลองของประเทศไทย ปัจจุบันมี “พ.ร.บ. สัตว์ทดลอง” ทางวิทยาศาสตร์ ปี 2558 ที่ใช้ในการควบคุมการทดลองทางวิชาการอยู่ เพื่อไม่ให้มีการทรมานสัตว์โดยไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อคุณภาพผลงานทางวิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยหากจะใช้สัตว์ทดลองต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการที่กำกับดูแลการดำเนินการทุกครั้ง

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่อง "เครื่องสำอาง" ที่เกี่ยวข้องกับ "สัตว์" นั้น ไม่ได้จำเพาะเพียงแค่ การใช้สัตว์ในการทดลองเท่านั้น เพราะที่จริงแล้ว ยังมีประเด็นแยกย่อยลงไปอีก นั่นคือ กระบวนการผลิตทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับสัตว์หรือไม่ มีการใช้ส่วนประกอบใดของสัตว์มาเป็นวัตถุดิบด้วยหรือเปล่า ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเรื่องที่สังคมเริ่มให้ความสำคัญกันมากขึ้น

โดยในโลกของ "เครื่องสำอาง" ที่เป็นมิตรกับสัตว์-สิ่งแวดล้อม เราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. เครื่องสำอางที่ไม่ได้ทำการทดลองกับสัตว์ (Cruelty Free Makeup)

โดยเครื่องสำอางที่อยู่ในลักษณะนี้จะไม่ได้มีการทำการทดลองกับสัตว์ในทุกๆ ขั้นตอนการผลิตแต่อย่างใด ไม่จ้างตัวแทนบริษัทอื่นในการทำการทดสอบกับสัตว์แทนตนเอง ไม่ขายสินค้าให้กับประเทศจีน โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้

- มักมีคำว่า “Cruelty Free” ระบุไว้ข้างหน้าสินค้า

- ด้านหลังสินค้ามี “สัญลักษณ์รับรองรูปกระต่าย” (Leaping Bunny)

- หรือด้านหลังสินค้ามีข้อความที่ว่า “ไม่ได้ทำการทดลองกับสัตว์” (Not Tested on Animal)

2. เครื่องสำอางที่ไม่ได้มีส่วนผสมมาจากสัตว์ (Vegan Makeup)

โดยเครื่องสำอางนั้นๆ จะไม่มีการใช้ส่วนผสมที่ทำการเบียดเบียนสัตว์แต่อย่างใดเลย ไม่ว่าจะเป็นเมือกหอยทาก ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง หรือสารคาร์มีนสีแดงที่สกัดมาจากแมลง เป็นต้น 

ทั้งนี้เครื่องสำอางประเภทนี้ยังมีคุณสมบัติแบบเดียวกับเครื่องสำอางที่ไม่ได้ทำการทดลองกับสัตว์ควบคู่ไปด้วย เรียกได้ว่าเครื่องสำอางประเภทนี้เป็นมิตรต่อสัตว์ที่สุดและยังดีกับผิวของผู้ใช้อีกด้วย

โดยเครื่องสำอางประเภทนี้สามารถสังเกตได้ดังนี้ 

- มีฉลากที่ระบุคำว่า “วีแกน” (Vegan)

- มีฉลากที่ระบุคำว่า “ไม่ได้มีส่วนผสมใดๆ จากสัตว์” (No Animal Ingredients)

- นอกจากนี้หากไม่มีการติดฉลากใดๆ ต้องดูว่าปราศจาก 14 ส่วนผสมเหล่านี้หรือไม่

   

  • เช็คลิสต์ 14 ส่วนผสมจากสัตว์ที่พบได้บ่อยในเครื่องสำอาง-สกินแคร์ มีอะไรบ้าง?

162043536672

คอลลาเจน (Collagen) - มาจากโปรตีนในเนื้อเยื่อสัตว์

ลาโนลิน (Lanolin) - มาจากแว๊กซ์ในแกะเพศเมีย พบในอายแชโดว์ 

เจลาติน (Gelatin) - มาจากผิวหนังและกระดูกของวัว

คาร์มีน (Carmine) - เม็ดสีลักษณะสีแดงจากแมลงบด พบในลิปสติกและบลัชออน

เคราติน (Keratin) - พบในกีบหรือขนนก

กรดสเตียริก (Stearic acid) - มาจากกระเพาะอาหารหมู วัว และแกะ (แต่ก็พบได้จากไขมันในพืชเช่นกัน)

ขี้ผึ้ง (Beeswax) - มักพบในลิปสติกและมาสคาร่า

ไขวัว (Tallow) - มาจากไขมันสัตว์อย่างวัวและแกะก็เช่นกัน 

เรตินอล (Retinol) - วิตามินเอ มักพบได้ในเนื้อวัว ตับไก่ ปลา (สามารถพบได้ในพืชผักอย่าง แครอท ฟักทอง มันเทศ ได้เช่นกัน)

กัวนีน (Guanine) - มาจากเกล็ดปลา พบได้ในลิปสติกและมาสคาร่า

มัสก์ (Musk Oil) - สารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศกวาง มักใช้ในน้ำหอม

สควาลีน (Squalene) - เป็นน้ำมันที่ได้จากตับปลาฉลาม

น้ำมันชะมด (Civet Oil) - สารคัดหลั่งของชะมด มักใช้ในน้ำหอม

อำพันทะเล (Ambergris) - มาจากระบบย่อยอาหารของปลาวาฬ ใช้ในน้ำหอม 

ทั้งนี้องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก (PETA) และเว็บไซต์ Cruelty-Free Kitty ได้รวบรวมข้อมูลแบรนด์เครื่องสำอางระดับโลก อัพเดตล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2564 มีแบรนด์เครื่องสำอางที่ไม่ได้ทำการทดลองกับสัตว์จำนวน 161 แบรนด์ และแบรนด์เครื่องสำอางที่ทดการทดลองกับสัตว์เป็นจำนวน 257 แบรนด์

   

  • นี่คือ 21 แบรนด์ดังที่ “ไม่ได้ทำการทดลองกับสัตว์”  

มีดังต่อไปนี้ The Bodyshop, LUSH, FENTY BEAUTY, Paula’s Choice, Burt’s Bees, Covergirl, Garnier, NYX, Pacifica, The Ordinary, Dermablend, Hourglass, IT Cosmetics, Kylie Cosmetics, Marc Jacobs Beauty, RCMA, Smashbox, Tarte, Too Faced, Urban Decay และ ศรีจันทร์ (SRICHAND) แบรนด์เครื่องสำอางไทยก็จัดอยู่ในเครื่องสำอางประเภทนี้ด้วย 

   

  • และต่อไปนี้คือ 67 แบรนด์ดังที่ “ทำการทดลองกับสัตว์”

มีดังนี้ Aquafresh, Axe, Balenciaga, Banana Boat, Bath & Body Works, Bioderma, Biore, Biotherm, Bobbi Brown, Burberry , BVLGARI, Calvin Klein, CeraVe, Cetaphil, Chanel, Chole, Clean & Clear, Clinique, Colgate, Davidoff, Dior, Dolce & Gabbana, Dunhill, Estee Lauder, Etude, Eucerin, FENDI, Giorgio Armani, Givenchy, Gucci, Head & Shoulder, Innisfree, Jergens, Jo Malone, Johnson & Johnson, Jurlique, Kiehl’s, L’Occitane, L’Oreal, La Mer, Lacoste, Lancome, Listerine, MAC, Make Up For Ever, Maybelline, Michael Kors, NARS, Neutrogena, Nivea, Olay, Oral B, Pantene, Schwartzkopf, Shiseido, Shu Uemura, SK-II, Sunsilk, The Face Shop, TOMFORD, Unilever, Vaseline, Versace, Victoria’s Secret, Yves Rocher, Yves Saint Laurent, Zara Fragrance

   

อีกหนึ่งแบรนด์กรณีศึกษาที่น่าชื่นชม : แบรนด์เครื่องสำอาง FENTY BEAUTY ของแม่ค้าผู้ที่อาจไม่หวนคืนกลับมาร้องเพลงอีกแล้วอย่าง รีฮันนา (Rihanna) เมื่อเดือนกันยายน ปี 2560 ได้มีคนตั้งประเด็นขึ้นบนโซเชียลมีเดียว่า ทำไมเธอถึงไม่เอาแบรนด์ตัวเองเข้าไปขายที่ประเทศจีน?

ซึ่งสื่อที่น่าเชื่อถืออย่าง Financial Times ได้รายงานไว้ว่า รีฮันนาได้ให้คำตอบไว้ว่า เธอไม่เห็นด้วยกับการใช้สัตว์ในการทดสอบเครื่องสำอาง และเครื่องสำอางที่เธอผลิตนั้น เธอทดลองกับคนเพื่อตอบโจทย์คนทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิวบนโลกนี้ ตามคอนเซ็ปท์ที่เธอตั้งมั่นไว้ตั่งแต่แรก 

แม้จีนจะเป็นตลาดที่ใหญ่มากแค่ไหน แต่เธอก็มุ่งมั่นในสิ่งที่เธอยึดถือในการทำธุรกิจมาโดยตลอด เธอจึงไม่วางขายเครื่องสำอางของเธอในประเทศตลาดยักษ์ใหญ่อย่างจีน 

นับเป็นความกล้าหาญและความุ่งมั่นที่ไม่เพียงแต่ปกติที่เธอใส่ใจต่อประเด็นความหลากหลายของมนุษย์ที่เห็นได้บ่อยๆ ครั้ง แต่เหตุการณ์นี้ก็ยังทำให้เห็นว่าเธอเองก็ใส่ใจต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจอีกด้วย

ดังนั้นแล้วหากเราทุกคนเข้าใจและตระหนักถึงเรื่องความน่าสงสารของสัตว์ตัวน้อยๆ เหล่านี้ที่ต้องถูกทำการทดลองกับเคมีภัณฑ์จากเครื่องสำอางแล้ว หากเราพยายามหันมาค่อยๆ ใช้โปรดักส์ที่เป็นมิตรกับสัตว์ได้ สัตว์พวกนี้ก็จะไม่ต้องตกเป็นเหยื่อการทดลองอีกต่อไป

    

อ้างอิง: BBC, FINANCIAL TIMES, WorldAtlas, VOGUE Beauty, ELLE UKPETA(1) PETA(2) PETA(3) PETA(4) , Cruelty Free International, Unsustainable Magazine, Ethical elephant,  Cruelty-Free Kitty(1) Cruelty-Free Kitty(2) Cruelty-Free Kitty(3) Cruelty-Free Kitty(4) , Centennial Beauty