สูบ'บุหรี่ไฟฟ้า'มีโอกาสติดโควิดมากกว่าคนไม่สูบ  5 เท่า

สูบ'บุหรี่ไฟฟ้า'มีโอกาสติดโควิดมากกว่าคนไม่สูบ  5 เท่า

ยิ่งไวรัสโควิดระบาดมากเท่าไร คนที่สูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ยิ่งอันตรายมากกว่าคนทั่วไป เพราะเมื่อใดก็ตามไวรัสลงปอด อาการจะยิ่งหนัก

จากกรณีข้อกังขาว่า บุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้ามี ความเกี่ยวข้องกับการแพร่เชื้อและติดโควิด 19 จริงหรือไม่

หลังจากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ศึกษาค้นคว้า ประเด็นดังกล่าว ได้พบงานวิจัยจาก Stanford University School of Medicine และ University of California, San Francisco ที่เผยแพร่ใน Journal of Adolescent Health เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563 ยืนยันว่า    

คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสติดเชื้อโควิด19 มากกว่าคนไม่สูบ  5 เท่า ถ้าสูบทั้งบุหรี่มวนร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มติดเชื้อไวรัสโควิดมากกว่าคนไม่สูบ 6.8 เท่า โดยในทั้ง 2 กลุ่ม หากติดโควิด 19 จะมีอาการป่วยมากกว่าคนไม่สูบถึง 5 เท่า

ศ.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ ทมทิตชงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ในฐานะ เลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า คนที่สูบทั้งบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า จะมีโอกสติดเชืื้อไวรัสโควิดเพิ่มเป็น 7 เท่า และป่วยหนักกว่าคนไม่สูบถึง 5 เท่า

"คาดว่าถ้าสูบบุหรี่หนักๆ ในอนาคตอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนปอดไม่ต่างจากผู้ป่วยโควิดและบุหรี่ไฟฟ้า และยังสร้างฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นขณะสูบ 80 เท่า"

ทั้งหมดเป็นผลการสำรวจจากแบบสอบถามในกลุ่มประชากร ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและเข้ารับการตรวจโควิดอายุ 13-24 ปี จำนวน 4,351 คน ที่อาศัยอยู่ใน 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ย้ำเตือนถึงการติดเชื้อโควิดพบในผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 14 เท่า

จากกรณีศึกษาในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไม่ต่างจากกรมควบคุมโรคของไทยยืนยันเช่นกันว่าพฤติกรรม ของผู้ที่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงการติดและแพร่เชื้อไวรัสโควิด จากการสัมผัส ส่งต่อ หรือใช้ อุปกรณ์สูบร่วมกันได้

“บุหรี่ไม่ว่าจะแบบใดก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง สุดท้ายทำให้ปอดพังพอๆ กัน เซลล์รอเวลากลายพันธุ์ เป็นเนื้องอก เนื้อร้าย ทำให้ต้นทุนผู้สูบต่ำ พอติดเชื้อโควิดอาการจึงหนักกว่าและฟื้นตัวได้ช้ากว่าผู้ที่ไม่สูบ

ส่วนตัวเชื่อว่าในระยะยาวจะได้เห็นการผ่าตัดเปลี่ยนปอดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นหากไม่เลิกสูบ เช่นเดียวกับที่ต้องเปลี่ยนปอดจากโควิด 19 ที่ขณะนี้เริ่มเปลี่ยนแล้วนับ 10 รายทั่วโลก เพราะพยาธิสภาพความเสียหาย ที่เกิดขึ้นเป็นแบบเดียวกัน คือเกิดการอักเสบจนเนื้อเยื่อปอดแข็งไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ และการผ่าตัดเปลี่ยนปอดไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนใหญ่ผ่าตัดทีใช้เวลา 10 ชั่วโมงขึ้น ค่าใช้จ่ายเป็นหลักล้านบาท

นอกจากนี้ยังต้องกินยากดภูมิตลอดชีวิต เท่ากับว่าชีวิตเปลี่ยน ต้องระวังอย่างมากในการติดเชื้อที่ง่ายขึ้น โดยผู้ป่วยรายแรก ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนปอดจากภาวะอิวาลีอายุเพียง 16 ปี ในรัฐดีทรอยต์ สหรัฐฯ ดังนั้นในช่วงโควิดเวฟที่ 3 นี้แนะนำว่า เลิกได้เลิกทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา” คุณหมอประกิตพันธุ์ กล่าว

ศ.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ กล่าวต่ออีกว่า งานวิจัยจากที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ BMJ Journals ของสมาคมการแพทย์อังกฤษยังระบุด้วยว่า ขณะที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 บริเวณที่สูบสูงขึ้นถึง 80 เท่า รวมถึงฝุ่น PM 1.0 และสารอันตรายอื่นๆ เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ และโลหะหนัก  ซึ่งผู้ที่อยู่ชิดใกล้ผู้สูบบุหรี่ ไฟฟ้าก็จะได้รับฝุ่นพิษจิ๋วและสารอันตรายเหล่านี้เข้าไปด้วย