ถ้าจะจดจำแบบไม่ลืม 'สมอง'ต้องทำงานอย่างไร

ถ้าจะจดจำแบบไม่ลืม 'สมอง'ต้องทำงานอย่างไร

การจำแต่ละเรื่องก็มีความยากง่ายต่างกัน ถ้าให้คนไม่รู้ภาษาอังกฤษท่องจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษยาวๆ ก็น่าจะลำบากกว่าคนที่รู้ภาษาอังกฤษ หรือปัจจัยอย่างความเครียด การอดนอน ก็ส่งผลกระทบกับความจำ ลองอ่านมุมความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ 

เคยสงสัยกันไหมครับว่า เราจำอะไรต่อมิอะไรได้ดีแค่ไหน และลืมเร็วเพียงใด จะมีอะไรช่วยให้เราจดจำสิ่งต่างๆ ได้ยืนยาวมากขึ้นหรือไม่ ?

นักเรียนคงสบายขึ้น หากอ่านครั้งเดียว จำไปได้นานแสนนาน แต่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่เพราะอะไร ?

แน่นอนว่ามีคนสงสัยเรื่องพวกนี้มานานแล้ว เฮอร์มันน์ เอบบิงฮอส (Hermann Ebbinghaus) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันสนใจคำถามนี้ และทดลองมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1885 จนได้สูตรการคำนวณความจำที่เรียกคืนได้ (มีสมการความจำด้วย !)  เขาตีพิมพ์งานของเขาที่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า "ความทรงจำ: ข้อมูลสนับสนุนจากจิตวิทยาการทดลอง (Memory: A Contribution to Experimental Psychology)"

วิธีการที่เขาทำน่าสนใจดีครับ เขาทดลองจำชุดตัวอักษรที่ไม่มีความหมาย เช่น WID หรือ ZOF ก่อนจะทดสอบซ้ำๆ ในภายหลังที่ช่วงเวลาต่างๆ ว่ายังจดจำพวกมันได้หรือไม่ และจำได้มากน้อยเพียงใด จากนั้นจึงบันทึกผลที่ได้เป็นรูปกราฟ ซี่งก็มีหน้าตาคล้ายๆ ส่วนซ้ายล่างของรูปตัวยู (U)

แปลความง่ายๆ ว่า เราจะลืมได้อย่างรวดเร็วมากด้วยความเร่ง เมื่อเวลาผ่านไปเพียงเล็กน้อย !!!

เอบบิงฮอสยังสงสัยต่อไปอีกว่ามีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เช่น  ความยากง่ายของเรื่องที่จะจำ เช่น ให้คนไม่รู้ภาษาอังกฤษท่องจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษยาวๆ ก็น่าจะลำบากกว่าคนที่รู้ภาษาอังกฤษ  ปัจจัยอย่างความเครียดและการอดหลับอดนอน ก็ส่งผลกระทบกับความจำมาก 

คำแนะนำของเขาคือ หากจะเพิ่มความสามารถในการจำ ก็ต้องใช้เทคนิคช่วยจำที่เรียกว่า นีโมนิก (mnemonic - m ไม่ออกเสียง) ช่วย

และหากจะจำให้ได้แม่นยำไปนานๆ ก็ต้องทบทวนซ้ำๆ บ่อยๆ ...

ฟังดูตรงไปตรงมาสุดๆ ใช่ไหมครับโดยภายใน 24 ชั่วโมงหลักการเรียนรู้จะเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดที่จะทำให้ความทรงจำเรื่องนั้นๆ ยืนยาวมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

งานวิจัยในยุคหลังแสดงให้เห็นว่า ราว 50% ของข้อมูลที่สอนกันไปนั้นจะ"ระเหย" หายไปในอากาศในเวลาเพียงชั่วโมงเดียว งเท่านั้น !!! เมื่อถึง 24 ชั่วโมงข้อมูลใหม่ก็จะหายเพิ่มมากขึ้นไปถึง 70%

และในสัปดาห์เดียวก็จะจำอะไรไม่ได้ถึงราว 90% การที่ข้อมูลใหม่ไม่ได้รับการใส่ใจทบทวนและลืมเลือนไปนี้ ทำให้ถึงกับมีผู้กล่าวว่าเงิน 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่บริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ ใช้อบรมเรื่องต่างๆ ให้พนักงานในแต่ละปี ก็ไม่ต่างอะไรกับกับการปั๊มลมเข้าล้อรถที่มีรั่วรูเบ้อเร่อ ! 

เรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ในวงการก็คือ  มีความทรงจำบางอย่างที่จดจำได้แม่นยำในเสี้ยววินาที แล้วยากจะลืมในอนาคตหรือไม่  เช่น  เรื่องคนที่ตกอยู่ในเหตุการณ์ร้าย  โดนจับเป็นตัวประกัน หรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เป็นต้น

อีกเรื่องที่ชัดเจนมา ก็คือ  คำให้การของพยานในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การฆาตกรรมนั้นมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก เพราะมีปัจจัยต่างๆ จำนวนมากที่ส่งผลกระทบทำให้ความทรงจำเหล่านั้นบิดเบี้ยวผิดจากความจริงไป

การที่เราลืมนี่ไม่ใช่ความไม่เอาไหนของสมองนะครับ 

ตรงกันข้ามเลยคือ อันที่จริงแล้วถือเป็นความจำเป็นทีเดียว เพราะตลอดเวลาสมองจะโดนระดมใส่ด้วยข้อมูลมหาศาลจากตัวรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสต่างๆ 

ดังนั้นเพื่อให้เราสามารถมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องแค่บางเรื่องที่เราสนใจเท่านั้น สมองก็จะจัดการตัดข้อมูลที่ "เกินจำเป็น" ออกไป  ดังนั้น ข้อมูลจำพวก"ความทรงจำระยะสั้น" เช่น  เบอร์โทรศัพท์คนที่เราต้องติดต่อด้วยเฉพาะหน้า 

เมื่อเราท่องไว้จากนั้นจดหรือพิมพ์ใส่มือถือเรียบร้อยแล้ว สมองก็จะลืมมันไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เหลือพื้นที่หน่วยความจำ "แบบใช้กับงานปัจจุบัน" ให้มากที่สุด ไม่รกไปด้วยข้อมูลคงค้าง

 

ปัญหามันเกิดตอนนี้แหละครับ เพราะข้อมูลบางอย่างที่สมองตีความว่า  เป็นข้อมูลทั่วไปที่ลบได้เลย กลับเป็นข้อมูลสำคัญที่เราต้องการจำไว้ใช้งานในอนาคต 

การทบทวนสิ่งที่เรียนจึงอุดช่องโหว่โปรแกรมการทำงานของสมองแบบนี้ได้ เพราะเปลี่ยนข้อมูลจาก "ความจำระยะสั้น" ให้อยู่ในรูป "ความจำระยะยาว"ที่สมองจดจำได้นานขึ้นมากๆ อย่างมีนัยสำคัญ

การจะจดจำอะไรได้ดีเป็นเวลานานๆ จึงเป็นการลงทุนที่ต้องลงแรงมาก

 งานวิจัยของกลุ่มจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Neuroscience  ฉบับเดือน มีนาคม 2015 อาศัยเครื่องสแกนสมองแบบ MRI ช่วยในการทดสอบ 

ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้เข้าทดลองเรียกความจำบางอย่างที่จำเพาะเจาะจงอย่างซ้ำๆ รวม 4 รอบ  ทุกครั้งที่ระลึกเรื่องนั้นความทรงจำดังกล่าวจะเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ แต่จะไปขัดขวางความทรงจำอื่นๆ ที่โผล่ขึ้นด้วย 

การจำเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงไปส่งผลต่อการจำหรือลืมเลือนเรื่องอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันได้ด้ว มีการสำรวจในผู้ใหญ่รวม 2,000 คน โดยสำนักงานสลากกินแบ่งแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ทำให้พบข้อเท็จจริงหลายๆ เรื่องที่ชวนให้แปลกใจ  มีคนอังกฤษราว 6% ลืมวันเกิดคู่ของตน และมีอีกจำนวนเท่าๆ กันที่ลืมวันแต่งงาน - งานนี้มีหูยานแน่ ! 

เฉลี่ยผู้ชายจะขี้ลืมมากกว่าคือ เฉลี่ยแล้วลืม 3.5 ครั้งต่อวัน  ขณะที่ผู้หญิงราว 2 ครั้งต่อวัน เฉลี่ยแล้วคนอังกฤษจึงลืมวันละ 3 ครั้ง  แต่กระนั้นในบรรดาคนเหล่านี้ก็มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่ยอมรับว่าตนเองเป็นคนขี้หลงขี้ลืม

มาปิดท้ายกันที่ท้อปเท็นความขี้ลืมจากการสำรวจครับ ไล่จากอันดับ 10 ขึ้นไปได้แก่ ลืมวันเกิดลูกเพื่อน, ลืมว่าจอดรถไว้ไหน, ลืมเปลี่ยนทิชชู่ห้องน้ำ, ลืมตัวสบถต่อหน้าลูกๆ และลืมชาร์จไฟมือถือหรือไอพอด  จากนั้นก็ตามด้วยลืมตัวเอาอาหารจากช่องแช่แข็งออกมาไว้ข้างนอก, ลืมเสื้อผ้าในเครื่องซักผ้า, ลืมว่าจะไปช้อปอะไรกันแน่ และลืมว่าวางกุญแจไว้ไหน

แต่สุดยอดของการลืมอย่างถ้วนหน้าก็คือ ... ลืมดื่มชากาแฟที่ชงเอาไว้ จนมันเย็นชืดหมด !