10แบงก์ กำไรพุ่ง 4.6 หมื่นล้านบาท LHFG-BBL-TMB-SCB โตเกิน100%

10แบงก์ กำไรพุ่ง 4.6 หมื่นล้านบาท LHFG-BBL-TMB-SCB โตเกิน100%

“กลุ่มแบงก์”กำไรสุทธิไตรมาส1/64 รวม4.64 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 41% จากไตรมาส4/63 แต่ลดลงราว 0.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน “แบงก์กรุงเทพ-แลนด์ แอนด์เฮ้าส์ -ทหารไทย -ไทยพาณิชย์”กำไรพุ่งเกิน100%

161901878655        ผู้สื่อข่าวรายงาน ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง คือ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)ไทยพาณิชย์(SCB)ธนาคารกรุงเทพ(BBL)ธนาคารกรุงศรีฯ(BAY) ธนาคารกรุงไทย(KTB)ธนาคารทหารไทย(TMB) ธนาคารทิสโก้(TISCO) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP)ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) และแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LHFG) มีกำไรสุทธิไตรมาส1ปี 2564 ที่ 46,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,659 ล้านบาท หรือ 41.7% หากเทียบกับไตรมาส4ปี 2563ที่มีกำไรสุทธิ 32,770 ล้านบาท แต่ลดลงราว 0.5% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 46,667 ล้านบาท

      ทั้งนี้ธนาคารที่เติบโตสูงสุด หากเทียบกับไตรมาสก่อน หน้า คือ LHFG ที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 700% ถัดมาคือ BBL ที่กำไรเพิ่มขึ้น 188% และTMB ที่กำไรเติบโตที่ 125% และ SCB ที่กำไรโต 103% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า KBANK กำไรบวกถึง 44% ถัดมาคือ TISCO ที่บวก18.6% และ SCB กำไรเพิ่ม 9% สวนทางกับอีก8แบงก์ ที่กำไรสุทธิลดลง

    อย่างไรก็ตามหากดูด้าน การตั้งสำรองหรือผลขาดทุนด้านเครดิต ทั้ง 10แบงก์ สำรองลดลงมาอยู่ที่ 49,329 ล้านบาท ลดลง 4.3พันล้านบาท จากไตรมาสก่อน 8.1% และลดลงราว 4.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

     สำหรับธนาคารที่สำรองลดลงมาก KKP สำรองลดลง 40% จากไตรมาสก่อนหน้า ถัดมาคือ TMB สำรองลดลง 33% และBAY สำรองลดลง 30%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'ธนาคาร' ได้ 'กำไร' จากอะไร ในยุคที่ 'โควิด-19' ระบาดทั้งเมือง

     ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ด้านหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล พบว่ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยรวมมาอยู่ที่ 5.41 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.27 หมื่นล้านบาท หรือ 2.42% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 4.3 หมื่นล้านบาท หรือ 8.67% จากไตรมาสก่อนหน้า

     นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า หุ้นกลุ่มธนาคารรายงานกำไรไตรมาส 1 ปี 2564 ออกมาดีกว่าคาดที่ 4.6 หมื่นล้านบาท (ไม่รวม LHFG-CIMBT) จากเดิมคาดกำไรอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท โดยได้ปัจจัยหนุน จากการตั้งสำรองที่ต่ำกว่าคาดการณ์ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงดีกว่าคาด

      ส่วนแนวโน้มกำไรไตรมาส 2 ปี 2564 คาดว่าจะแผ่วลงจากภาระการตั้งสำรอง ที่คาดว่าจะทรงตัวจากไตรมาสแรกที่ 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก3

      นอกจากนี้คาดว่า รายได้ดอกเบี้ยรับจะขยับขึ้นไม่มาก ตามแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อ ที่ประมาณ 1% ทรงตัว แต่ยังคาดการณ์กำไรไตรมาส 2 จะเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

      ขณะที่แนวโน้มกำไรทั้งปี 2564 คาดว่าจะเติบโต 16% อยู่ที่ 1.56 แสนล้านบาท โดยหลักมาจากการตั้งสำรองทั้งปีที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงจากการปรับปรุงประสิทธิภาพและการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงในปีนี้ไม่มีรายการพิเศษเข้ามากดดัน

      ส่วนหนี้เสีย ปี 2564 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.4-4.5% จากสิ้นปี 2563 ที่ 3.38% จากความเสี่ยงโควิด-19 ที่ยังกดดัน แต่ยังเป็นระดับที่แบงก์สามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้แนะนำ BBL เพราะผลงานโดยรวมฟื้นตัว โดยให้ราคาเหมาะสมที่ 154 บาทต่อหุ้น