'ธนาคาร' ได้ 'กำไร' จากอะไร ในยุคที่ 'โควิด-19' ระบาดทั้งเมือง

'ธนาคาร' ได้ 'กำไร' จากอะไร ในยุคที่ 'โควิด-19' ระบาดทั้งเมือง

วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ "ธนาคาร" มี "กำไร" กว่า 4 หมื่นล้านในช่วง 3 เดือนแรกที่ "โควิด-19" กำลังเล่นงานเศรษฐกิจไทยชนิดโงหัวไม่ขึ้น

หลังจากที่ ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประกาศงบการเงินประจำไตรมาส 1/2564 มีกำไรรวมกันถึง 46,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,659 ล้านบาท หรือ 41.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 238 ล้านบาท หรือราว 0.5% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หากเปรียบเทียบสถานการณ์ โควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังระบาด และทำให้เศรษฐกิจภาพรวมกลับมาสะดุดอีกครั้ง ถ้าอย่างนั้นแล้ว ธนาคารเหล่านี้มีกำไรจากอะไรในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

  • เจาะ กำไร ไตรมาสแรก ของ 10 ธนาคารพาณิชย์ 

10 ธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย

  1. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
  2. ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
  3. ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
  4. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)
  5. ธนาคารกรุงไทย (KTB)
  6. ธนาคารทหารไทย (TMB) 
  7. ธนาคารทิสโก้ (TISCO)
  8. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP)
  9. ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT)
  10. ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG)

หากดูตัวเลขผลประกอบการจะพบว่า ธนาคารที่เติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คือ LHFG ที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 700% ถัดมาคือ BBL ที่กำไรเพิ่มขึ้น 188% ตามมาด้วย TMB ที่กำไรเติบโตที่ 125% และ SCB ที่กำไรโต 103% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า KBANK กำไรโตถึง 44% ถัดมาคือ TISCO ที่บวก18.6% และ SCB กำไรเพิ่ม 9% สวนทางกับอีก แบงก์ ที่กำไรสุทธิลดลง

  • 'ธนาคาร' ได้ 'กำไร' จากอะไร

อะไรที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบกำไรเติบโตระดับหมื่นล้าน หรือกว่า 41% ในขณะที่หลายๆ ธุรกิจเผชิญกับวิบากกรรมจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดระลอก 3 อยู่ในขณะนี้ น่าจะเป็นคำถามที่ใครต่อใครอยากรู้

เมื่อพิจารณาไส้ในของกำไรที่เพิ่มขึ้น พบว่า มาจาก 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก การตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือ ผลขาดทุนด้านเครดิต ในไตรมาสแรกปีนี้ ลดลงอย่างมาก คือ มีจำนวนเพียง 49,329 ล้านบาท ลดลง 4.3 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อน 8.1% และลดลงราว 4.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนที่สอง การลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของแต่ละธนาคารเอง ที่เห็นผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น 

โดยธนาคารที่สำรองลดลงมากคือ KKP สำรองลดลง 40% จากไตรมาสก่อนหน้า ถัดมาคือ TMB สำรองลดลง 33% และ BAY สำรองลดลง 30%

 

  • สำรองหนี้สงสัยจะสูญ ของแต่ละธนาคาร สัมพันธ์กับกำไร และภาพรวมเศรษฐกิจไทยอย่างไร

การลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญในยามวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19เช่นนี้ จะนำมาซึ่งความเสี่ยงในอนาคตหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของไตรมาสแรกทั้ง 10 ธนาคาร ที่พบว่ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยรวมมาอยู่ที่ 5.41 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.27 หมื่นล้านบาท หรือ 2.42% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 4.3 หมื่นล้านบาท หรือ 8.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในสถานการณ์โควิดระบาดระลอก 3 ในขณะนี้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวยิ่งนัก ที่จะสะท้อนถึงผลประกอบการไตรมาส 2/2564 หรือ กำไร ของธนาคารที่จะประกาศในอีก เดือนข้างหน้า