ตร.เตือน SMS 'หลอกให้กด ลวงให้กรอก'ทำสูญเงิน

ตร.เตือน SMS 'หลอกให้กด ลวงให้กรอก'ทำสูญเงิน

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนประชาชนให้สติ หลังมิจฉาชีพส่งข้อความประเภท 'หลอกให้กด ลวงให้กรอก' ในรูปแบบต่างๆ

20 เม.ย.2564  พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากกลโกงมิจฉาชีพ มีทั้งแจ้งความเอง ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ว่าได้รับข้อความสั้น หรือเอสเอ็มเอส แจ้งผ่านโทรมือถือ แสดงความยินดีว่า เราได้รับเงินจำนวน 100,000-200,000 บาท แอบอ้างส่งมาจากธนาคารต่างๆ บางคนได้รับข้อความแจ้งว่าเงินในบัญชีของท่านถูกถอนออกไปจำนวน 50,000 บาท ถ้าท่านไม่ได้ทำธุรกรรม ขอให้กดลิงก์เพื่อยืนยัน บางรายได้รับข้อความว่าเป็นผู้โชคดีได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรี

ซึ่งข้อความพร้อมลิงก์ต่างๆ เหล่านี้มีการส่งต่อกันในสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงนี้คือการ Phishing หลอกให้กด ลวงให้กรอก (phishing แผลงมาจากคำว่า fishing แปลว่าการตกปลา ซึ่งมีความหมายถึง การปล่อยให้ปลามากินเหยื่อที่ล่อไว้) ซึ่งมีลักษณะเป็นกลอุบายการตลาดของกลุ่มมิจฉาชีพ โดยอาศัยว่าปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟน มีการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย และมีการใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยเฉพาะการเงินการธนาคาร จึงมีการพยายามเข้าถึงพี่น้องประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือ

โดยใช้วิธีการหลอกลวงด้วยการส่งลิงก์ ประกอบกับข้อความในลักษณะต่างๆ ที่สร้างความสนใจ ตกใจ จนต้องกดลิงก์ที่แนบมา เช่น แจกเงินเข้าบัญชี,แจกสติ๊กเกอร์ , แจกวัคซีนโควิด-19 หรือมีข้อความบอกว่าเรากดเงินสำเร็จ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำธุรกรรมใดๆกับธนาคาร ซึ่งหากเรากดลิงก์ดังกล่าวก็จะพาเราไปพบกับสิ่งที่มิจฉาชีพหรือผู้ไม่หวังดีต้องการให้เราไปเจอ เช่น แอพเงินกู้ หรือ เว็บพนัน หากเราสนใจก็จะให้เรากรอกข้อมูลต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ควรทำ เพราะเราอาจถูกเอารัด เอาเปรียบจากผู้ปล่อยเงินกู้ เช่น เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด , ทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย หรือการกู้ยืมเงินในลักษณะฉ้อโกงประชาชนหรือกรณีเว็บพนัน ก็จะพยายามโน้มน้าวให้เหยื่อเข้าไปเล่น มีโปรโมชั่นต่างๆที่เป็นการเย้ายวนให้ร่วมเล่นการพนันออนไลน์จนเสียเงินเสียทองหมดเนื้อหมดตัว

ส่วนคำถามที่ว่า กดลิงก์ครั้งเดียวเงินหมดบัญชี อันนี้ต้องเรียนว่ายาก และอยากให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะแอพพลิเคชั่นของธนาคารหรือสถาบันการเงิน จะมีการป้องกันและพัฒนาการแฮกหรือเข้าถึงระบบโดยมิชอบ เว้นเสียแต่เจ้าของบัญชีถูกหลอกให้กดลิงก์ที่มิจฉาชีพหลอกหรืออาจแชทคุยกับเหยื่อโดยใช้โลโก้ธนาคาร แล้วอ้างว่าบัญชีเงินฝากของท่านมีปัญหา ถูกอายัดบัญชี จากนั้นจะหลอกให้เจ้าของบัญชียืนยันตัวตนโดยให้ กรอกข้อมูลส่วนตัวเช่น เลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด username/password ผ่านลิงค์ปลอม หรือ อาจหลอกให้กรอก OTP (one time password หรือ รหัสใช้ครั้งเดียว) เมื่อเหยื่อหลงกล เชื่อว่าส่งมาจากธนาคารจริงก็จะกรอกข้อมูลดังกล่าว ทำให้มิจฉาชีพ รู้ข้อมูลทุกอย่างจึงสามารถทำธุรกรรมถอนเงินจากบัญชีเราได้จนเงินหมดบัญชี

สำหรับการปราบปรามสืบสวนจับกุมมิจฉาชีพที่ใช้กลอุบายเหล่านี้ว่า ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการเชิงรุกในการสืบสวนจับกุมโดยศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) , ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) ,บช.สอท. , บก.ปอท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลการปฏิบัติอยู่อย่างต่อเนื่อง

รองโฆษก ตร. ยังกล่าวถึงคำแนะนำวิธีการป้องกัน ว่า เมื่อได้รับลิงก์ดังกล่าวข้างต้นขอให้ตั้งสติ อย่าตกใจ อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เห็น ขอให้สังเกต ลิงก์หรือ url จะเป็นชื่อแปลกๆ ไม่ตรงกับสิ่งที่เค้าอ้าง เช่น อ้างว่าเป็นธนาคารหรือหน่วยงานราชการ แต่จะสะกดเป็นข้อความภาษาอังกฤษแปลกๆ และหากได้รับลิงค์เหล่านี้อย่าไปสนใจ อย่าไปกดลิงก์ หรือถ้าเป็นไปได้โทรสอบถามคอล เซ็นเตอร์ของ หน่วยงานนั้นๆ เช่น ธนาคาร อย่าหลงกรอก username/password หรือ otp ผ่านลิงก์ที่ได้รับเหล่านั้นอย่างเด็ดขาด นอกจากนั้นควรตั้งรหัสที่คาดเดาได้ยาก และตั้งค่าการเข้ารหัส 2 ชั้น (2 Factor Authentication)

ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะมีความผิด เป็นไปตามพฤติการณ์ที่มิจฉาชีพหลอกลวง เช่น ฉ้อโกงประชาชน , พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ , พ.ร.บ.การพนันฯ , พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เป็นต้น ซึ่งแต่ละฐานความผิดก็จะมีอัตราโทษที่แตกต่างกันไป