10 ปีสวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี และการหมักผลไม้สร้างจุลินทรีย์ดีๆ(โพรไบโอติก)

10 ปีสวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี และการหมักผลไม้สร้างจุลินทรีย์ดีๆ(โพรไบโอติก)

จากปลูกผักไม่เป็นเลย ปลูกปั้นจนกลายเป็นสวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี แหล่งเรียนรู้สวนผักคนเมือง และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการหมักผลไม้ที่เรียกว่าโพรไบโอติก

ถ้าพูดถึงการปลูกพืชผัก เลี้ยงเป็ด ไก่ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนเมือง แต่สำหรับ ครูอุษา-กัญญ์ณัทพัชร บุณยะโหตระ แม้จะมีพื้นที่แค่คูหาเดียว ย่านห้วยขวาง ไม่เคยปลูกผัก แต่เมื่อลองปลูก ก็ทำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน(กว่า 10 ปี) ทำให้สวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สวนผักคนเมือง

นอกจากทำสวนบนดาดฟ้า ยังเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปจากสวน ทั้งน้ำส้มสายชูหมัก เต้าหู้ นมถั่ว 5 สี กิมจิ ซอสมะเขือเทศ ฯลฯ ,เป็นวิทยากรสอนปลูกผัก และการพึ่งพิงตนเองในเรื่องอาหาร รวมถึงเป็นที่ปรึกษาการปลูกผักและการจัดการขยะเปียกให้โรงแรมแห่งหนึ่ง 

เมื่อคุยกันเรื่องปลูกผักปลอดสารพิษ และสารพัดการพึ่งพิงตนเอง เธอบอกว่า เสียดายพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเมือง ถ้าหน่วยงาน ชุมชน หรือเจ้าของที่ดินในเขตห้วยขวางอยากปลูกผัก เธอยินดีลงมือทำให้ดู และทำด้วย เพราะเชื่อว่า เดี๋ยวก็มีคนทำตาม 

10 ปีสวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี และการหมักผลไม้สร้างจุลินทรีย์ดีๆ(โพรไบโอติก) พื้นที่หน้าบ้านจัดสรรดีๆ ปลูกผักได้

10 ปีสวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี และการหมักผลไม้สร้างจุลินทรีย์ดีๆ(โพรไบโอติก)

(ครูอุษาใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วปลูกผัก เลี้ยงไก่ที่ สวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี)

  • 10 ปีที่ปลูกผักบนดาดฟ้า 

ครูอุษาใช้พื้นที่ดาดฟ้าปลูกผัก ส่วนชั้น 3 ทุบโล่งใช้เลี้ยงเป็ดไก่ 10 ตัว ส่วนชั้นล่างเคยเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กบ้านรังษี รับเลี้ยงเด็กแรกเกิด-6 ขวบ แต่หยุดไป 3 ปี เพราะการระบาดของโควิด

ครูอุษา เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า ตอนนั้นการปลูกผักเป็นเรื่องยากสำหรับคนเมืองอย่างเธอ จนมาเห็นรุ่นพี่ที่ทำก็คิดว่าสบายมาก จึงขอทุนจากโครงการสวนผักคนเมืองปรับปรุงที่ทิ้งขยะบนดาดฟ้า 

"จากปลูกผักไม่เป็นเลย อาศัยว่าเป็นครู ชอบหาข้อมูล จึงค้นเรื่องพืชสวนและการเกษตร จนมีองค์ความรู้และลงมือทำ 

ทางโครงการสวนผักคนเมืองจึงปรับจากคนเรียนรู้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ มีคนมาดูว่า ตึกคูหาเดียวปลูกผักใช้ชีวิตอย่างไร

สินค้าแปรรูปจากพืชผลทางการเกษตร

ดิฉันเรียนมาทางด้านคหกรรมและโภชนาการ จึงให้ความสำคัญสารอาหารในผัก ซื้อผักมาปรุงอาหาร ถึงเวลาก็เฉา เหี่ยว เหลือง แบบนี้ไม่โอเค เมื่อผักถูกตัดแล้ว สารอาหารในผักจะนับถอยหลังไปเรื่อยๆ "

แม้สวนผักจะไม่สวยสะดุดตา แต่ครูอุษาเลือกใช้พื้นที่ทุกตารางให้คุ้มค่า ปลูกผักใบ คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ไม่ปลูกผักสลัด เพราะซื้อหาจากเพื่อนๆ ที่ปลูกขายในตลาดสุขภาพได้ เธอเคยทำสถิติปลูกผักสูงสุด 63 ชนิด ปัจจุบันปลูกประมาณ 30-40 ชนิด 

“ด้านหนึ่งของตัวบ้านติดโรงแรมเล็กๆ เขาใช้ดาดฟ้าทำห้องพักอาศัย เราก็อาศัยฝาผนังทำโครงเหล็กวางกระถางต้นไม้สามชั้น รอบดาดฟ้าสี่ด้านเป็นชั้นวางต้นไม้ ถามว่าชั้นกลาง ชั้นล่าง ต้นไม้จะได้รับแดดไหม

แดดตอนเช้าจะสาดเอียงมาด้านหนึ่งส่องไปถึงต้นไม้ที่วางไว้ ตรงกลางทำเป็นแปลงผัก ด้านบนตีระแนงทำเป็นตาข่ายปลูกไม้เลื้อย ฟัก บวบ และตรงระแนงแขวงกระถางได้อีก”

10 ปีสวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี และการหมักผลไม้สร้างจุลินทรีย์ดีๆ(โพรไบโอติก)

  • ชีวิตเปลี่ยน เพราะพลังผัก

ก่อนจะคุยเรื่องผักๆต่อ ครูอุษา ตั้งคำถามว่า “คุณเชื่อไหม...ดิฉันเคยคิดว่าต้องเก็บเงินไว้ตอนเจ็บป่วย เผื่อโน้นนี่นั่น กระหายที่จะเอาเงินเข้ากระเป๋าไว้ก่อน กระทั่งป่วยเป็นภูมิแพ้ ลำไส้แปรปรวน รักษาตัวหมดเป็นล้าน และไม่หาย 

นอกจากนี้ยังมีอาการเข่าสึก สะบ้าเสื่อม หมอบอกว่า ห้ามนั่งพับเพียบ ห้ามขึ้นบันได เจ็บจนต้องไปโรงพยาบาลและกินยา กระทั่งลงมือปลูกผัก ตากแดด เด็ดผักมาไม่ถึงสิบนาทีลงหม้อต้มกินผักสดๆ มีพลังชีวิต”

หลังจากทำสวนเป็นปีที่สอง อาการป่วยของครูอุษาดีขึ้น ธรรมชาติในสวนและพลังจากอาหารปลอดสารพิษสามารถเยียวยาร่างกายและจิตใจ จากที่คิดว่า ต้องหาเงินเยอะๆ เพื่อรักษาอาการป่วย ก็ต้องคิดใหม่ 

10 ปีสวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี และการหมักผลไม้สร้างจุลินทรีย์ดีๆ(โพรไบโอติก) การหมักผลไม้ ไม่ว่าคอมบูชา ไซเดอร์วานิกา สามารถใช้ผลไม้หลากหลาย

"เคยมีคนจากองค์การสหประชาชาติมาดูวิถีพึ่งตนเองจากครอบครัวเรา ดูว่าทำไมเราไม่ค่อยซื้อของจากภายนอกเข้าบ้าน คนต่างชาติก็ทึ่งว่าครอบครัวเรา ทำได้ยังไง...

ไม่เห็นยากเลย พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เอามะกรูดมาทำแชมพู เอาถั่วเหลืองมาหมักซีอิ๋ว เต้าเจี้ยว เราก็ทำเอง ไม่ซื้อเครื่องปรุงรสในร้านค้า 

นอกจากเป็นวิทยากรสอนปลูกผัก ดิฉันยังเป็นที่ปรึกษาปลูกผักจัดการขยะเศษอาหารให้โรงแรมแห่งหนึ่ง ในห้องอาหารมีขยะเปียกเดือนละสองตันกว่า ต้องทำให้เหลือศูนย์  บ้านดิฉันเองไม่ทิ้งขยะเปียกเลย เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ "

มีคนถามว่า ทั้งทำงาน ปลูกผัก ทำของใช้เองในครัวเรือน ดูแลครอบครัว แล้วเอาเวลาที่ไหนมาทำ... 

ครูอุษา บอกว่า ตื่น 6 โมงเช้าดูแลแปลงผัก 2 ชั่วโมงเท่านั้น กลางวันและเย็นทำงาน หรือไม่ก็ออกไปเป็นวิทยากร ตอนกลางคืนขึ้นไปดูแลสวน และยังมีเวลาทำอาหาร

10 ปีสวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี และการหมักผลไม้สร้างจุลินทรีย์ดีๆ(โพรไบโอติก)

เลี้ยงเป็ด ไก่ บนดาดฟ้า ทำมาหลายรุ่นหลายปีแล้ว 

10 ปีสวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี และการหมักผลไม้สร้างจุลินทรีย์ดีๆ(โพรไบโอติก) อาหารจากพืชผักปลอดสารพิษ สวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี

"บนดาดฟ้าที่ปลูกผัก ถ้าไม่โตจะโดนตัดทิ้งเหมือนประกวดนางงาม เพราะเราอัตคัดเรื่องพื้นที่ ดังนั้นเวลาเราไปเห็นพื้นที่ว่างๆ ข้างถนน ริมฟุตบาท สวนสาธารณะ ก็รู้สึกว่า ทำไมเขาไม่ปลูกพืชกิน  

ทุกบ้านทำปุ๋ยหมักจากขยะเปียกได้ ทำไมทางกทม.ไม่สอนให้ทำจริงจัง บ้านไหนไม่ปลูกต้นไม้ จะนำปุ๋ยมาให้กทม.ใช้ก็ได้ ดิฉันเอง ก็เป็นวิทยากรปลูกผักให้หลายเขต อย่างสวน 15 นาทีก็ไปช่วยให้คำแนะนำเรื่องปลูกพืชผัก"

  • น้ำส้มสายชูหมักทำเองได้

เป็นวิทยากร สอนทำเต้าหู้ ทำสบู่ แชมพู ยาสีฟัน กิมจิ ฯลฯ และน้ำส้มสายชูหมักที่คนรักสุขภาพนิยมดื่ม เนื่องจากครูอุษาร่ำเรียนมาด้านนี้และตอนเด็กๆ ต้องช่วยแม่ทำอาหารหมักๆ ดองๆ 

“เวลาแม่หมักน้ำส้มสับปะรด เราก็ตักมาให้แม่ทำกับข้าว เรื่องน้ำส้มสายชูหมักก็เรียนมา ตอนนั้นไม่รู้ว่าเหมือนแอปเปิ้ลไซเดอร์ที่ทางยุโรปทำขาย กระบวนการทำเหมือนที่แม่เคยทำ

นอกจากใช้แอปเปิ้ลหมัก สามารถใช้กล้วย สับปะรด ขิง หมักได้เหมือนกัน ถ้าใช้สับปะรดหมักก็มีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร ใช้ขิงก็ช่วยขับลม”

10 ปีสวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี และการหมักผลไม้สร้างจุลินทรีย์ดีๆ(โพรไบโอติก) อาหารหมักๆ ดองๆ ที่คนทำใส่ใจต่อผู้บริโภค 

จึงเป็นที่มาของคอร์สสั้นๆ เรื่องเปิดโลกโพรไบโอติก(จุลินทรีย์ตัวดีในอาหาร) รวมถึงกระบวนการหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ ไซเดอร์เวนิกา และคอมบูชา 

“ใช้ผลไม้ น้ำตาลและน้ำมาหมักรวมกัน เพื่อให้เกิดสารสำคัญโพรไบโอติก กระบวนการหมักจะทำให้จุลินทรีย์ในอากาศ แบคทีเรีย และยีสต์มาเอง เพราะในโลกมีทั้งจุลินทรีย์ตัวดีและตัวร้าย

ถ้าจุลินทรีย์กลุ่มไหนมากกว่าก็จะกินอีกกลุ่ม จุลินทรีย์ตัวร้ายไม่ถูกกับน้ำตาล เมื่อมีอาหารให้จุลินทรีย์ตัวดี ผลไม้หมักก็ไม่บูด ”

เธอสรุปกระบวนการหมักที่ทำมานานว่า มี 3 ระยะคือ ซอฟต์ไซเดอร์ ฮาร์ทไซเดอร์ และไซเดอร์ เวนิกา 

10 ปีสวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี และการหมักผลไม้สร้างจุลินทรีย์ดีๆ(โพรไบโอติก) กรรมวิธีทำอาหารหมักๆ ดองๆ เป็นภูมิปัญญาไทย 

"ถ้าหมักเป็นเวลา 0-7 วัน จะเป็นซอฟต์ไซเดอร์ มีแอลกอฮอล์ประมาณ 0.5 เปอร์เซ็นต์ รสหวาน ซ่า ไม่เปรี้ยว น้ำตาลก็จะเป็นกลูโคส และซูโครสบ้าง

ถ้าหมัก 7-20 วันเป็นฮาร์ทไซเดอร์ ช่วงนี้เป็นไซเดอร์ที่อร่อยที่สุด น้ำตาลทั้งหมดเปลี่ยนเป็นกลูโคส มีแอลกอฮอล์มากขี้น เปรี้ยวนิดๆ เรียกว่าคอมบูชา ดื่มช่วงนี้ มีทั้งความหวาน เปรี้ยว และซ่า

หมักขั้นตอนสุดท้ายความหวาน ความซ่า และแอลกอฮอล์หายหมด ก็คือ ไซเดอร์วานิกา ทั้งหมดเปลี่ยนเป็นกรดอะซิติก(Aceticacid) หรือกรดน้ำส้ม เป็นกรดอินทรีย์ (Organic acid) นี่คือกระบวนการเดียวกัน"

เหล่านี้คือ ส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าเล็กๆน้อยๆจากครูอุษา

............

ภาพเฟซบุ๊ก : สวนผักดาดฟ้า บ้านรังษี by ครูอุษา