'เราชนะ' ล่าสุด! ครม.ไฟเขียวขยายใช้จ่ายอีก 1 เดือน เพิ่มเงินในโครงการอีก 3,000 ล้าน รับผู้ลงทะเบียนเกินเป้า

'เราชนะ' ล่าสุด! ครม.ไฟเขียวขยายใช้จ่ายอีก 1 เดือน เพิ่มเงินในโครงการอีก 3,000 ล้าน รับผู้ลงทะเบียนเกินเป้า

ครม.ไฟเขียวขยายใช้จ่าย 'เราชนะ' อีก 1 เดือน สิ้นสุดเดือน มิ.ย.นี้ เพิ่มเงินในโครงการอีก 3,000 ล้าน รับผู้ลงทะเบียนเกินเป้า เพิ่มเป็น 33.5 ล้านคน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (20 เม.ย.)  มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังให้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ "เราชนะ" โดยขยายระยะเวลาใช้วงเงินสนับสนุนสำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการฯ จาก สามารถใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม2564 เป็นใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2564

นอกจากนี้เห็นชอบให้ ขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของโครงการฯ จาก กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน กรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท เป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 33.5  ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคน กรอบวงเงินไม่เกิน 243,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

โดยให้กรมปัญชีกลางอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตามที่ผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการฯได้ใช้จ่ายจริง เป็นรายวัน โดยวิธีการเบิกจ่ายเงินแทนกัน และกรณีที่กรมบัญชีกลางโอนเงินให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า บริการไม่สำเร็จ ให้ดำเนินการติดตามเพื่อโอนเงินซ้ำภายในวันที่ 24 กันยายน 2564

161889676980

ก่อนหน้านี้นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่าปัจจุบันวงเงินที่เหลืออยู่และสามารถใช้จ่ายเยียวยาประชาชนจากผลกระทบจากโควิด-19 เหลืออยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.เงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท 2.งบกลางในปี 2564 ซึ่งเดิมมีการตั้งงบกลางฯไว้ในวงเงิน 1.39 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบกลางรายการสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 9.9 หมื่นล้านบาท และงบกลางฯในส่วนโควิด-19 4 หมื่นล้านบาท 

ปัจจุบันงบกลางรายการสำรองจ่ายฯได้ใช้ไปแล้วประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท คงเหลือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และอีกส่วนคืองบกลางฯโควิด -19 คงเหลือ 2 ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดย 2 หมื่นล้านบาทที่ใช้ไปรัฐบาลนำไปใช้มัดจำวัคซีน และอีกส่วนไปเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมแล้วงบกลางฯที่คงเหลือทั้ง 2 ส่วนซึ่งสามารถใช้ได้อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท 

“จากงบกลางฯที่เหลือประมาณ 1 แสนล้านบาท วงเงินที่จะใช้ได้ในการนำไปเยียวยาโควิด-19 ให้กับประชาชนคงอยู่ที่ประมาณ 5 - 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสำนักงบฯต้องขอกันงบกลางบางส่วนไว้รองรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากภัยแล้ง น้ำท่วม หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆประมาณ 4 - 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นโดยรวมแล้วเมื่อดูจากเงินกู้และงบกลางฯที่ใช้ในการเยียวยาประชาชนได้จะอยู่ที่ประมาณ  2.5-2.6 แสนล้านบาท” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว