ระวัง! 5 โรคที่มากับ ‘หน้าร้อน’ น่ากลัวไม่แพ้ ‘โควิด-19’

ระวัง! 5 โรคที่มากับ ‘หน้าร้อน’ น่ากลัวไม่แพ้ ‘โควิด-19’

เช็คลิสต์ 5 โรคที่มักเกิดขึ้นบ่อยช่วง "หน้าร้อน" มีความรุนแรงและอันตรายไม่แพ้ "โควิด-19" เพื่อเป็นการป้องกันตนเองไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย และเพิ่มภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์ มารู้อาการทั้ง 5 โรคได้ที่นี่

การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอก 3 วันนี้แพร่กระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น ไม่เว้นบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งกลุ่มบุคลากรฯ บางส่วนก็ติดเชื้อโควิด-19 ตามไปด้วย โดยในวันนี้ (19 เม.) มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้วจำนวน 146 ราย ส่งผลให้หลายโรงพยาบาลงดรับผู้ป่วยนอกในบางแผนก รวมถึงขอความร่วมมืองดเข้าโรงพยาบาลในกรณีที่ไม่จำเป็น 

การกลับมาของโควิด-19 ระลอกนี้ เกิดขึ้นในเดือนเมษายน ซึ่งถือว่าเป็นการเข้า "หน้าร้อน" อย่างเป็นทางการในประเทศไทย และแน่นอนว่าโรคภัยที่มักมากับ "หน้าร้อน" ก็ไม่ได้หายไปไหน เพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยในช่วงที่ หมอ และ พยาบาล ยังคงหัวหมุนกับโควิด-19 กรุงเทพธุรกิจนำเสนอข้อมูล 5 โรคที่มักเกิดขึ้นหน้าร้อน และอันตรายไม่แพ้ "โควิด-19"  เพื่อให้ผู้อ่านได้ป้องกันตนเองอย่างปลอดภัย

161882967660

  • โรคฮีทสโตรก

เดือนเมษายนนี้ถือว่าเป็นเดือนพีคที่พระอาทิตย์เข้าใกล้ไทยได้มากที่สุด ทำให้กลายเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ภัยเงียบที่มากับหน้าร้อนในทุกๆ ปี คือ โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ซึ่งโรคนี้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และมีอันตรายถึงแก่ชีวิต 

โรคฮีทสโตรก เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

สำหรับอาการที่เบื้องต้นได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หน้ามืด ระยะถัดมาอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รูขุมขนจะปิดจนไม่สามารถระบายเหงื่อได้ บางรายอาจถึงขั้นชักกระตุกและหมดสติ มีไข้สูง ตัวร้อนมาก ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและถึงแก่ชีวิตได้

เมื่อเจอผู้ประสบเหตุเป็นลมกลางแดด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดย การนำตัวเข้ามาในที่ร่ม จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวและศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด หากยังไม่ฟื้น ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

161882969244

  • โรคอุจจาระร่วง 

โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ เข้าไป เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ เป็นต้น อาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย โดยอาการมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงอาการรุนแรง เกิดอาการช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ 

โดยอาการของโรคจะมีอาการถ่ายเหลว 3 ครั้งขึ้นไป คลื่นไส้ อาเจียนบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว และกระหายน้ำมากกว่าปกติ หากมีอาการมากกว่า 2 วัน มีไข้สูง หรือมีอาการปวดท้องรุนแรงควรรีบเข้าพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นโรคเรื้อรัง และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ตามมาได้

โดยอาการอุจจาระร่วงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • อุจจาระร่วงเฉียบพลัน มีอาการอุจจาระร่วงน้อยกว่า 7 วัน มักเกิดจากโรคทางกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเนื่องจากการติดเชื้อไวรัส
  • อุจจาระร่วงเรื้อรัง อาการท้องเสียที่เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น  โรคลำไส้อักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ เป็นต้น

ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะสามารถหายเองได้ภายใน 6 วัน ควรดื่มน้ำให้มาก และดื่มเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำที่เสียออกไปจากร่างกาย โดยการละลายผง ORS (Oral Rehydration Salts) ในน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้ให้เย็นแล้ว และคอยสังเกตดูสีปัสสาวะ หากมีสีเข้มแสดงว่ายังได้น้ำไม่เพียงพอควรพยายามดื่มน้ำเกลือแร่เพิ่มขึ้นอีก แต่หากมีอาการรุนแรง โดยเกิดภาวะช็อก หรือหมดสติควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที

 

161882971097

  • โรคบิด 

โรคบิด เป็นอาการติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินอาหารของลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือโปรโตซัวที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ร่วมกับการ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ มีอาการเหมือนถ่ายไม่สุด ในเด็กอาจพบอาการชักร่วมด้วย 

โดยผู้ป่วยที่อาการชัดเจนจะถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากการแตกของฝีขนาดเล็กๆ ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย โดยทั่วไปโรคบิดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ 

โรคบิดชนิดไม่มีตัว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มซิเกลลา (Shigella) สามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี 

โรคบิดชนิดมีตัว เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว (โปรโตซัว) ที่ชื่อว่า อะมีบา (Ameba) มักพบการติดเชื้อได้ในพื้นที่ร้อนชื้น ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคบิดในหลายพื้นที่เนื่องจากการสุขาภิบาลด้านอาหารและน้ำดื่มที่ไม่ดีพอ ทั้งนี้โรคบิดเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากรักษาได้อย่างทันท่วงทีและได้รับการชดเชยภาวะขาดน้ำควบคู่กับการให้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม

โรคบิดสามารถป้องกันได้หลายวิธีได้แก่

1.การล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนการปรุงอาหารและก่อนรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ

2.ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผ่านเครื่องกรองน้ำที่ได้มาตรฐาน ไม่ดื่มน้ำคลองหรือน้ำบ่อแบบดิบๆ และไม่รับประทานน้ำแข็งที่เตรียมไม่สะอาด

3.รับประทานอาหารปรุงสุกในขณะที่ยังร้อนอยู่ หากซื้ออาหารบรรจุสำเร็จควรอุ่นอาหารให้ร้อนจัดก่อนการรับประทานทุกครั้ง

4.เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น นมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ผักและผลไม้ควรล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างทั่วถึง

5.เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลงวัน หนู หรือสัตว์อื่นๆ

6.ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันโรค

7.ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายลงคลองหรือตามพื้นดิน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค

8.ทิ้งขยะในถังขยะที่มีฝาปิด และกำจัดขยะอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ควรดูแลรักษาสุขภาพและรับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและมีอนามัยที่ดีอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

161882976682

  • อหิวาตกโรค 

อหิวาตกโรค คือ โรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานเข้าไป เชื้อจะไปอยู่บริเวณลำไส้ และจะสร้างพิษออกมา ทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ทำให้เกิดอาการท้องเดินอย่างมาก อุจจาระเป็นสีน้ำซาวข้าว ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว และ รุนแรง อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ที่ได้รับเชื้อ จะเกิดอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมง ถึง 5 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดอาการภายใน 1 - 2 วัน 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการท้องเสีย
        1. งดอาหารที่มีรสจัดหรือเผ็ดร้อน หรือ ของหมักดอง
        2. ดื่มน้ำชาแก่แทนน้ำ บางรายต้องงดอาหารชั่วคราว เพื่อลดการระคายเคืองในลำไส้
        3. ดื่มน้ำเกลือผง สลับกับน้ำต้มสุก ถ้าเป็นเด็กเล็กควรปรึกษาแพทย์
        4. ถ้าท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบนำส่งแพทย์ด่วน

การป้องกัน
       1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างสะอาด ทุกครั้งก่อนใช้ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง สุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม
       2. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร และหลังเข้าส้วม
       3. ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรื่ยราด ต้องถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และกำจัดสิ่งปฏิกูลโดยการเผาหรือฝังดิน เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค
       4. ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง
       5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค

  •  ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 

เกิดจากเชื้อไทฟอยด์ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้โดยรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ

อาการสำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องผูกหรือบางรายอาจมีอาการท้องเสียได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เรื้อรังหรือพาหะนำโรคจะมีเชื้อปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็นครั้งคราว ถ้ามีสุขนิสัยไม่ถูกต้อง เมื่อไปประกอบอาหารจะสามารถแพร่เชื้อไทฟอยด์ไปสู่ผู้อื่นได้  

คำแนะนำในการป้องกันทั้ง 5 โรค มีดังนี้

1.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

2.รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้เย็นหรือเก็บมิดชิด และต้องอุ่นก่อนรับประทาน

3.ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้รับการรับรองจาก อย.

4.กำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลรอบๆ บ้าน และถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

-----------------------------

ที่มา : 

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

กรมการแพทย์

กระทรวงสาธารณสุข

โรงพยาบาลจุฬารัตน์แอร์พอร์ต