หุ้น IPO คืออะไร ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะซื้อได้?

หุ้น IPO คืออะไร ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะซื้อได้?

ตอบคำถามนักลงทุนมือใหม่ หุ้น IPO คืออะไร ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะซื้อได้ พร้อมเปิดข้อมูลย้อนหลัง หุ้นใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ทำกำไรทุกตัวจริงหรือไม่?

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างได้สัมผัสประสบการณ์จองซื้อ "หุ้น IPO" เป็นครั้งแรก หลังจากหุ้นมหาชนอย่าง OR เปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อ และกระจายหุ้นด้วยวิธีการที่เรียกว่า "Small Lot First" หรือให้สิทธิคนที่จองซื้อขั้นต่ำก่อน แตกต่างจากหุ้น IPO ในอดีตที่จะกระจายให้นักลงทุนรายย่อยผ่านบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย (Underwriter)

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ อาจมีข้อสงสัย เช่น หุ้น IPO คืออะไร? ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะซื้อได้? ต้องไปซื้อที่ไหน? หรือ ซื้อแล้วจะได้กำไรเลยหรือไม่? ฯลฯ ซึ่งวันนี้เราจะมาทยอยหาคำตอบไปพร้อมกันทีละข้อ

1. หุ้น IPO คืออะไร?

หุ้น IPO ย่อมาจาก Initial Public Offering หรือภาษาไทยที่เรามักจะเห็นในข่าว คือ การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยการขาย IPO เป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนสำหรับธุรกิจ นอกเหนือจากการกู้ยืมเงินจากธนาคาร ขณะที่นักลงทุนจะได้หุ้นของบริษัทเป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำผ่านโบรกเกอร์ที่เป็น Underwriter

โดยระหว่างช่วงเวลาที่เปิดให้จองซื้อ IPO หุ้นของบริษัทเหล่านั้นจะยังไม่ได้เข้าซื้อขายในตลาดรอง หรือตลาดหุ้นที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือทันที แต่ภายหลังกระบวนการจองซื้อและกระจายหุ้นแล้วเสร็จ บริษัทจึงจะกำหนดวันเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นวันแรก (1st Day Trade) ต่อไป

2. ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะจองซื้อหุ้น IPO ได้?

ต้องเท้าความกลับไปก่อนว่า เดิมทีบริษัทหลักทรัพย์มักจะเสนอขายหุ้น IPO ให้กับลูกค้ารายย่อยที่มีขนาดพอร์ตการลงทุนค่อนข้างใหญ่ก่อน แล้วจึงจะเสนอขายให้ลูกค้ารายย่อยที่มีขนาดพอร์ตการลงทุนที่ย่อมลงมา ส่งผลให้การกระจายหุ้นค่อนข้างจำกัด และทำให้นักลงทุนหลายท่านไม่เคยมีประสบการณ์จองซื้อหุ้น IPO

ส่วนกรณีหุ้น OR หรือ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ใช้วิธี Small Lot First ในการกระจายหุ้น โดยกำหนดขั้นต่ำของการจองซื้อไว้ที่ 300 หุ้น ราคา 18.00 บาทต่อหุ้น หรือใช้เงินเพียง 5,400 บาทก็สามารถจองซื้อหุ้นได้ อีกทั้งยังเปิดให้จองซื้อผ่านทั้งสาขา เว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นของธนาคาร ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถเข้าถึงการจองซื้อหุ้นได้เหมือนๆ กัน

ขณะที่หุ้น IPO ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อหุ้น OR ได้แก่ บมจ.ที คิว อาร์ (TQR), บมจ.โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล (KISS) และ บมจ.เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ (PACO) ใช้วิธีการกระจายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยทั่วไปไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นเหมือนกันทุกคน

แต่ล่าสุด บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) หุ้น IPO ที่เตรียมเข้าเทรดในวันที่ 10 พ.ค.นี้ จะเปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยจองซื้อเป็นการทั่วไประหว่างวันที่ 22-26 เม.ย. ด้วยวิธีการกระจายหุ้นแบบ Small Lot First เช่นเดียวกันกับหุ้น OR โดยกำหนดขั้นต่ำ 1,000 หุ้น ที่ราคา 36.50 บาทต่อหุ้น หรือใช้เงิน 36,500 บาท สำหรับการจองซื้อครั้งนี้

ดังนั้น การจองซื้อหุ้น IPO ในแต่ละครั้งจะใช้เงินไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนการจองซื้อขั้นต่ำที่แต่ละบริษัทกำหนด อีกทั้งขึ้นอยู่กับวิธีการกระจายหุ้น หากบริษัทเลือกกระจายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ นักลงทุนที่ไม่ใช่ลูกค้าก็อาจไม่ได้รับสิทธิการจองซื้อหุ้น

3. ซื้อหุ้น IPO แล้วจะได้กำไรเลยหรือไม่?

เป็นคำถามสำคัญที่นักลงทุนหลายคนสงสัย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้น IPO ที่เราจองซื้อจะกำไร หรือราคาหุ้นจะสูงขึ้นในวันแรกที่เข้าเทรด คำตอบคือ ไม่มีใครรู้ เพราะการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท การกำหนดราคา และภาวะตลาด

แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจะดี และมีการกำหนดราคาหุ้นอย่างเหมาะสม แต่หากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย หรือได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงลบที่ควบคุมไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก เป็นต้น ก็อาจส่งผลกดดันต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นได้เช่นกัน

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า หุ้นที่ระดมทุน IPO ในช่วงต้นปี 2564 (1 ม.ค.-17 เม.ย.) จำนวน 5 บริษัท มีราคาเปิดการซื้อขาย (Open Price) สูงกว่าราคาจองซื้อ (IPO Price) ทั้งหมด ขณะที่ในปี 2563 หุ้น IPO รวมทั้งสิ้น 26 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรีท) ราคาเปิดการซื้อขายสูงกว่าราคา IPO 22 บริษัท โดยมี 2 บริษัทที่ราคาเปิดการซื้อขายต่ำกว่าราคาจองซื้อ และอีก 2 บริษัทที่ราคาเปิดการซื้อขายเท่ากับราคาจองซื้อ