เปิด!ต้นตอ รพ.เอกชน ไม่รับตรวจโควิด

เปิด!ต้นตอ รพ.เอกชน ไม่รับตรวจโควิด

เปิดสาเหตุ รพ.เอกชน ไม่รับตรวจโควิด 19 ไม่ใช่น้ำยาไม่พอ แต่กลัวว่าเตียงจะไม่พอ เหตุตรวจวันละ 2 หมื่นคน ขณะที่ภาครัฐ เร่งตั้งฮอสพิเทลรองรับ คาดได้ไม่ต่ำกว่า 1 พันเตียง

จากกรณีการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้พบผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้เดินทางไปตรวจคัดกรองโควิด จำนวนมาก รพ.เอกชนหลายแห่ง เริ่มทำการปิดให้บริการตรวจโควิด 19 ทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่าประเทศไทยเกิดวิกฤติขาดแคนน้ำยาตรวจหรือไม่

วันนี้ (9 เมษายน 2564) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยถึงกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งประกาศไม่รับตรวจโควิด-19 ว่า ตามปกติหากโรงพยาบาลไหนรับตรวจโควิด-19 มีข้อตกลงว่าโรงพยาบาลที่รับตรวจจะต้องรับคนไข้ที่มาตรวจไว้ แต่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อหลายร้อยคนต่อวันทำให้เตียงเต็ม ได้นำเรื่องมาปรึกษากับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งทางกรุงเทพมหานครและกองทัพบกก็จะเปิดโรงพยาบาลสนาม โดยในช่วงบ่ายทั้งสองหน่วยงานจะประชุมร่วมกัน

นอกจากนี้ โรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จำนวน 470 เตียง ก็จะเปิดรับในวันอาทิตย์ที่ 11 เมษายนนี้ หากกองทัพบก กองทัพเรือ และกรุงเทพมหานครเข้ามาช่วยก็จะได้ประมาณ 3,000 เตียง น่าจะมีจำนวนที่เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อยังอยู่ในกรุงเทพมหานคร

  • "รพ.เอกชนไม่รับตรวจโควิด" คือ วิกฤติ หรือไม่

กรณีที่ รพ.เอกชนไม่รับตรวจโควิด 19 ทำให้ประชาชนมองภาพรวมว่าสถานการณ์วิกฤติหรือไม่ นพ.เฉลิม กล่าวว่า ยอมรับว่าการระบาดในช่วงนี้อันตราย มีอัตราการติดเชื้อสูง เพราะเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ถ้าเป็นไปอย่างนี้และมีการจัดการเรื่องเตียงได้ไม่ดี คนไข้อาจจะต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งก็ไม่ดี เพราะอาจจะทำให้ติดคนที่บ้านได้ ขณะนี้คนที่ติดอาจจะเป็นคนที่แข็งแรง และอาจจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์หากไม่กักตัวให้ดี

“ประเด็นหลักคือ โรงพยาบาลไม่มีเตียงผู้ป่วยรองรับกรณีหากตรวจแล้วพบเชื้อ ไม่ใช่เรื่องการขาดแคลนน้ำยาตรวจเชื้อ เท่าที่ทราบทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนขณะนี้มีการตรวจวันละเกือบ 20,000 คน”

  • ย้ำไม่ใช่เรื่องขาดแคลนน้ำยาตรวจ

นพ.เฉลิม กล่าวต่อไปว่า ประเด็นหลัก คือ โรงพยาบาลไม่มีเตียงผู้ป่วยรองรับกรณีหากตรวจแล้วพบเชื้อ ไม่ใช่เรื่องการขาดแคลนน้ำยาตรวจเชื้อ เท่าที่ทราบทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ขณะนี้มีการตรวจวันละเกือบ 20,000 คน และ ไม่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ แต่ประเด็น คือ ติดเชื้อเยอะบางที่มากกว่า 10% ถือว่าสูงมากและไม่มีเตียงรับ ถ้าหยุดการบริการเตียงก็จะโล่งแล้วค่อยมาเปิดใหม่

ขณะที่ การขอความร่วมมือผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและยังไม่แสดงอาการไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนามเพื่อให้เตียงในโรงพยาบาลเพียงพอหรือไม่นั้น “นพ.เฉลิม” กล่าวว่า คงเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ การติดเชื้อครั้งนี้ต่างจากครั้งที่แล้ว เพราะในกรุงเทพฯ หากเห็นว่าไปกักตัวอยู่ในสถานที่รวม อาจจะไม่อยากไป เพราะบางคนมีกำลังจ่าย

“ดังนั้น หากถ้ามีอาการเบา ควรไปโรงพยาบาลสนาม หากอาการหนักให้มาที่โรงพยาบาล และ 80% ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อังกฤษไม่ค่อยแสดงอาการ จึงอยากให้เตรียมสถานที่ในโรงพยาบาลไว้สำหรับเคสหนักมากกว่า” นพ.เฉลิม กล่าว

สำหรับ แผนการจัดหาวัคซีน นพ.เฉลิม ระบุว่า โรงพยาบาลเอกชนเห็นตรงกันว่า อยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนวัคซีนให้มากขึ้น และนำเข้ามาเพื่อขายให้กับเอกชน เพราะขณะนี้ ยังขาดแคลนวัคซีน โดยวัคซีนที่เข้ามาขณะนี้มีวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส และซิโนแวค อีก 2 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชนได้ 31 ล้านคน แต่ทั้งหมดต้องฉีดประมาณ 40 ล้านคน โดยวัคซีนทางเลือก ทางองค์การเภสัชกรรมสามารถนำเข้ามาได้ง่ายที่สุด เพราะผู้ผลิตจะขายตรงให้กับรัฐบาลได้มากกว่าเอกชน

  • นายกฯ เร่งขยายศักยภาพ รพ.ในกทม.

ด้าน “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) ระบุว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ. ศอ. ได้ขอเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาประชุมในเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเกิดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1.ตอนนี้โรงพยาบาลเอกชนไม่รับตรวจเชื้อ เพราะน้ำยาหมดจริงหรือไม่ ซึ่งพบว่าน้ำยายังไม่หมดยังมีอยู่

โดยนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเป็นตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เข้ามาประชุมด้วย พบว่า น้ำยายังพอมีแต่เกณฑ์เดิม คือ หาก รพ.ใดตรวจพบต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นจะปล่อยให้เดินออกไปไม่ได้ แต่เตียงรพ.เอกชนก็เต็มแล้วเกินศักยภาพแล้ว จึงไม่สามารถที่จะรับตรวจต่อได้ ก็ต้องแจ้งว่าไม่สามารถตรวจเชื้อต่อได้ ทั้งนี้ โรงพยาบาลเอกชนบอกว่ายินดีที่จะตรวจให้ แต่เตียงไม่พอรองรับ

นายกฯ จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน ทั้งนี้ สิ่งที่ กทม.รายงานว่า 1.สามารถขยายศักยภาพของโรงพยาบาลกทม.ได้ถึงประมาณ 5,000 กว่าเตียง 2.การเพิ่มการรักษาในโรงแรมที่มีจำนวนห้องที่ว่างทำเป็นฮอสพิเทลให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยเข้ารับการดูแลในโรงแรมภายใต้การควบคุมของสถานพยาบาลได้จำนวนหนึ่ง และ 3.โรงพยาบาลสนาม ซึ่งก็มีพื้นที่บางขุนเทียนบางกอกอารีน่า พื้นที่กว้างสามารถจัดเตรียมการได้

  • รพ.เอกชน เตียงว่าง 293 เตียง

ด้าน “นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ว่า กรมการแพทย์เป็นเจ้าภาพทำงานเรื่องนี้กับเครือข่ายต่างๆ มากว่า 1 ปี ทั้งกทม. เหล่าทัพ โรงเรียนแพทย์และรพ.เอกชน ซึ่งในการระบาดระลอกแรก ในพื้นที่กทม.มีเตียงประมาณ 2,000 เตียง เป็นเตียงรพ.เอกชน 82 แห่ง จำนวน 1,650 เตียง คิดเป็น 65.4% โดยระลอกแรก รพ.เอกชน รับผู้ติดเชื้อราว 40%

"ส่วนการสำรวจล่าสุดเมื่อเวลา 20.00น. วันที่ 8 เม.ย.2564 พบว่า รพ.เอกชนในพื้นที่กทม.และปริมณฑลมีเตียงทั้งหมด 717 เตียง และยังว่างอีก 293 เตียง แต่ปัญหาเกิดเนื่องจากรพ.เอกชนบางเครือข่ายเตียงค่อนข้างล้น แต่บางเครือข่ายรพ.เอกชนเตียงยังว่าง จึงอยากขอความร่วมมือ รพ.เอกชน ในการประสานระหว่างกัน เพื่อรับการส่งต่อผู้ติดเชื้อจากต่างเครือข่ายรพ.เอกชนด้วย จะทำให้คนไทยมีเตียงเพียงพอที่จะได้รับการดูแล" นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แนวคิดการบริหารจัดการเตียงที่ใช้ร่วมกันมากว่า 1 ปี คือ 1.เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องให้ผู้ติดโควิด 19 ทุกราย ได้รับการรักษาในรพ. 2.รพ.ที่ตรวจหาเชื้อและพบผู้ติดเชื้อต้องรับผู้ติดเชื้อนั้นเข้ารับการรักษาหรือต้องประสานในเครือข่ายของรพ.เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในรพ.ทุกราย และ 3.รพ.เอกชนที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ ควรประสานภายในเครือข่ายรพ.เอกชนด้วยกัน เพื่อรับผู้ป่วยไว้ในรพ.

ส่วนรพ.รัฐนั้นจะรับผู้ป่วยในกรณีที่มาตรวจหาเชื้อในรพ.รัฐ รวมถึงรับผู้ป่วยทั้งหมดที่ตรวจพบติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นจากกรณีตลาดบางแค หรือ ผับบาร์ สถานบันเทิง จะเป็นการรับผู้ป่วยไว้ในรพ.รัฐทั้งหมดอยู่แล้ว ไม่ได้รบกวน รพ.เอกชน

  • จัดหาฮอสพิเทล 1,000 เตียง

สำหรับการเตรียมการบริหารจัดการเตียง กรณีที่รพ.เอกชนไม่รับผู้ป่วยข้ามเครือข่ายรพ. คือ 1.จัดหาฮอสพิเทล โดยการนำโรงแรมมาทำเป็น รพ.ภายใต้การดูแลของสถานพยาบาล เพื่อรับดูแลผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ มีอาการน้อย และไม่มีโรคแทรกซ้อน ปัจจุบันจัดหาได้แล้ว 800 เตียง และพรัอมเปิดให้บริการในวันที่ 9 เม.ย.นี้ จำนวน 200-300 เตียง และจะจัดหาให้ได้ราว 1,000 เตียง ภายใน 1-2 วัน 2.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เตรียมเปิดรพ.สนาม 450 เตียง ภายในสัปดาห์นี้ 3.กรมการแพทย์จัดเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยกรณีพิเศษ ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี(สบยช.)รับได้ทันที 40 เตียง และ4.หากรพ.เอกชนประสานส่งต่อข้ามเครือข่ายรพ.เอกชนได้ ก็จะมีเตียงเพิ่มอีก 200-300 เตียง

  • รพ.เอกชนเตียงไม่พอ ทำอย่างไร

สำหรับผู้ติดเชื้อที่อาจจะไปตรวจหาเชื้อที่รพ.เอกชนแล้วยังไม่มีเตียงรองรับเข้าดูแล นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ให้โทรประสานที่สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปตรวจหาเชื้ออยากขอให้เข้าปรพเมินความเสี่ยงตัวเองก่อนผ่านแอปฯของรพ.ราชวิถี หากมีความเสี่ยงต่ำอย่าเพิ่งไปเข้ารับการตรวจ เพราะอยากให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเข้ารับการตรวจหาเชื้อก่อนที่รพ.รัฐ ส่วยรพ.เอกชนหากได้เตียงเพิ่มคงกลับมารับการตรวจหาเชื้อต่อไป

  • นายกฯ ให้โควตา 10 ล้านโดส เอกชนนำเข้าวัคซีน

สำหรับในกรณีวัคซีนโควิด-19 โฆษก ศบค. ระบุว่า วัคซีนที่รัฐจัดหาขณะนี้มีราว 63-70ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชาชน 31-35 ล้านคน ซึ่งการจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติรายงานว่า จะต้องให้กับคนไทยราว 40 ล้านคน แสดงว่าจะต้องจัดหาเพิ่มอีกให้อีก 5 ล้านคนหรือ 10 ล้านโดส

ดังนั้น ขอให้เป็นวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชนได้หรือไม่ โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเสนอตัวว่ามีความสามารถกับทางสภาหอการค้าฯที่จะสามารถเชื่อมโยงไปกับภาคเอกชนบริษัทเอกชนทั้งหลาย เพียงขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวก แต่ติดขัดหลายเรื่อง เช่น ที่ผ่านมาผู้ผลิตเจ้าของวัคซีน ต้องการจดหมายรับรองของภาครัฐ หรือให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.) สั่งซื้อให้เพื่อที่จะให้นำเข้ามาโดยตรงแล้วให้ภาคเอกชนขอแบ่งซื้อมา โดยมีหลากหลายรูปแบบ

นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยทั้งสิ้น อยากให้มีการทำยังไงก็ได้ให้มีการใช้โควตาวัคซีนอีก 10 ล้านคน ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมหากมีศักยภาพ และขอให้ภาครัฐสนับสนุนและนำมาสู่การเติมวัคซีนนี้ให้กับประชาชน อาจจะได้เร็วได้ช้าอาจจะมีราคาต้องสูงขึ้น แต่ต้องปลอดภัยต่อประชาชน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า นายกฯ มอบหมายให้ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ โดยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เลขาฯอย. อธิบดีกรมควบคุมโรคและผอ. สถาบันวัคซีน รวมถึง นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เข้าร่วมจัดเป็นคณะกรรมการประชุมปรึกษาหารือ ขอให้ได้ผลภายใน 1 เดือนเพื่อให้ขับเคลื่อนเรื่องของวัคซีนทางเลือก

“โดยตอนนี้ไทยมีขึ้นทะเบียนมี 3 ยี่ห้อคือแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หากมีทางเลือกอื่นๆก็ยังมีไฟเซอร์ ซีโนฟาร์มหรือ สปุตนิกวี ก็ไม่ควรซ้ำกัน เพื่อให้เป็นทางเลือกกระจายความเสี่ยงและผู้ที่มีกำลังซื้อก็ไปติดต่อขอซื้อฉีดวัคซีนเป็นการเฉพาะได้ หากมีความคืบหน้าจะนำเสนอต่อไป”

  • สปสช.ย้ำกลุ่มเสี่ยงตรวจโควิดฟรี รพ.รัฐ เอกชน

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้ำทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย หากเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ฟรีที่ รพ.รัฐและเอกชนทุกแห่ง ค่าตรวจโควิด-19 ตามดุลยพินิจของแพทย์เบิกจ่ายกับ สปสช. ส่วนกรมควบคุมโรครับผิดชอบค่าตรวจแรงงานข้ามชาติ แนะหากเคยเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เคยสัมผัสกับผู้ติดเชื้อและสงสัยว่าจะติดเชื้อ แม้ไม่มีอาการก็อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบมาตรวจแต่เนิ่นๆ แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยให้เพื่อป้องกันควบคุมโรค

สำหรับกลุ่มเสี่ยงตรวจคัดกรองโควิด-19 มีดังนี้

ก.ตามนิยามผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

มีอาการอย่างน้อยหนึ่งอาการต่อไปนี้ คือ ไข้/อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก

ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยง คือ

1) 14 วันก่อนเริ่มป่วย มีประวัติอย่างน้อยหนึ่งอย่างต่อไปนี้

1.สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19

2.ไปในสถานที่ชุมชนหรือสถานที่ที่มีการรวมตัวของกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล สถานบันเทิง หรือขนส่งสาธารณะที่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

3.เดินทางไปยัง/มาจาก/หรืออยู่อาศัย ในประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

  4.ปฏิบัติงานในสถานกักกันโรค

2) แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19

ข.กรณีสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 หรือไปในสถานที่มีการระบาดมา ไม่มีอาการป่วย แต่สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 สามารถไปรับการตรวจคัดกรองได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดย สปสช.ได้ปรับแก้ประกาศให้ครอบคลุมการตรวจคัดกรองโควิด-19 ตามดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งสามารถเบิกจ่ายกับ สปสช.ได้ โดยไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย