ฝ่ายค้าน แถลงดันแก้รธน.'ทั้งฉบับ-รายมาตรา'

ฝ่ายค้าน แถลงดันแก้รธน.'ทั้งฉบับ-รายมาตรา'

ฝ่ายค้าน แถลงจุดยืนดันแก้รธน.คู่ขนาน"ทั้งฉบับ-รายมาตรา" จ่อลุย 4 ภาค ถามความเห็นประชาชนในการแก้ไข รธน.

ที่รัฐสภานายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงข่าวผลการประชุมว่า ในช่วงปิดสมัยประชุมตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. นี้ เป็นต้นไป พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเดินทางไปพบประชาชนใน 4 ภาค ได้แก่ เหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และ ใต้ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ รวมถึงสอบถามความคิดเห็นและความต้องการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560


ทั้งนี้จากการที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ถูกตีตกในที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระ 3 อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องรอกฎหมายประชามติ พรรคร่วมฝ่ายค้านแต่ละพรรคจึงจะไปหารือกันถึงความเห็นร่วมกันที่จะนำเสนอเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

โดยอาจมีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคฝ่ายค้านได้เสนอไปก่อนหน้านี้ มาปรับปรุงให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและความต้องการของประชาชน

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและ เลขานุการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันจุดยืนเดิม โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสร้างปัญหาไม่สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ส่งเสริมการแก้ปัญหาประชาชนและไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ โดยขอเสนอ ให้มี ส.ส.ร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทังฉบับ และแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไข รัฐธรรมนูญ

ส่วนปัจจุบันที่มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานั้นก็สามารถถทำคู่ขนานไปได้ โดยในการแก้ไขมาตราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งในระหว่างการปิดสมัยประชุมจะเดินสายพบประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและยื่นข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยจะดำเนินการให้เสร็จก่อนการเปิดสมัยประชุมสมัยหน้า

ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวว่า กรณีที่มีความกังวลว่าหากเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วจะถูกคว่ำอีกหรือไม่นั้น สาเหตุที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในครั้งที่แล้ว เพราะต้องทำประชามติถามประชาชน ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะมีการยื่นร่างแก้ไขทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการ และพรรคร่วมฝ่ายค้านจะสอบถามความต้องการจากประชาชน หากต้องมีการทำประชามติก็จะให้สภาส่งเรื่องไปยัง ครม. เพื่อขอทำประชามติต่อไป ซึ่งเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นใครหรือแม้กระทั้ง ส.ว. ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้